ไม่ใช่แค่ไข่ต้มแต่เป็น ‘อำนาจรัฐเหนือแบบเรียน’

26 เม.ย. 2566 - 02:30

  • สังคมยังเข้าใจผิดคิดว่ารัฐเป็นผู้บังคับใช้แบบเรียนเหมือนกันทั่วประเทศ โดยไม่รู้ว่าโรงเรียนเป็นผู้เลือกแบบเรียนเอง แต่อำนาจของโรงเรียนอาจไม่โปร่งใสเสมอไป

student-book-boil-egg-stage-power-SPACEBAR-Hero
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงเนื้อหาในหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ‘ภาษาพาที’ ที่ชาวเน็ตขุดกันมาถกเถียงมากมาย หลายเรื่อง ต่างพูดถึงความเหมาะสมของเนื้อหาที่ล้าสมัย ยัดเยียดค่านิยมเฉพาะ ทัศนคติ และความคิดที่ไร้เหตุผลและไม่เป็นรูปธรรม แต่มีคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นจากกระแสนี้ ไม่ใช่ใครเป็นคนเขียนเนื้อหา แต่เป็น ใครที่มี ‘อำนาจ’ ในการเลือกหนังสือมากกว่า  

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว SPACEBAR ถึงประเด็นนี้ 
  • สังคมยังเข้าใจผิด คิดว่าทุกโรงเรียนทั่วประเทศไทยถูกบังคับใช้หนังสือแบบเรียนเหมือนกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้เลือก แต่ความจริงแล้ว อำนาจหรือสิทธิขาดในการเลือกซื้อแบบเรียน อยู่ที่โรงเรียนมากว่า 10 ปีแล้ว  
  • ตามหลักการที่ถูกต้อง ผู้ที่ทำหน้าที่เลือกแบบเรียนในโรงเรียน คือ ครู ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือครูในแต่ละวิชาที่สอนอยู่นั่นเอง 
  • หนังสือภาษาพาที เป็นหนึ่งในแบบเรียน ซึ่งก็คือหนังสืออ่านประกอบในวิชานั้นๆ แต่ไม่จำเป็นว่าโรงเรียนต้องใช้แบบเรียนนั้นอย่างเดียว มีหลายโรงเรียนผลิตเอกสารการเรียนการสอนของตัวเอง เช่น โรงเรียนสาธิตฯ ผลิตแบบเรียนเองและใช้งบประมาณสมาคมผู้ปกครองช่วย รวมถึงโรงเรียนในสังกัดอื่น 
  • หนังสือแบบเรียนเป็นสวัสดิการที่รัฐให้ หรือได้มาฟรี แต่เหมือนเงินกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา กินเงินรายหัวเด็กแล้วเอาเงินมาซื้อแบบเรียนให้ โรงเรียนจึงต้องซื้อแบบเรียนทั้งชุดให้อยู่ในงบประมาณที่เพียงพอต่อเด็กหนึ่งคนในแต่ละปี ซึ่งแต่ละวิชา ใช้สำนักพิมพ์ที่ต่างกันได้ 
  • ผู้ผลิตหนังสือแบบเรียน แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกระทรวงศึกษาธิการ และเอกชน ซึ่งปัจจุบันที่ได้รับความนิยมมากกว่า คือแบบเรียนที่ผลิตโดยเอกชน เพราะเนื้อหา การเล่าเรื่อง สีสัน และบริการหลังการขายดีกว่า 
  • สำนักพิมพ์เอกชนมีการแข่งขันทางการตลาดเสรี มากว่า 3 ทศวรรษ อาจใช้วิธีการเสนอสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน การอบรมให้กับครู อย่างโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ไปติดให้ที่โรงเรียน ซึ่งมีอยู่ 5 - 6 สำนักพิมพ์  
  • เมื่อโรงเรียนมีอิสระในการเลือกซื้อแบบเรียน ทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียน อาจมีบทบาทในการชี้นำเลือกสำนักพิมพ์  
  • อาจมีการใช้อำนาจเชิงวัฒนธรรม เช่น ผู้ใหญ่จากตำบล เขต เรียกร้องให้ใช้แบบเรียนเล่มนี้ หรือกระทรวงแนะนำให้ใช้ 
  • หนังสือ ภาษาพาที ผลิตโดยองค์การค้าคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานในการผลิต 
  • กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ผลิตหนังสือแบบเรียนทุกวิชา อย่างวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ผลิตโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.)  
  • การทำหนังสือแบบเรียนจะขยายความมาจากหลักสูตร ทำเป็น Blueprint ว่าจะมีโครงสร้างแบบเรียนเป็นอย่างไร เสนอขอจัดทำแบบเรียนกับกระทรวง เสนอรายชื่อผู้เขียน โดยมีประวัติแนบ เมื่อผลิตเสร็จแล้วต้องผ่านการตรวจ  
  • สำนักพิมพ์เอกชน ต้องมีผู้ตรวจที่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงก่อน ส่วนใหญ่ผู้ตรวจเป็นนักวิชาการเฉพาะด้าน จากนั้นกระทรวงจะตรวจสอบให้ครบตามตัวชี้วัด 
  • มีการตั้งคำถามในการตรวจแบบเรียนของกระทรวง ว่าอาจไม่ได้ตรวจเข้มข้น เป็นการทำงานในเชิงแอดมินมากกว่า โดยอาจให้อำนาจไปที่ผู้ตรวจของสำนักพิมพ์ 
  • การผลิตหนังสือของกระทรวง มีการจัดตั้งคณะกรรมการในการผลิต ซึ่งบางครั้ง รายชื่ออาจารย์ผู้เขียนและคณะทำงานที่ปรากฎเป็นเพียงแค่ในนาม ไม่ได้เขียนเองทั้งหมด ดูเพียงโครง อ่านแล้วแสดงความเห็น  
  • มีการตั้งคำถามว่า หนังสือ ภาษาพาที มีเนื้อหาเชย เพราะใช้มา 10 กว่าปีแล้ว (หลักสูตร พ.ศ.2551) ไม่ได้ถูกนำมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ ถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวน 
  • ต้นทุน คือปัจจัยสำคัญ เพราะการทำแบบเรียนต้องทำให้ราคาถูก ขณะที่สำนักพิมพ์ จะพิมพ์หนังสือครั้งละจำนวนมากๆ มีสต็อกค้างไว้ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต การแก้ไขเนื้อหาแต่ละครั้ง ย่อมทำให้ต้นทุนสูงขึ้น 
  • การลดต้นทุน จึงเป็นเหตุให้หนังสือล้าสมัย ไม่ใช่หนังสือเล่มนี้เท่านั้น ยังรวมถึงเล่มอื่นๆ ที่มีอายุเป็น 10 ปี เมื่อเนื้อหาไม่ทันสมัย ครูจึงต้องทำเอกสารการสอนเพิ่มเติมให้กับนักเรียน 
  • เรื่องต้นทุน ยังทำให้หนังสือไม่มีคุณภาพพอ ไม่น่าสนใจ เช่นกระดาษบาง ภาพสีน้อย 
  • ปัญหาคือ ความเหลื่อมล้ำ ถ้าโรงเรียนใหญ่ๆ หรือมีงบประมาณ ครูก็มีเวลาในการทำเอกสาร หรือสื่อเพิ่มเติม รวมถึงสื่อมีคุณภาพดีกว่า ทั้งเนื้อหาและรูปแบบของสื่อ เช่น ปรินต์สี สื่อดิจิทัล หลายโรงเรียนครูมีศักยภาพในการทำเอกสารที่ดี 
  • โรงเรียนห่างไกล เสียเปรียบ เพราะครูไม่มีเวลา และมีงบประมาณน้อย ทำให้ไม่สามารถทำเอกสารหรือเสริมสื่อการเรียนเพิ่มเติมที่มีคุณภาพให้กับนักเรียนได้  
  • บางโรงเรียนครูยึดแบบเรียนเป็นหลัก ต้องสอนตามแบบเรียนให้หมด ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ที่จริงแล้วควรเป็นเพียงหนังสืออ่านประกอบ เพราะแบบเรียนอาจไม่ตอบโจทย์นักเรียนในแต่ละโรงเรียน 
  • ประเด็นเปราะบาง คือ ไม่ใช่แค่ผู้บริหาร มีอำนาจในการชี้นำเลือกสำนักพิมพ์ตามโปรโมชันเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องในการทุจริตได้ 
  • การให้อำนาจโรงเรียนในการเลือกแบบเรียนเอง กลายเป็นเหรียญสองด้าน เพราะการบังคับใช้ทั้งประเทศก็เกรงว่าจะมีปัญหาว่าถูกครอบงำโดยรัฐ แต่เมื่อให้สิทธิโรงเรียน ก็ควรมีการติดตาม ตรวจสอบความโปร่งใสด้วย 
  • พ่อแม่ควรอ่านแบบเรียนของลูก แล้วส่งเสียงสะท้อนแทนเด็ก เพื่อให้เกิดการเลือกใช้แบบเรียนที่เหมาะสม โดยสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นกลุ่มสมาคมผู้ปกครองต่อโรงเรียน และถือเป็นบทบาทสำคัญอย่างมากในการป้องกันการทุจริต 
  • เราต้องช่วยกันทำให้โรงเรียนมีความเข้มแข็ง โดยตั้งคณะกรรมการที่มีผู้แทนเป็นผู้ปกครอง หรือศิษย์เก่า เพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้ เพราะบางโรงเรียนอยู่ในโครงสร้างอำนาจรัฐ ถ้าครูมีเสียงเบากว่าผู้บริหาร ผู้ปกครองก็ต้องเข้าไปมีบทบาทในการทำหน้าที่แทนครู แสดงความคิดเห็นในการเลือกหนังสือ ย้ำว่าผู้ปกครองมีสิทธิในการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเลือกแบบเรียน 
  • หนังสือวรรณกรรมที่เด็กหลายคนได้อ่าน ยังมีความน่าสนใจกว่าแบบเรียนหลายเล่ม ทำให้นักเรียนเลือกที่จะไม่อ่านแบบเรียนเหล่านั้น 
  • สรุปแล้วแบบเรียน ควรมีความทันสมัย เปิดโอกาสให้โรงเรียนเลือกอย่างโปร่งใส ไร้อำนาจสั่งการชี้นำ และกระทรวงการศึกษาธิการควรมีความรอบคอบในการผลิตแบบเรียนมากขึ้น 

ไม่ว่าจะประเด็นดราม่าไข่ต้มคลุกน้ำปลา ข้าวมันไก่ บริจาคเงินจนหมดและอีกมากมาย ล้วนเป็นประเด็นปลีกย่อยที่สังคมกำลังสนใจ แต่นับเป็นข้อดีที่เกิดการตั้งคำถามนำไปสู่ประเด็นใหญ่ที่ควรถกเถียงมากกว่า คือเรื่องคุณภาพของแบบเรียน และถามถึง “อำนาจรัฐ ที่อยู่เหนือแบบเรียน” ว่าคืออะไร ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ต้องปรับเปลี่ยนเสียที

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์