ความหวังนักเรียนไทยไม่ต้องเรียนกวดวิชาอยู่ที่ไหน

21 มีนาคม 2566 - 02:21

Education-why-students-study-tutors-SPACEBAR-Thumbnail
  • ผลสำรวจชี้ นักเรียนครอบครัวยากจน มีค่าเรียนกวดวิชา เฉลี่ยปีละ 6,000 บาท และครอบครัวร่ำรวย จ่ายเฉลี่ยปีละ 20,000-22,000 บาท

  • นักเรียนที่เรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแต่อยู่นอกเมือง รองลงมาคือ ในอำเภอเมือง

  • นักเรียนหลายคนเผชิญปัญหาการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่มีคุณภาพ

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นเห็นว่าควรยกเลิกระบบสอบคัดเลือกและการตัดเกรด

การเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน วันเสาร์อาทิตย์ หรือแม้กระทั่งช่วงปิดเทอม กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตนักเรียนไทย ที่เราคุ้นชินกันมายาวนาน ขณะที่แต่ละปี พ่อแม่ต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษหรือกวดวิชาในจำนวนไม่น้อย  

จากข้อมูลการสำรวจเยาวชน 2022 ของศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)  

พบว่า นักเรียนครอบครัวยากจน มีค่าเรียนกวดวิชา เฉลี่ยปีละ 6,000 บาท และครอบครัวร่ำรวย จ่ายเฉลี่ยปีละ 20,000-22,000 บาท 

สำหรับครอบครัวที่มีรายได้สูง แม้จะจ่ายค่าเรียนกวดวิชาที่สูงกว่า แต่คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากต่อรายได้ครัวเรือนเพียง 2.2 % ขณะที่ครอบครัวรายได้น้อย คิดเป็นสัดส่วนที่สูงมากต่อรายได้ครัวเรือนถึง 6.4%  

อีกตัวเลขที่น่าสนใจคือ จำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชามากที่สุด ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่เป็นนักเรียนนอกเมือง 35.6% รองลงมาคือ ในอำเภอเมือง 33.9 % ส่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเพียง 19.5%  

นอกจากนี้นักเรียนครอบครัวยากจนยังต้องทุ่มเทเวลาเรียนพิเศษ มากกว่าอีกด้วย 

ซึ่งนี่อาจแสดงให้เห็นว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนของนักเรียนครอบครัวยากจน และโรงเรียนนอกเมืองมีคุณภาพน้อยกว่าโรงเรียนที่นักเรียนฐานะร่ำรวยเรียน และโรงเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งประสบปัญหาด้านบุคลากรและทรัพยากรในโรงเรียนน้อยกว่า 

สาเหตุที่นักเรียนต้องพึ่งพาการเรียนพิเศษ อาจเพราะการเรียนในโรงเรียนอย่างเดียว ทำให้พวกเขาไม่เข้าใจเนื้อหา ผลสำรวจพบว่า นักเรียนอายุ 15-18 ปี หลายคน เผชิญปัญหาด้านบุคลากร คือครูไม่เปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ครูไม่มีเวลาหรือไม่ใส่ใจที่จะสอน และครูไม่มีความรู้ในเรื่องที่สอน และปัญหาด้านทรัพยากร เช่น สื่อการสอนล้าสมัย คอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอ ห้องสมุดหรือหนังสือไม่เพียงพอ เรียกได้ว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่มีคุณภาพ 

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ให้ความเห็นว่าควรให้โอกาสครู ปรับวิธีการสอนใหม่ โดยหน่วยงานที่ดูแล ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา ไม่ใช่ควบคุม เพื่อให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากขึ้น 

และอีกสาเหตุที่นักเรียนต้องเรียนกวดวิชาเพิ่ม คือการติวเพื่อสอบ โดยเฉพาะสอบเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เรียกว่าเป็นระบบแพ้คัดออก ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นมองว่า ควรยกเลิกไปจากระบบการศึกษาไทย 

ตราบใดที่นักเรียนยังต้องเผชิญปัญหาด้านคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียน และการสอบคัดเลือก ที่ข้อสอบยากกว่าเนื้อหาที่นักเรียนเรียนในโรงเรียน  

ความหวังที่นักเรียนไม่จำเป็นต้องเรียนกวดวิชา ก็ยากที่จะเป็นจริง ซึ่งนี่ก็ยังบีบให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น  

ส่วนนักเรียนต้องจัดเวลาว่างจากการเรียนในโรงเรียนมาติวเพิ่ม บางคนแทบไม่มีเวลาเล่น เรียนรู้หรือใช้ชีวิตส่วนตัว อาจเกิดความเครียด กดดัน วิตกกังวล จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าตามมาได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์