3 จังหวัดอันดามัน ภูเก็ต กระบี่ พังงา ผนึกกำลังร่วมผลักดันการท่องเที่ยวปี 68 ตั้งเป้าดันรายได้ 8 แสนล้านบาท โดยพังงาร้องขอท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน ท่าเรือสำราญ รถขนส่งสาธารณะจากสนามบิน หวังโกยรายได้ 80,000 ล้าน
ด้านภูเก็ตเปิดกลยุทธ์เจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มรองมากขึ้น จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายให้นักท่องเที่ยวเล่นกีฬาทางน้ำ จัดอีเวนต์ระดับโลก ตั้งเป้าโกยรายได้ 570,000 ล้าน จังหวัดกระบี่วางเป้าหมาย ที่ 100,000 ล้านบาท รุกหนักตลาดยุโรปและสแกนดิเนเวีย

เลิศศักดิ์ ปนกลิ่น นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวพังงา เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดพังงา ตั้งเป้ารายรับจากการท่องเที่ยวในปี 2568 ไว้ที่ 80,000 ล้านบาท ซึ่งพังงาเคยทำรายได้สูงสุดไว้ที่ 64,000 ล้านบาท
เลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่าในส่วนของกลุ่มจังหวัดอันดามันที่มีพื้นที่ติดกัน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต กระบี่ และ พังงา มีรายได้จากการท่องเที่ยวไหลเข้ามากที่สุด ในปี 2567 ที่ผ่านมารายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 6 แสนล้านบาทเศษ ส่วนในปี 2568 ผู้ประกอบการตั้งเป้าหมายไว้ที่ 800,000 ล้านบาท โดยดูจากทิศทางของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมายังพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา ทั้ง 3 จังหวัดจะต้องทำการขายสินค้าทางการท่องเที่ยวให้ได้ตลอดทั้งปี
ช่วงกรีนซีซั่น จะต้องจัดอีเวนต์ใหญ่ๆ ระดับโลก เช่นการจัดการดนตรีระดับโลก Electric Daisy Carnival (EDC) Thailand 2025 ที่ภูเก็ตในวันที่ 17-19 มกราคม 2568 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินเข้ามามาก ซึ่งการจัดอีเวนต์ใหญ่ๆ ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในส่วนของจังหวัดพังงา กระบี่ ก็ได้รับประโยชน์ร่วม เช่นการกระจายนักท่องเที่ยวเข้าพักโรงแรม รีสอร์ท ทั้ง 2 จังหวัดอีกด้วย
“การจัดแข่งขันกีฬาระดับโลก รวมถึงการทำกิจกรรมท่องเที่ยวอื่นทั้ง 12 กิจกรรม หากทำได้เช่นนี้ เชื่อมั่นว่ายอดขายที่ 3 จังหวัดอันดามันตั้งเป้าหมายไว้ 800,000 ล้านบาทนั้นจะไม่เกินจริง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องรอรัฐบาลหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนด้วย”
เลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้พบว่าสนามบินนานาชาติกระบี่มีความพร้อมในการรองรับสายการบินสายต่างๆ พร้อมรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเที่ยวในกระบี่และตรัง ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่ใช้สนามบินนานาชาติภูเก็ต ก็จะบินมาท่องเที่ยวพักผ่อนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา หากรัฐบาลเร่งสร้างสนามบินอันดามันในพื้นที่พังงา (ภูเก็ต2) ตามแผนจะระบายความแออัดสนามบินนานานชาติภูเก็ต เม็ดเงินจะไหลเข้าพังงาและภูเก็ตได้มากขึ้น
เลิศศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับจังหวัดพังงา มีความต้องการ 2 โครงการใหญ่ และ 1 โครงการขนาดเล็ก คือ
1.ท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน ตั้งในพื้นที่จังหวัดพังงาจะรองรับนักท่องเที่ยวได้ปีละ 40 ล้านคน ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ หากการก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ ก็จะเพิ่มช่องทางการเดินทางและเพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวไม่ต้องไปแออัดในสนามบินภูเก็ตอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
2.โครงการท่าเทียบเรือครุย หรือเรือสำราญ ซึ่งพื้นที่พังงามีความพร้อมในเรื่องของสถานที่ก่อสร้าง ที่บ้านทับละมุ อ.ท้ายเหมือง พังงา ร่องน้ำลึก มีพื้นที่กว้าง หลบมรสุมได้ดีมากๆ อีกทั้งบริเวณดังกล่าวมีฐานทัพเรือพังงาอยู่ด้วย หากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อเรือสำราญขนาดใหญ่มาทอดสมอ นักท่องเที่ยวจากเรือสำราญขึ้นมาพักผ่อนท่องเที่ยว ในพื้นที่ บ้านเขาหลัก ซึ่งมี โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ไว้รองรับอย่างครบครัน
3.เป็นโครงการขนาดเล็กแต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือระบบขนส่งมวลชนรถบัสสาธารณะที่บริการนักท่องเที่ยวจากสนามบินภูเก็ตและสนามบินอันดามัน (ภูเก็ต 2) วิ่งมายังพื้นที่บริการท่องเที่ยว เขาหลัก อ.ตะกัวป่า และ อ.คุระบุรี พังงา ซึ่งเส้นทางดังกล่าวบริการนักท่องเที่ยว ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ที่สามารถเดินทางเข้าออกสนามบินภูเก็ต-พังงา ได้สะดวกประหยัดเงินยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรถขนส่งสาธารณะให้บริการในเส้นทางนี้ จึงอยากจะให้ภาครัฐหรือเอกชนดำเนินการให้เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการเดินทาง


ด้าน วิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ นายกสมาคมอันดามันยั่งยืนและรักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ปี 2567 จังหวัดภูเก็ตต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 13.14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.64% และสร้างรายได้รวม 497,523.93 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้น 11.38% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้ภูเก็ตยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่แข็งแกร่ง และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต
“ปี 2568 เราคาดว่า รายได้จากการท่องเที่ยวอาจแตะ 550,000 - 570,000 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่สำคัญสำหรับธุรกิจในภูเก็ตที่จะเตรียมความพร้อมในการรองรับการเติบโตในระดับที่สูงขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนภูเก็ตประมาณ 15 ล้านคน ในช่วงปลายปี 2568”

วิรินทร์ตรา กล่าวต่อว่าจังหวัดภูเก็ตมีกลยุทธ์เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว คือ 1.ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปและตะวันออก (รัสเซีย, เยอรมนี, อังกฤษ, ฝรั่งเศส) และตะวันออกกลาง (ซาอุฯ, UAE, คูเวต) ซึ่งมีแนวโน้มใช้จ่ายสูงเฉลี่ย 5,000-8,000 บาท/วัน/คน กลุ่มนี้มักจะเลือกที่พักหรูและมองหาประสบการณ์ระดับพรีเมียม สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำคือยกระดับสินค้าและบริการ เช่น การพัฒนา Luxury Villas, Private Yacht Charters, Fine Dining Experiences รวมถึงกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มอย่าง Golf Tourism และ Wellness Tourism นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย แม้การใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวอาจต่ำกว่า แต่ถ้าเราสร้างประสบการณ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น Shopping Packages หรือ Signature Dining Experiences ก็สามารถเพิ่มรายได้จากกลุ่มนี้ได้เช่นกัน
2.เพิ่มรายได้ต่อหัวจากนักท่องเที่ยว วันนี้นักท่องเที่ยวไม่ได้มาเพื่อแค่พักผ่อน แต่พวกเขาต้องการ ‘ประสบการณ์’ เราจึงต้องปรับแนวทางทำธุรกิจให้รองรับ Experiential Tourism อย่างแท้จริง เช่น การจัด Exclusive Fine Dining, Private Diving Trips หรือ Wellness Retreats โดยควรใช้การตลาดแบบ ‘Limited Access’ เพื่อกระตุ้นความต้องการของลูกค้า
3.กระจายตลาดนักท่องเที่ยว ลดการพึ่งพาตลาดหลัก หนึ่งในจุดอ่อนของภูเก็ตคือการพึ่งพานักท่องเที่ยวจากตลาดหลักมากเกินไป การเปิดตลาดใหม่ เช่น อเมริกาใต้ เอเชียกลาง หรือแม้แต่ตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งให้ความสำคัญกับ Wellness Tourism จะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถร่วมมือกับสายการบิน โรงแรม และสื่อท้องถิ่นในประเทศเหล่านี้เพื่อทำตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีกลยุทธ์ทำให้ภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางตลอดทั้งปีแม้ในช่วงโลว์ซีซั่น โดย 1.เปลี่ยนภาพลักษณ์โลว์ซีซั่นเป็น ‘Green Season’ ต้องเปลี่ยน Mindset ว่าโลว์ซีซั่นไม่ใช่ช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยว แต่เป็นช่วงที่เราสามารถนำเสนอความแตกต่างได้ แคมเปญ ‘Green Season’ จะช่วยทำให้ภูเก็ตเป็นที่รู้จักในมุมใหม่ ว่าช่วงนี้เงียบสงบ เป็นธรรมชาติ และมีราคาที่คุ้มค่า กิจกรรมที่ควรส่งเสริมคือกีฬาทางน้ำ เช่น Surfing, Freediving และ Kite Surfing ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่นักเดินทางรุ่นใหม่
2.ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไม่แคร์ฤดูกาล นักท่องเที่ยวจากอินเดียและตะวันออกกลางไม่ได้สนใจฤดูกาลมากนัก จุดนี้เป็นโอกาสในการสร้างแพ็คเกจที่ดึงดูด เช่น Wellness Retreats, Private Villa Experiences หรือ Shopping Packages ที่ออกแบบมาเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ Digital Nomads อย่าง Co-Working Space ริมทะเล ก็เป็นอีกแนวทางที่สามารถดึงดูดกลุ่มนี้ให้มาใช้เวลาพักผ่อนและทำงานที่ภูเก็ตได้ยาวขึ้น
3.กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านอีเวนต์ระดับโลก หากเราอยากให้โลว์ซีซั่นไม่เงียบ เราต้องมีอีเวนต์ที่ดึงดูดคนให้มา เช่น Phuket Wellness Summit, Phuket Yacht Show หรือ International Music Festival นอกจากนี้ ควรพัฒนา Entertainment Hub ที่มี Night Market, คอนเสิร์ต และกิจกรรมระดับนานาชาติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้คึกคักตลอดปี
4.เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับจังหวัดใกล้เคียง ภูเก็ตควรเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในภูมิภาค แทนที่จะให้คนมาแล้วกลับ ควรมีแพ็คเกจที่เชื่อมต่อไปยังจังหวัดอื่น เช่น กระบี่, พังงา, สมุย หรือเชียงใหม่ กลยุทธ์นี้จะช่วยให้ภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการเดินทางที่กว้างขึ้น และเพิ่มระยะเวลาการเข้าพักของนักท่องเที่ยว


วิรินทร์ตรา กล่าวว่า การจัดงาน Electric Daisy Carnival (EDC) Thailand 2025 ที่ภูเก็ตในวันที่ 17-19 มกราคม 2568 ที่ผ่านมาสร้าง เม็ดเงินสะพัดอย่างมหาศาลในภูเก็ต จำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 120,000 คน ส่งผลให้เม็ดเงินจากการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน ประมาณ 1.46 พันล้านบาท

ขณะที่ ชัยภัทร วสุนธรา นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ปี 2567 ที่ผ่านมิรายได้จากการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่อยู่ที่ 88,000 ล้านบาท ในปี 2568 นี้ ทางสมาคมและผู้ประกอบการท่องเที่ยวกระบี่ ตั้งเป้าไว้ที่ 100,000 ล้านบาท ในขณะนี้สมาคมฯได้รับความร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ในการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้สมาคมฯและผู้ประกอบการ ไปทำการทำตลาด การส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ
ชัยภัทร กล่าวต่อว่า ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ คณะจะเดินทางไปประเทศเยอรมันร่วมงาน ITB ที่เบอร์ลิน เพื่อขายสินค้าทางการท่องเที่ยว เพราะยุโรปและสแกนคือตลาดใหญ่ที่นักท่องเที่ยวมีกำลังซื้อที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่กระบี่ ส่วนกลางปีนี้ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวกระบี่ได้รับความร่วมมือจาก อบจ.กระบี่ ไปทำการตลาดส่งเสริมการขายในงาน สิงคโปร์และมาเลเซีย โดยจะนำบรรดาผู้ประกอบการไปด้วย
“ในขณะนี้กระบี่มีความพร้อมเรื่องของสนามบิน ที่จะรองรับเที่ยวบินจากทั่วโลก ที่จะมาทำการบินแบบเที่ยวบินประจำ หรือเช่าเหมาลำ ขณะนี้ก็มีการสายการบินทยอยเข้ามาทำการบินอยู่เรื่อยๆ และพบว่าตามเกาะต่างๆ ในกระบี่ มีความต้องการที่จะให้ภาครัฐเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่นท่าเรือ ถนน ให้เจ้าหน้าที่จัดระเบียบเรื่องชายหาดให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น” นายกสมาคมท่องเที่ยวกระบี่ กล่าว

