'ช่อดอกมะพร้าว' คุณค่าที่มากกว่าความหวาน

26 ธ.ค. 2566 - 01:30

  • วิถีดั้งเดิมในการทำ 'น้ำตาลมะพร้าว' ของชุมชนตำบลกระดังงา จังหวัดสมุทรสงคราม ขุมทรัพย์ที่รอการตกทอดหรือจะสูญหายไปตามกาลเวลา

C5501.MP4.18_11_17_44.Still001.jpg

อยากรู้ว่า 'น้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ' มาจากไหนกันแน่!

รายการ 'อยากรู้อยากเห็น' เลยพาเข้าสวนมะพร้าวไปหา ‘ป้าติ๋ว’ จรรยา โสรัตยาทร เจ้าของสวนมะพร้าวที่อยู่กับการทำน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิมมามากกว่า 40 ปีที่ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนธี จังหวัดสมุทรสงคราม

2025-SPACEBAR-Photo09.jpg
Photo: จรรยา โสรัตยาทร (ป้าติ๋ว) - เจ้าของสวนมะพร้าว
2025-SPACEBAR-Photo02.jpg

"ถ้าเราปาดดอกมะพร้าวเพื่อเอาน้ำตาล เราก็จะไม่ได้น้ำมะพร้าวจากลูกมะพร้าวกิน ต้องแลกกัน" ป้าติ๋วบอกกับเรา

'น้ำตาลมะพร้าว' คือน้ำหวานจากธรรมชาติแท้ที่ได้จากช่อดอกมะพร้าวซึ่งชาวบ้านจะทำการปาดปลายช่อดอกมะพร้าวทีละนิดวันละ 2 ครั้ง หนึ่งช่อดอกสามารถปาดได้เกือบ 20 วันนับตั้งแต่วันที่ปาดดอกครั้งแรกและปาดได้ทุกวันจนกว่าจะหมดงวง เมื่อปาดเสร็จคุณป้าก็จะเอากระบอกพลาสติกหรือไม่ไผ่ที่ใส่ไม้พะยอมสารกันบูดจากธรรมชาติมารองไว้และรอจนเต็ม เช้ารุ่งขึ้นอีกวันจึงมาเก็บ

น้ำหวานจากช่อดอกมะพร้าวสามารถเก็บได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนปริมาณน้ำหวานที่เก็บได้จะน้อยหน่อย รอบนี้ป้าติ๋วพาเราไปเก็บน้ำหวานมาได้ไม่น้อยเลย ถ้านับรวมๆ 11 กระบอกคุณป้าบอกกับเราว่าจะได้น้ำหวานสดประมาณ 18-20 ลิตรเลยทีเดียว

2025-SPACEBAR-Photo11.jpg
2025-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: จั่นมะพร้าวที่พร้อมให้น้ำหวาน

'น้ำหวานจากช่อดอกมะพร้าว' เป็นสารที่ให้ความหวานจากธรรมชาติจึงมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์และยังมีรสชาติหวานเทียบเท่าน้ำตาลสังเคราะห์และน้ำผึ้งแต่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index :GI) ต่ำกว่าน้ำตาลประเภทอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันได้มีการแปรรูปน้ำตาลมะพร้าวออกไปหลายรูปแบบเพื่อให้สะดวกต่อการนำไปใช้ ทั้งในรูปแบบเกล็ด (Granulated) หรือแบบน้ำหวาน (Syrup) 

ลองเปลี่ยนมาใช้น้ำตาลจากช่อดอกมะพร้าวแท้แทนน้ำตาลเดิมที่เคยใช้ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับคนรักสุขภาพ คนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ควบคุมความหวาน และ Plant-based Diet

2025-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: สวนมะพร้าวตำบลกระดังงา อำเภอบางคนธี จังหวัดสมุทรสงคราม
2025-SPACEBAR-Photo07.jpg

เสร็จจากสวน ป้าติ๋วก็พาเราเดินตรงไปที่โรงเคี่ยวน้ำตาลที่บ้านทันที เพื่อนำน้ำหวานที่ได้มาเข้าสู่กระบวนการเคี่ยวแบบดั้งเดิมเพื่อให้เป็นน้ำตาลต่อไป ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและความชำนาญ ป้าติ๋วในวัย 70 ปียืนเคี่ยวน้ำตาลจนงวด น้ำตาลที่ใช้ได้จะมีลักษณข้นและมีสีที่เข้มขึ้นก็เป็นอันพร้อมส่งไปสู่กระบวนการแปรรูปต่อไป ระหว่างที่ยืนดูกระบวนการเคี่ยวน้ำตาลด้วยมือเปล่าของป้าติ๋วอยู่นั้น กลิ่นน้ำตาลก็หอมเย้ายวนเราให้น้ำลายสอซะเหลือเกิน...อยากกินขนม.....

"ถัวเฉลี่ยก็ประมาณชั่วโมงกว่าจะได้กระทะหนึ่ง ต้มให้มันงวดจนใกล้แห้งแล้วเราถึงเอาลงมาปั่นถึงจะใช้ได้ ต้องคนเคยเคี่ยวเคยทำนะถึงจะดูได้ว่าอันนี้ใช้ได้แล้ว อันนี้ยังไม่ได้ ดูจากปุดๆๆ" ป้าติ๋วหันมาบอกเรา

2025-SPACEBAR-Photo08.jpg
2025-SPACEBAR-Photo10.jpg

ปัจจุบันการทำน้ำตาลช่อดอกมะพร้าวยังคงทำกันในกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มเล็กๆ ในชุมชน ซึ่งป้าติ๋วเองก็มีความกังวลไม่น้อยว่าการทำน้ำตาลมะพร้าวแท้แบบดั้งเดิมจะสูญหายไปเพราะแทบไม่เหลือเตาเคี่ยวน้ำตาลอยู่แล้วในตำบลกระดังงา อ.บางคนธี จ.สมุทรสงครามนี่

“ตอนนี้ชักจะเหลือน้อยแล้วหมดรุ่นนี้หายากแล้ว ตำบลกระดังงงานี้นะเหลือไม่กี่เตาแล้ว เตาป้าเห็นเตาหลานอีก 3 เตา ไม่มี มีเขาก็ทุบเตาทิ้งแล้วไม่มีคนขึ้นปาดน้ำตาลเอามาเคี่ยว ไม่มีคนขึ้นก็ทุบเตาทิ้งพอหมดรุ่นแก่คงหาน้ำตาลแท้ยากหน่อย” ป้าติ๋วเปรย

2025-SPACEBAR-Photo06.jpg

ติดตามเรื่องราวดีๆ ในอีพีต่อๆ ไปกับรายการ 'อยากรู้อยากเห็น' ทางช่อง YouTube: spacebarMediaTH

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์