เรื่องนอกรั้ว จาก ‘เนติวิทย์’ สู่ ‘หยก’

18 มิ.ย. 2566 - 10:14

  • อ่านปรากฏการณ์จาก ‘ขบถการศึกษา’ จาก ‘เนติวิทย์’ สู่ ‘หยก’ อะไรคือสิ่งที่ควรโฟกัส?

Education-Problems-in-Thailand-Natiwit-yok-SPACEBAR-Thumbnail
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกห้วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไทยไม่ว่ายุคสมัยใด ‘คนรุ่นใหม่’ ล้วนเป็นฟันเฟืองที่สำคัญ เอาปัจจุบันกาลเป็นที่ตั้ง นับแต่การรัฐประหาร 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นจุดเริ่มต้น (อีกครั้ง) สำหรับเครือข่ายนิสิต นักศึกษา นักเรียน และคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาขับไล่ ‘รัฐบาลประยุทธ์’ ควบคู่ไปกับการกำเนิดของ ‘พรรคอนาคตใหม่ - ก้าวไกล’ ที่ดูเหมือนเป็นที่พึ่งพาทางใจของ ‘พลังวัยทีน’ จนการชุมนุมขยายเป็นวงกว้าง มากกว่าแค่เรื่องการต่อต้านอำนาจจากรัฐบาลทหาร แต่ลุกลามไปถึงปัญหาโครงสร้างทางสังคม ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะ ‘ประเด็นการศึกษา’ ที่มี นำโดย ‘เนติวิทย์’ และ ‘กลุ่มนักเรียนเลว’ นำทัพ 

การขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปการศึกษา ในช่วง 3 - 4 ปีนี้มีหลายมิตินอกเฉพาะจากการชุมนุม ที่เห็นได้ชัดคือการ ‘แสดงเชิงสัญลักษณ์’ ภายในรั้วโรงเรียน - มหาวิทยาลัย เพื่อแสดงออกเชิงอารยะขัดขืน ล่าสุดหนีไม่พ้นปรากฏการณ์ ‘น้องหยก’ ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112  ปีนรั้วเข้าโรงเรียน ภายใต้ชุดไปรเวท และผมย้อมสี กลายเป็นเรื่องร้อนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมหลายมุมมอง 

กล่าวถึงพื้นเพของหยกพอสังเขป เธอกลายเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยการร้องทุกข์กล่าวโทษจาก ‘อานนท์ กลิ่นแก้ว’ สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) กรณีการแสดงออกในกิจกรรมทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 เธอกลายเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุด (เพียงอายุ 15 ปี)  

หยกถูกคุมขังอยู่ที่ ‘บ้านปราณี’ จังหวัดนครปฐมเป็นเวลากว่า 51 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน เยาวชนวัย 15 ปี ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่าถูกไล่ออกจากโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการแล้ว พร้อมเล่าเหตุการณ์การพูดคุยกับคุณครูจนเกิดประเด็นขอ ‘อัดเสียง’ บทสนทนาของรองผู้อำนวยการ ที่บอกว่าจะคืนเงินค่าเทอมให้ และระบุว่า ‘เธอคือบุคคลภายนอก’ 

ถัดมาวันที่ 14 – 15 มิถุนายน หยกภายใต้ชุดไปรเวทและผมยอมสี ได้แสดงอารยะขัดขืน ปีนรั้วโรงเรียนเข้าไป พร้อมกับการถ่ายวีดีโอไลฟ์สด ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยตลอด ทำให้ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียลฯ #Saveหยก ขึ้นเทรนทวิตเตอร์อันดับหนึ่งภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังวีดีโอไลฟ์ถูกเผยแพร่  

ต่อมาโรงเรียนออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณี เยาวชนนักเคลื่อนไหว วัย 15 ปี โดยระบุว่า ธนลภย์ไม่มีผู้ปกครองมามอบตัวให้สมบูรณ์ภายในวันที่ 10 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่โรงเรียนจะต้องยืนยันข้อมูลจำนวนนักเรียนในระบบกระทรวงศึกษาธิการ จึงทำให้ไม่มีฐานข้อมูลในระบบ จึงไม่ได้เป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการในปีการศึกษา 2566 

หากสังเคราะห์ออกมา ปรากฏการณ์แบบนี้คล้ายๆ กับสิ่งที่ ‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ นักเคลื่อนไหวด้านการศึกษาคนสำคัญ ที่เคยออกมาแสดงจุดยืนในลักษณะการต่อต้านอำนาจนิยมในรั้วโรงเรียน โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘ทรงผม’ เมื่อสิบปีก่อน จนกลายเป็น ‘ตำบลกระสุนตก’ ถูกวิจารณ์จากทั้งสังคม และบุคคลกรในสถาบันการศึกษา 

วันนี้ในฐานะ ‘รุ่นพี่นักขับเคลื่อน’ ได้เขียนข้อความถึง ‘หยก’ ผ่านเฟซบุ๊กที่น่าคิดตามต่อ  

“เมื่อสิบปีที่แล้ว การแสดงออกของผม ทำให้ผมตกเป็นเป้าโจมตีจาก นร. ครู สังคมภายนอก เข้ามหาลัยก็ยังเจอบรรยากาศเลือกปฏิบัติไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีชีวิตรอดและเติบโตมาได้ก็เพราะกำลังใจของเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ครูไม่กี่คน รวมถึงผู้ใหญ่บางคนที่อาจไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วยกับการกระทำทั้งหมด แต่มีอารมณ์ขันพอ จะเห็นเจตนาดี ให้โอกาสเสมอ แต่บรรยากาศสังคมรวมๆ ในตอนนั้นก็ทำให้เครียด กดดัน ไม่น้อยเลย  

พอมาคิดถึงกรณี #หยก และน้องคนอื่นที่สู้ในยุคนี้ต้องเจอ ไม่แค่เจอการตีตรา แต่เจอคดีความต่างๆ ด้วย ความรู้สึกภายใน ความกดดันที่เจอคงสาหัสกว่าผมมากมายนัก ควรแล้วที่ผมต้องสนับสนุนพวกเขา เป็นกำลังใจและไม่ด่วนตัดสินชี้โทษ ผมไม่ควรโตไปเป็นคนแบบตอนนั้นที่เอาแต่เพ่งโทษผม (และเพื่อนๆ) แต่ควรเหมือนผู้ใหญ่จำนวนน้อยที่โอบอุ้มเข้าใจให้โอกาส ขอให้เราเป็นส่วนหนึงเปิดพื้นที่ใจแก่เมล็ดพันธุ์ใหม่ให้ได้งอกงาม” 

ผ่านมา 10 ปี หลายเรื่องถูกแก้ไขปรับเปลี่ยน แต่ประเด็นในรั้วการศึกษาวันนี้ คิดว่ามีอะไรต่างจากเดิมบ้าง...ที่ไม่ต่างจากเดิมคือ ‘ทั้งคู่’ ยังถูกสังคมถากทางเหมือนเดิม   

ปุจฉา...หรือจริงๆ แล้ว สิ่งที่ควรมองประเด็นที่เกิดขึ้น ทั้งกรณี ‘เนติวิทย์’ และ ‘หยก’ อาจไม่ใช่แค่เรื่องแนวคิดเยี่ยงขบถ อย่างการแต่งกายหรือทรงผม แต่อาจเป็นปัจจัยเรื่องสถาบันการศึกษา และภาวะสูญญากาศ ที่ทำให้เด็ก อายุ 15 ไม่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาตามที่ควรได้ตามสิทธิ์ 

เรื่องนี้ละเอียดอ่อน แล้วแต่ผู้อ่านจะพิจารณากันเอง แต่เชื่อเถอะปัจจัยคลี่คลายสถานการณ์ที่ดีที่สุด คือการหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ โดยต้องคำนึงถึงทุกๆ ฝ่าย  

‘เด็ก’ ต้องได้รับการศึกษา ไม่ต่างอะไรกับ ‘ดอกไม้’ ที่ต้องได้รับ ‘แสงแดด’ เพื่อ ‘เบ่งบาน’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์