‘วัดเรืองแสง’ ไม่เรืองรองเหมือนเคย?

1 ก.พ. 2567 - 13:08

  • SPACEBAR พาพิสูจน์ความงดงามและเปล่งประกายเรืองรองของ ‘วัดเรืองแสง’ หนึ่งเดียวในโลกที่อุบลราชธานีให้เต็มตา

  • ศิลปะ มิตรภาพและวิทยาศาตร์สร้าง ‘วัดเรืองแสง’ ที่โด่งดังและพาผู้คนจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมเยือน

web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Hero.jpg

แว่วมาว่าวัดสิรินธรวราราม ภูพร้าวหรือ 'วัดเรืองแสง' ไม่เปล่งประกายเหมือนเดิมแล้ว SPACEBAR เลยมาพิสูจน์ให้เห็นกับตา 

หากใครมาถึงอุบลราชธานีแล้วยังไม่ได้เดินทางไปยังวัดสิรินธรวราราม ภูพร้าวอาจถือว่าพลาด เพราะที่นี่ถือเป็นไฮไลต์เด็ดของจังหวัดอุบลราชธานีเลยทีเดียว..แม้เราจะเดินทางมาถึงวัดกันตอนหัวค่ำแล้วแต่ความมืดก็ไม่ได้ทำให้ความสวยงามของวัดสิรินธรวราราม ภูพร้าวลดลงไปแต่อย่างใด

web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo01.jpg

วัดสิรินธรวราราม ภูพร้าว หรือ ‘วัดเรืองแสง’ ที่โด่งดังไปทั่วโลกนั้นโครงสร้างโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง ต้นแบบจากวัดเชียงทอง หลวงพระบาง จากประวัติวัดนี้สร้างโดยพระอาจารย์บุญมาก ชาวลาวแขวงจำปาสักซึ่งได้เข้ามาปักกลดวิปัสนากรรมฐานที่ภูพร้าวแห่งนี้ระยะหนึ่ง ต่อมาราวปี พ.ศ. 2516 ท่านได้ขอบิณฑบาตพื้นที่จากทางราชการให้เป็นวัด ทางอำเภอจึงให้ตั้งชื่อวัดว่า ‘วัดสิรินธรวราราม ภูพร้าว’ ตั้งแต่นั้นมา

หลังจากนั้นท่านพระอาจารย์บุญมากต้องกลับประเทศลาวไป วัดจึงถูกทิ้งให้ร้างนับแต่นั้น กระทั่งปี พ.ศ.2542 พระครูกมล ลูกศิษย์ของท่านได้ค้นพบวัดอีกครั้งและบูรณะให้กลับมาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมเหมือนแต่เดิม โครงสร้างอุโบสถนี้ออกแบบและสร้างขึ้นโดยพระครูกมลภาวนา ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 2 หลังจากพระครูกมลละสังขารไปในปี พ.ศ. 2549 พระครูปัญญาวโรบล (ปริญญา ติสฺสวโร) เจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ได้เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด(จนถึงปัจจุบัน)ได้สานต่องานสร้างวัด โดยได้มีดำริให้สร้างจิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระอุโบสถเป็นต้นกัลปพฤกษ์และแต่งเติมอุโบสถให้สวยงาม จึงได้ติดต่อให้ช่างคณากร ปริญญาปุณโณ ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนให้มาช่วยในการออกแบบและจัดสร้าง

web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo02.jpg
web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo03.jpg

'วัดเรืองแสง' หนึ่งเดียวในโลก  

ช่างคณากร ปริญญาปุณโณ เป็นศิลปินผู้มีความสนใจในงานศิลปะและการนำเอาสารเรืองแสงมาใช้ในงานอยู่แต่เดิมทีถึงแม้จะเป็นชาวคริสเตียน แต่ก็เต็มใจมาช่วยเพื่อนที่เป็นพระทำงานนี้ด้วยความเต็มใจเป็นมิตรภาพระหว่างเพื่อนที่ยั่งยืนแม้ต่างศาสนากันก็ตาม ประกอบกับช่างคณากรได้รับแรงบันดาลใจมาจาก 'ต้นไม้แห่งชีวิต' ในภาพยนตร์อวตาร จึงมีความคิดว่าถ้าหากนำเอาสารเรืองแสงมาทาที่ต้นกัลปพฤกษ์ นอกจากจะทำให้สวยงามแปลกตาแล้วยังแฝงด้วยความหมายที่ลึกซึ้งจึงได้ออกแบบและจัดทำเป็นต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสงจนแล้วเสร็จและเรืองรองเปล่งประกายมาจนถึงปัจจุบันกว่า 10 ปีแล้ว

web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo04.jpg

‘ต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสง’ ที่เป็นจุดเด่นอยู่ตรงผนังด้านหลังพระอุโบสถนั้นถูกอาบด้วยสารเรืองแสง ‘ฟอสฟอเรสเซนซ์ (Phosphorescence)’ ซึ่งสารนี้จะยังไม่เปล่งแสงทันทีหลังจากดูดซับแสง UV จากพระอาทิตย์ในตอนกลางวันเข้ามาเก็บไว้ แต่จะค่อยๆ ปล่อยแสงที่มีความเข้มต่ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง ก็เปรียบเหมือน ‘คน’ ที่ต้องสั่งสมพลังความดีเอาไว้มากๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการทำให้ผู้อื่นรับรู้ หรือได้รับผลแห่งความดีนั้นกลับนั่นเอง คุณคณากรเล่าให้ SPACEBAR ฟัง

web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo05.jpg

สาร ‘ฟอสฟอเรสเซนซ์ (Phosphorescence)’ ที่ใช้ในการออกแบบผ่านระยะเวลามามากกว่า 10 ปีแล้ว ปัจจุบันก็ยังคงเรืองแสงสว่างอยู่ แต่จากข้อมูลทางเคมีค่าเรืองแสงของสารฟอสฟอเรสเซนซ์จะลดลงปีละ ประมาณ 0.3% ซึ่งแปลว่าวันหนึ่งสารเรืองแสงอาจจะเลือนหายไปตามกาลเวลาซึ่งเป็นเรื่องของอนาคตไป ณ ปัจจุบันถ้าหากอยากมาชมวัดเรืองแสงเปล่งประกายแบบชัดๆ ควรมาในคืนเดือนมืดเพราะยิ่งมืดเท่าไหร่แสงก็จะเปล่งประกายมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นระยะเวลาที่สามารถชมความสวยงามได้ดีที่สุด คือหลังจากที่พระอาทิตย์ตกแล้วไม่เกิน 2 ชั่วโมงหรือไม่ควรเกินสองทุ่ม ซึ่งหลังจากสองทุ่มไปแล้วแสงอาจจะค่อยๆจางหายไป นี่ขนาดวันที่ SPACEBAR มาพิสูจน์เป็นวันที่แสงจันทร์เจิดจ้า เรายังเห็นแสงเรืองออกมาอย่างชัดเจนและนานมากพอให้เราได้เก็บภาพมาฝากผู้อ่านเยอะแยะเลย

web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo06.jpg
web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo07.jpg

ความปราณีต ละเมียดละไม 

เดินเข้าไปภายในเห็นองค์พระประธานสีทองเหลืองอร่ามตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในกลางอุโบสถ์ท่ามกลางความมืดที่แวดล้อมหลังพระอาทิตย์ตก พระประธานเดิมเป็นพระพุทธชินราชประดิษฐานก่อน จนกระทั่งมีการบูรณะและให้นามใหม่ว่า ‘พระพุทธภาวนาฐิติวโรบล’ เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2566 ที่เพิ่งผ่านมานี้เอง

งานเสาอุโบสถก็งดงามปราณีตไม่แพ้กันด้วยการวาดลวดลายและติดกระจกสีด้วยมือของอาจารย์อัมคา สุวรรณเพชรเองทั้งหมด “อาจารย์อัมคา สุวรรณเพชร เป็นจิตรกรที่มีความเป็นมืออาชีพ สามารถปรับเปลี่ยนแนวและการใช้เทคนิคตามที่ผมต้องการจนลงตัว ผมจึงเชิญท่านมาร่วมงานในครั้งนี้” คุณคณากรกล่าวเสริม "ปัจจุบันงานบูรณะตกแต่งวัดยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี คาดว่าอีก 1 ปีน่าจะเสร็จสมบูรณ์"

web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo08.jpg
web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo09.jpg

ภายนอกอุโบสถโดยรอบมีการประดับประดาด้วยกระจกสีเพิ่มเติม และมีการวาดลวดลายแครัคเตอร์การ์ตูนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Minion, Pikachu, Doraemon, Angry Birds ลงบนพื้นทางเดินก่อนเข้าสู่ตัวอุโบสถเป็นงานประติมากรรมปูนแบบร่องลึก ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก อักษรภาพไอดรกลีฟแบบอารยธรรมอียิปต์โบราณ และอารยธรรมมายา ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่าตัวอุโบสถเลย....ใครไม่เคยไปต้องไปสักครั้งหนึ่งให้ได้นะ

web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo10.jpg
web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo11.jpg
web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo12.jpg

การเดินทางมายังวัดสิรินธรวราราม ภูพร้าว หรือวัดเรืองแสงไม่ยาก ให้ใช้เส้นทางมายังอำเภอสิรินธร ก่อนถึงช่องเม็กเพียงแค่ 2 กิโลเมตรเท่านั้น อยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ 94 กิโลเมตร ส่วน SPACEBAR เราเดินทางมาจากอำเภอตระการพืชผลซึ่งก็ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง...ใครที่เคยไปวัดภูพร้าวมาก่อนบอกเราหน่อยว่า 'วัดเรืองแสง' ที่เราเห็นในวันนี้เปล่งประกายแสงน้อยลงกว่าเดิมมั้ย

web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo13.jpg
web-temple-glow-in-the-dark-SPACEBAR-Photo14.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์