1-month-since-the-railway-police-were-abolished-SPACEBAR-Photo00.jpg
1-month-since-the-railway-police-were-abolished-SPACEBAR-Photo01.jpg
1-month-since-the-railway-police-were-abolished-SPACEBAR-Photo02.jpg
1-month-since-the-railway-police-were-abolished-SPACEBAR-Photo03.jpg

Photo Story: 1 เดือนที่ไร้ตำรวจรถไฟ

20 พ.ย. 2566 - 06:13

  • 1 เดือนหลังยุบตำรวจรถไฟ สุญญากาศความปลอดภัยจริงหรือ? สเปซบาร์ชวนหาคำตอบเรื่องนี้ไปพร้อมกัน ด้วยการทดลองนั่งรถไฟสายใต้ สัมผัสบรรยากาศบนขบวนและร่วมฟังเสียงสะท้อนของผู้ใช้บริการ หลัง ‘รฟท.’ เข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัยแทน สุดท้ายแล้วเมื่อไร้ตำรวจรถไฟ = สุญญากาศความปลอดภัยจริงหรือ?

1-month-since-the-railway-police-were-abolished-SPACEBAR-Photo00.jpg
1-month-since-the-railway-police-were-abolished-SPACEBAR-Photo01.jpg
1-month-since-the-railway-police-were-abolished-SPACEBAR-Photo02.jpg
1-month-since-the-railway-police-were-abolished-SPACEBAR-Photo03.jpg

1 เดือนที่ไร้ตำรวจรถไฟ = สุญญากาศความปลอดภัยของประชาชน? 

เป็นเวลา 1 เดือนแล้ว หลังตำรวจรถไฟถูกยุบ แต่การเดินทางของผู้คนด้วยม้าเหล็กยังคงดำเนินต่อไป 

เส้นทางรถไฟสายใต้ เป็นหนึ่งในเส้นทางที่ตำรวจรถไฟคอยเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเส้นทางระยะไกล จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุอาชญากรรมได้ง่าย เพราะต้องเดินทางเป็นสิบชั่วโมง 

สเปซบาร์ ทดลองนั่งรถไฟขบวนด่วนพิเศษ จากกรุงเทพฯ ไปยังสถานีประจวบฯ โดยนั่งรถไฟชั้น 3 ขบวน 37 และออกเดินทางในช่วงบ่าย เพื่อหวังไปถึงที่หมายในช่วงค่ำ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่หลายคนกังวลว่าเมื่อไม่มีตำรวจรถไฟแล้ว การเดินทางในช่วงฟ้ามืดอาจะไม่ค่อยปลอดภัยอีกต่อไป 

ตลอดระยะเวลา 6 ชั่วโมงของการเดินทาง เราพบว่ามีเจ้าหน้าที่รถไฟ เดินตรวจตราผ่านจุดที่เรานั่งประมาณชั่วโมงละครั้ง ระหว่างการเดินทางยังมีพ่อค้า-แม่ค้าแวะเวียนขึ้นมาขายของอยู่เสมอ ทำให้บรรยากาศระหว่างทางดูไม่ค่อยเงียบเหงา จากการสังเกตพบว่าแต่ละสถานีที่เรานั่งผ่านมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำแต่ละสถานีอยู่ด้วย 

กว่าจะถึงที่หมายก็เป็นเวลาเกือบ 4 ทุ่มแล้ว แสงสว่างจากสถานีที่ฉายส่องลงมาบริเวณขบวนรถไฟ ที่จอดเทียบอยู่ที่ชานชาลา แม้จะดูเหมือนส่องสว่างไม่เพียงพอ แต่เจ้าหน้าที่รถไฟก็ค่อยฉายไฟส่องทางให้ผู้โดยสารเป็นการทดแทน 

การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังสถานีประจวบฯ แม้จะเป็นเส้นทางสายใต้ เเต่ยังไม่ใช่การเดินทางในระยะไกล  

แต่ละระยะทางที่ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชม. อาจพอทำให้เห็นภาพได้ว่า ความปลอดภัยของการเดินทางยังอยู่ในระดับที่วางใจได้

คำถามที่ว่าใครจะดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน แทนตำรวจรถไฟ เรื่องนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เคยออกมาให้ความมั่นใจว่า รฟท. มีความพร้อมที่จะดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยพื้นที่บนขบวนรถไฟ จะมีเจ้าหน้าที่ของ รฟท. คอยดูแล และจัดหาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเอกชนให้เข้ามาช่วยดูแลเพิ่มเติม ส่วนความปลอดภัยบริเวณชานชาลาจะอยู่ในความดูแลของตำรวจท้องที่

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ‘นิรุฒ มณีพันธ์’ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยืนยันว่า หลังตำรวจรถไฟถูกยุบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดกำลังพล ประมาณ 200-300 นาย เข้ามาปฎิบัติหน้าที่ทดแทนทันที ไม่มีช่องว่างเรื่องความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้บริการบนรถไฟแน่นอน 

ซึ่งผลการประชุมบอร์ด รฟท. เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ได้มีมติเห็นชอบจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยง วงเงิน 34 ล้านบาทให้กับเจ้าพนักงานตำรวจที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 - ต.ค.67 หรือหลังจากตำรวจรถไฟถูกยุบ โดยวงเงินดังกล่าว เป็นวงเงินเดิมที่ รฟท. เคยจ่ายให้กับตำรวจรถไฟในแต่ละปีอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ รฟท. พิจารณาจัดหามาตรการดูแลความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารเพิ่มเติม เช่น ติดตั้งกล้อง CCTV ตามพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะบนขบวนรถไฟให้มากขึ้น  และติดกล้องที่หน้าอกของพนักงานตรวจตั๋วโดยสาร 

ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ย้ำว่า แม้ รฟท. ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เรื่องความปลอดภัยเป็นนโยบายที่ รฟท. ให้ความสำคัญที่สุด และจะไม่นำเรื่องขาดทุนมาเป็นอุปสรรค 

แต่คำถามที่ชวนสงสัย คือ ตำรวจรถไฟ ที่ รฟท. เคยบอกว่าเป็นปราการด่านสำคัญ ในการป้องปรามเหตุอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ และมีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อพบผู้โดยสารที่มีประวัติอาชญากรรม จะมีการแจ้งเตือนทันทีทำให้เจ้าหน้าที่สามารถสกัดจับได้ทันที จนทำให้ตำรวจรถไฟ สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับค้างเก่าได้เป็นอันดับต้นๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และยังมีผลงานเรื่องการจับกุม การลักลอบขนยาเสพติด แรงงานต่างด้าว เป็นจำนวนมาก 

น่าสนใจว่า ตำรวจ จำนวน 200-300 นาย ที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ทดแทนตำรวจรถไฟ ที่เคยมีกำลังพล 800 นาย จะทำงานได้มีประสิทธิภาพเท่ากันหรือไม่ และในอนาคตหน่วยงานใดจะเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยของประชาชนได้เหมือน หรือดีกว่าที่ตำรวจรถไฟเคยทำหรือไม่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์