รัฐบาล เดินหน้า Entertainment Complex มุ่งให้เป็น ‘ศูนย์รวมความบันเทิง’ เพื่อหมุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว และการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะว่าไป หากย้อนคิดเรื่องการเป็น ‘ศูนย์รวมความบันเทิง’ อาจกล่าวได้ว่า จริงๆ แล้วในเมืองไทย เคยมี Entertainment Complex มาก่อน โดยอยู่กลางเมือง บนถนนเยาวราชนั่นเอง และทุกวันนี้ก็ยังเหลือเค้ารางๆ ให้ได้ย้อนกลับไปดู
โดย Entertainment Complex เยาวราช เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 บนตึก 7 ชั้นย่านเยาวราชในยุคนั้น ถือเป็นตึกที่มีความสูงทำลายสถิติ ตึกเดิม 6 ชั้น พร้อมกับมาสร้างอยู่ตรงข้ามกับกันอีก โดยติดตั้งลิฟต์โดยสารที่เป็นของใหม่สุดๆ และภายในตึกนี้ ยังพรั่งพร้อมไปด้วย “ห้างสรรพสินค้า โรงแรม บ่อนการพนัน ภัตตาคาร” รวมทั้งระบำ 7 ชั้น ของนายหรั่ง คณะระบำเปลื้องผ้าอันลือชื่อ จนเป็นที่มาของ สวรรค์ชั้น 7 นักเที่ยวรุ่นคุณปู่รู้จักกันดี

ตึก 7 ชั้น นำมาซึ่ง ‘สวรรค์ชั้น 7’ เพราะชั้นบนสุด คือสุดยอดบันเทิง เริงรมย์ ชื่อเป็นทางการของตึก 7 ชั้นคือ โรงแรม ฮั่วเซียง เจ็ดชั้น และโรงแรม ตงหนำ โฮเต็ล ปัจจุบันคือโรงแรมไชน่าทาวน์ ก่อนจะพัฒนาเป็นตึก 9 ชั้น เยาวราช ตึก 9 ชั้น หรือ โรงแรมนิวเก้าชั้น ปัจจุบัน คือ อาคารของร้านทองฮั่วเซ่งเฮง โดยทั้งหมดเกิดขึ้นช่วงปลายรัชกาลที่ 6
มีงานวิจัยอาคารสูงยุคแรกในสยาม ทศวรรษ 2390 -2470 สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย พิศาลศรี กระต่ายทอง พูดถึงตึกเจ็ดชั้นในในวันนั้นว่า ตึกหลังนี้ถือเป็นตึกที่สูงสุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯในเวลานั้น
ภายในตึกเป็นที่ตั้งของแหล่งนันทนาการต่างๆ เช่น ร้านอาหาร สถานออกกำลังกาย ห้องเล่นไพ่ ห้องฟังเพลง ห้องจัดแสดงสัตว์แปลก โรงแรม และยังมีการจำหน่ายสินค้าต่างๆ ด้วย โดยชั้น 7 จัดเป็น ‘สถานบันเทิง’ หรือ ‘คลับ’ หรือ ‘สโมสรสำหรับชาวจีน’ มีการจัดแสดงระบำนุ่งน้อยห่มน้อยของคณะนายหรั่ง เรืองนาม ซึ่งได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงมากในยุคนั้น จนเป็นที่มาของวลี ‘ขึ้นสวรรค์ชั้น 7’ ซึ่งเป็นสำนวนยอดฮิตสืบต่อมาที่สื่อถึงการมีความสุขอย่างมาก

สำหรับ เอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ยุครัฐบาลนี้ แม้จะยังไม่รู้ว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร แต่ก็เชื่อมั่นได้ว่า อาคารเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ต้องมีมากกว่าเจ็ดชั้นแน่นอน และอาจจะมีอะไรมากกว่าเจ็ดอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามกันต่อไป