‘วิโรจน์’ ขอเวลา 2-3 วัน รื้อเอกสารตึก สตง.

2 เม.ย. 2568 - 05:39

  • ‘วิโรจน์’ ขอเวลา 2-3 วัน รื้อเอกสารตึก สตง. ยันต้องทำเป็น ‘คดีพิเศษ’ เหตุเกินอำนาจตำรวจสาวได้ คาใจฟอกเงินหรือไม่

  • ชี้ ราคาที่เสนอ ‘ถูก’ แบบผิดปกติ แบบที่กิจการสุจริตไม่สามารถทำได้ ต้องรีบตรวจสอบ เผยตอนนี้ ‘มาเฟียข้ามชาติ’ ติดสินบนจนท.รัฐ

  • แนะ ผู้ว่าสตง.ต้องรับเสียงสะท้อนจากหน่วยงานราชการด้วยกัน ลั่น เงินที่ท่านใช้ ไม่ใช่คือเงินของประชาชน

wiroj_2apr25_SPACEBAR_Hero_27c9ac84d1.jpg

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะทำงานช่วยเหตุภัยพิบัติพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ว่า มีหลายคนตั้งข้อสังเกตถึงขอบเขตงานประมูล การจัดซื้อจัดจ้างว่าถูกต้องตามระเบียบหรือสมเหตุสมผลหรือไม่ บริษัทที่ชนะการประมูลมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นเป็นอย่างไร มีการนำเอานอมินีที่เป็นคนไทยเข้ามาถือหุ้น โดยที่ไม่มีบทบาททางการบริหารใดๆ หรือไม่ ซึ่งพอโยงใยเข้าไป มีข้อสังเกตว่า น่าจะเกี่ยวพันกับหลายเรื่อง หลายคนเชื่อมโยงกับนายทหารระดับสูง ยศพลเอก ที่กระทำอัตวินิบาตกรรมไปเมื่อ 3 ปีก่อนว่า อาจจะมีความโยงใย เกี่ยวพันกับบริษัทนี้ หรือบริษัทร่วมค้ากับบริษัทนี้ ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ความจริงแล้วมีบริษัทที่น่าเชื่อถือและมีประสบการณ์ในการสร้างอาคารสูง แต่กลับไม่ชนะการประมูล เหตุใดบริษัทนี้ จึงชนะการประมูล โดยการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดจะเรียกว่ารื้อค้นเอกสารกันเลย เพื่อตรวจสอบในเชิงลึกแน่นอน

วิโรจน์ กล่าวว่า สำหรับข้อมูลที่ได้มาเบื้องต้นหากเราพูดถึง สตง. ก็ต้องพูดถึง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่เป็นนายทหารระดับสูง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเกี่ยวดองหนองยุ่งกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด และจะต้องให้ความเป็นธรรม เพราะมีบริษัทนายทหารระดับสูงบางคนเข้าไปเกี่ยวดองหนองยุ่งกับบริษัทร่วมค้ารายนี้ ซึ่งก็ต้องไปตรวจว่า มีความเกี่ยวข้องในทางสุจริตหรือไม่ อย่างไร เพราะในส่วนนี้มีข้อสงสัยเยอะมาก

วิโรจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากตัวบริษัทตัวผู้ถือหุ้น การประกวดราคา ทีโออาร์ การควบคุมงานก่อสร้าง และที่สำคัญคือมูลค่าสุทธิที่ประเทศไทยจะได้จากการก่อสร้างก่อสร้างอาคารแห่งนี้เป็นเท่าไหร่กันแน่ เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทที่เข้ามาประมูล ไม่ใช่แค่บริษัทนี้ แต่เป็นบริษัทที่เรียกว่า บริษัทจีนเทาที่เข้ามายึดกิจการภายในประเทศ ถ้าชนะการประมูลหรือได้งาน วัสดุจะมีการนำเข้ามาทั้งหมด

“เราได้เพียงค่าแรงและค่าปูน เม็ดเงินที่กระจายอยู่ในเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์เป็นแค่เศษเนื้อข้างเขียง หรือเป็นแค่เศษเสี้ยวเท่านั้นเอง เท่ากับว่าถ้าเรายิ่งปล่อยปะละเลยให้เป็นเช่นนี้ จะยิ่งเป็นการทำลายเศรษฐกิจไทย และเป็นบ่อนทำลายผู้ประกอบกิจการคนไทย ที่ประกอบกิจการโดยสุจริต”

วิโรจน์ กล่าว

วิโรจน์ กล่าวอีกว่า บางครั้งต้องสืบต่อไปด้วยว่า ราคาประมูลที่ต่ำขนาดนี้ เป็นเพราะศักยภาพในการนำเข้าวัสดุราคาถูก ต้องตรวจสอบว่า มีคุณภาพหรือไม่ ถ้าหากคิดตามหลักบัญชี ถ้าราคาที่เสนอถูกแบบผิดปกติ แบบที่กิจการสุจริตไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งตรงนี้ต้องตรวจสอบก่อน ยังไม่ชี้ชัด แต่หากเป็นเช่นนี้ จะต้องเดินไปสู่เรื่องของการฟอกเงินด้วย เพราะตอนนี้เราพบว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงมากในประเทศ คือมีมาเฟียข้ามชาติ ผู้มีอิทธิพลข้ามชาติ สุมหัวแล้วติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง โดยนำเงินสกปรกที่ได้มาจากยาเสพติด คอลเซ็นเตอร์ หรือพนันออนไลน์ จากกิจการทุจริตใดๆ ก็ตามมาซื้อสินทรัพย์ที่สามารถผลิตเป็นเงินสดออกมา เพื่อฟอกเงินจากเงินเทาเป็นเงินสะอาด แล้วป้อนคืนให้กับผู้มีอิทธิพลรายนั้นได้ ตอนนี้จะเห็นว่า มีการซื้อกิจการขนส่งบ้าง ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทต่างๆ ที่พักต่างๆ ทั้งนี้ กำลังจับตาดู เพราะมีการไปซื้อคอนโดมิเนียมหรืออาคารห้องชุด ราคาตั้งแต่ 8-10 ล้านบาท แต่มาปล่อยเช่ารายวันในอัตรา 900-1,000 บาท ซึ่งไม่ว่าจะคิดอย่างไร โอกาสที่จะถึงจุดคุ้มทุนทำกำไรนั้นยากมาก ดังนั้น จะเข้าข่ายฟอกเงินหรือไม่ ถือว่า น่ากลัวมาก

เมื่อถามย้ำว่าข้อมูลในมือมีชัดขนาดไหน  วิโรจน์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังกระจัดกระจาย จะจริงหรือเท็จเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว หรือแค่โยงใยโดยบังเอิญ เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบ หากไปกล่าวหาเลย จะไม่เป็นธรรม ต้องดูว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัทที่มีกิจการร่วมค้าและได้งาน ถือเป็นตัวจริงหรือไม่ หรือเป็นหรือเป็นนอมินี

ส่วนกรณีรัฐมนตรีทั้ง พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาเรียกร้องให้ทำเป็นคดีพิเศษ และ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าทุนจีนเหล่านี้มีมูลค่ามาก การที่รัฐมนตรีพูดในทำนองนี้สะท้อนอะไร วิโรจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องหารือกัน แต่ยืนยันว่าคดีนี้เมื่อเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพลข้ามชาติ มาเฟียข้ามชาติ ห้ามตัดประเด็นเรื่องการฟอกเงินอย่างเด็ดขาด และหากเราจะทำเรื่องการฟอกเงินการพัวพันกับกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ การเอาเงินสกปรกสีดำมาฟอก ขอย้ำว่า เป็นข้อสงสัย ทางออกที่ดีที่สุดคือต้องทำเป็นคดีพิเศษให้ได้ เพราะเกินอำนาจของตำรวจที่จะเข้าไปสืบสวน ซึ่งกำลังทำลายทั้งเศรษฐกิจไทย และทำให้ไทยกลายเป็นกลายเป็นศูนย์กลางการฟอกเงินของอาชญากรข้ามชาติหรือไม่ ถือเป็นเรื่องน่ากังวล

เมื่อถามว่า จะสรุปได้เมื่อไหร่ วิโรจน์ กล่าวว่า อยากใช้เวลา 2-3 วัน เรียบเรียงประเด็นที่น่าสนใจ โดย สุรเชษฐ์ ประวีณวงค์วุฒิ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามงบประมาณสภาฯ พร้อมที่จะดึงเอกสารงบประมาณของ สตง. มาตรวจสอบ ขณะที่ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะ กมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาฯ ก็พร้อมที่จะสืบสวนสอบสวนเรื่องจีนเทาและนอมินี จากนั้นจะสรุปการบ้านหรือประเด็นที่น่าสืบเสาะต่อว่ามีอะไรบ้าง 

ส่วนที่ผู้ว่า สตง.ออกแถลงการณ์ภายใน ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ สตง. มีการหยิบยกเรื่องสร้างบ้านใหม่ จนคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ วิโรจน์ กล่าวว่า แม้เป็นประกาศภายในแต่ก็ต้องพร้อมรับความถูกกาลเทศะและการวิพากษ์วิจารณ์

“เราห้ามเหมารวมข้าราชการที่ สตง. เพราะคนที่ตั้งใจทำงานจริงก็มีอยู่มากและส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในกรณีนี้ แต่สิ่งที่ สตง. ควรต้องรับฟังคือข้อวิจารณ์จากหน่วยงานราชการด้วยกัน ที่ประสบกับความลำบากและการถูกจับผิดโดยที่ไม่ฟังเหตุผลจาก สตง.บางคน ที่เมื่อไปตรวจคนอื่นเข้มมาก แต่การจัดซื้อจัดจ้างของ สตง.เองที่ปรากฎ มีการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ที่ควรต้องสำนึก และตระหนักว่า เงินที่ท่านใช้ ไม่ใช่เงินของท่าน แต่คือเงินของประชาชน”

วิโรจน์ กล่าว

วิโรจน์ ย้ำว่า สตง.ควรต้องกลับมาพิจารณาตัวเอง ส่วนที่มีการเรียกร้องให้ ผู้ว่า สตง. เข้าไปดูหน้างานและให้กำลังใจครอบครัวนั้น ส่วนตัวเข้าใจ เพราะถ้าคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้มีความรู้ด้านวิศวกรรม เกรงว่า จะเป็นการรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ รบกวนการทำงานของรศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่า กทม. จึงเห็นว่า ให้เจ้าหน้าที่หน้างานรับผิดชอบโดยตรงดีกว่า

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์