เมื่อเด็กต้องพึ่งติวเตอร์ แต่เจอการสอนไม่เหมาะสม?

16 มีนาคม 2566 - 11:00

Education-Tutor-teach-decency-students-SPACEBAR-Thumbnail
  • ผู้เชี่ยวชาญแนะครูไม่ควรใช้คำหยาบคายและรุนแรง

  • เด็กเลียนแบบพฤติกรรมจากผู้ใหญ่

  • บันได 3 ชั้นในการปรับพฤติกรรมเด็ก

  • ความหวังของการเปลี่ยนระบบการศึกษาอยู่ที่ไหน

ครูกวดวิชาคนหนึ่ง กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ หลังมีการไลฟ์ให้เห็นถึงวิธีการพูดสอนนักเรียนที่สถาบัน โดยใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ แสดงความเห็นส่วนตัวที่ไม่เหมาะสม  

สถาบันกวดวิชาแห่งนี้ อยู่ในจังหวัดชลบุรี มีนักเรียนสมัครเรียนเพราะบอกกันปากต่อปากว่าเนื้อหาที่สอนดี ละเอียด แต่ในกระบวนการสอนจะให้นักเรียนสอบบ่อยมาก จนแทบไม่มีเวลาทำการบ้านและใช้เวลาส่วนตัว และให้ฝึกเจริญสติ หากใครไม่ทำก็จะถูกว่ากล่าว ซึ่งมีความเห็นส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการบังคับเกินความจำเป็น คล้ายกับลัทธิหนึ่ง จึงเรียกกันว่า ‘ลัทธิส่าย’

แม้ครูจะอ้างว่า การใช้ถ้อยคำไม่สุภาพนั้น ต้องการแสดงความสนิทสนมใกล้ชิดนักเรียนมากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นมองว่าการที่ครูใช้วิธีการนี้อาจพยายามสร้างเอกลักษณ์ให้สถาบันตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้อยคำและอารมณ์รุนแรง จะมีผลต่อพฤติกรรมเด็ก  

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ให้ความเห็นว่า ครูควรเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก  

แม้สิ่งที่ครูพูดเป็นข้อมูลความจริง แต่ควรเปลี่ยนวิธีการพูดและการสอนให้เหมาะสม  

การจะเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก ต้องใช้บันได 3 ชั้น  
 
  • ชั้นที่ 1 คือการพูด แต่พูดอย่างไรให้เด็กเกิดศรัทธา และศรัทธาไม่สามารถเกิดได้จากพลังลบ แม้แต่ครูในโรงเรียนภาคบังคับที่ไม่ใช่ครูกวดวิชา ถ้าเริ่มต้นตอนเช้าด้วยการด่า หรือตำหนิเด็ก สมองของเด็กจะปิดรับทันที  
  • ชั้นที่ 2 คือการลงมือทำ หากต้องการให้เด็กเข้าใจถึงความเหลื่อมล้ำ ควรชวนไปทำกิจกรรมพลังบวก เช่นการเป็นจิตอาสา  
  • ชั้นสูงสุดที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กได้อย่างแน่นอน คือ วิถีชีวิต เด็กจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของคนรอบข้างที่เขาพบเจอ ผู้ใหญ่คือต้นแบบ ถ้าผู้ใหญ่ใช้ความรุนแรงทั้งการการะทำและคำพูด เด็กก็จะมีแนวโน้มเป็นแบบเดียวกัน โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาจากครอบครัวและชุมชน ถ้าเด็กมีปัญหาตรงกับที่ผู้ใหญ่พูดซ้ำเติม ก็จะเป็นการสร้างบาดแผลเพิ่ม 

จากประเด็นของลัทธิส่าย ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงการควบคุมกระบวนการสอนที่เหมาะสมอย่างจริงจัง และเมื่อไหร่การเรียนในสถาบันการศึกษาภาคบังคับ จะเพียงพอต่อนักเรียนทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องเรียนพิเศษเพื่อสอบเข้าสถาบันการศึกษาอีกต่อไป 

รศ.นพ.สุริยเดว มองว่า การจะเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยต้องเริ่มที่คนในระบบการศึกษา ต้องเปลี่ยน mindset ใหม่ ที่ผ่านมาได้ยกเลิกการสอบเข้าเรียนระดับ ป.1 แล้ว แต่ก้าวต่อไปที่คุณหมออยากให้เกิด คือการยกเลิกการตัดเกรดในโรงเรียนประถม เน้นสมรรถนะเด็ก และเน้นความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ในระดับมัธยม แต่คุณหมอมองว่าหนทางยังอีกยาวไกล 

ขณะที่การยกเลิกระบบแพ้คัดออกหรือการสอบคัดเลือกในเวลานี้เป็นไปได้ยาก ความหวังในการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย จึงไปอยู่ที่ครูและสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะการคัดเลือกนักศึกษาเข้าระดับอุดมศึกษา ควรปรับเปลี่ยนเป็นการเน้นศักยภาพในหลายๆ ด้าน ไม่ใช่ตัดสินที่ผลการเรียนและการสอบเพียงอย่างเดียว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์