จี้ ‘ทีมชัชชาติ’ ตอบปมสัญญา ‘ทางยกระดับ’ ถล่ม

11 ก.ค. 2566 - 09:38

  • ‘มัลลิกา’ จวก ‘ชัชชาติ-ผู้บริหาร กทม.’ ชุ่ย

  • แฉหลักฐาน มีการแก้ไขสัญญา 2 ครั้ง จนเป็นเหตุนำมาสู่ความสลดจนได้

Mallika-commented-highway-collapse-SPACEBAR-Hero
‘มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข’ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียและเสียใจกับประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ซึ่งตนก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีทะเบียนบ้านเป็นพลเมืองในกรุงเทพมหานคร พร้อมกันนี้ก็เป็นประชากรที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามพรรคประชาธิปัตย์มี ‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสถานคอยติดตาม และเตือนการก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รับความใส่ใจจากกรุงเทพมหานครเท่าที่ควร โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย สุดท้ายก็พังลงมาและมีการสูญเสียชีวิต 

ดร.มัลลิกา กล่าวว่า โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช - ลาดกระบังโดยกรุงเทพมหานคร โครงการนี้สร้างเพื่อให้การจราจรบนถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังมีความรวดเร็วรองรับการเจริญเติบโตของชุมชนและสนามบิน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และเพิ่มประสิทธิภาพโครงการคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตลาดกระบัง ระยะทางรวมทั้งโครงการ 3,500 เมตร การก่อสร้างทางยกระดับก่อสร้างปรับปรุงสะพาน ก่อสร้างระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าและแสงสว่างระบบจราจรสงเคราะห์ และงานอื่นที่เกี่ยวข้องโดยสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครและออกแบบโดยสำนักงานวิศวกรรมทาง ของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร  

สัญญาเริ่มวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 งบประมาณทั้งสิ้น 1,664 กว่าล้านบาทเป็นเงินกรุงเทพมหานครร้อยเปอร์เซ็นต์โดยทำการผูกพันงบประมาณให้ก่อสร้างแล้วเสร็จถึงปี 2567 เบิกจ่ายเงินไปแล้ว 9 ครั้งเป็นเงิน 337 กว่าล้านบาทผู้รับจ้างคือกิจการร่วมค้าแห่งหนึ่ง ที่ต้องถูกสอบสวน  

ดร.มัลลิกา ระบุว่า สิ่งที่น่าสังเกตคือมีการปรับตามแผนงานเร่งรัดอัตราค่าปรับร้อยละ 0 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2567 รายละเอียดที่สำคัญตั้งแต่เริ่มสัญญามีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566  

สิ่งที่น่าสังเกตคือว่าเคยมีการยื่นกระทู้ถามจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ขณะเดียวกันรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนหนึ่ง ได้ระบุไว้เวลานั้นและรายงานผ่านสื่อมวลชนด้วยว่าทางกรุงเทพมหานครได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างทางยกระดับจากแบบเดิมที่เป็นก่อสร้างแบบ Girder Box Segment ซึ่งติดตั้งแบบหล่อคอนกรีตและเทในที่ให้เป็น Precast Box Segment โดยหล่อจากโรงงาน และขนย้ายมาติดตั้งบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และรองผู้ว่าฯ คนนั้นระบุว่าจะแจ้งให้ผู้รับจ้างเพิ่มแรงงานวัสดุและเครื่องจักร เพื่อเร่งรัดงานก่อสร้างให้เร็วขึ้นและลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง  

“แสดงให้เห็นว่าเป็นความผิดพลาดที่นโยบายกับวิสัยทัศน์ของฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครใช่หรือไม่ ในการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง ซึ่งฝ่ายบริหารไม่ว่าจะเป็นรองผู้ว่าฯ หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใช้ข้อมูลทางด้านวิศวกรรมสถานมารองรับการปรับเปลี่ยนแล้วหรือไม่ การเร่งรัดโดยขาดวิสัยทัศน์อันเฉียบคม หรือเชี่ยวชาญจนทำให้กลายเป็นโศกนาฏกรรมนี้ต้องรับผิดอย่างไร เรื่องนี้ต้องมีคำตอบและการสอบสวนเพราะเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารกรุงเทพมานคร โดยเฉพาะผู้ว่าฯ เพราะการบริหารชุ่ยในเรื่องนี้ แค่คำขอโทษก็ไม่เพียงพอต่อความสูญเสีย เพราะนอกจากชีวิต และทรัพย์สินประชาชน แล้วยังเป็นความเชื่อมั่นของประเทศอีกด้วย” มัลลิกา กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์