สตช.รวม 18 กลโกงออนไลน์ เตรียมส่งถึง ปชช.เป้าหมาย 1.5 ล้านครัวเรือน ป้องกันตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

14 ธ.ค. 2565 - 09:01

  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวบรวมกลโกงออนไลน์ 18 รูปแบบ

  • จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เตรียมส่งถึงบ้านประชาชนเป้าหมาย 1.5 ล้านครัวเรือน

  • สร้างการรู้เท่าทันมิจฉาชีพ ป้องกันตกเป็นเหยื่อ

Police-reveal-statistics-of-the-top-10-online-threats-Prepare-to-send-warning-to-the-people-homes-SPACEBAR-Hero
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และนายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้รวบรวมกลโกงออนไลน์ 18 รูปแบบ รวมทั้ง แนวทางป้องกัน เพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนได้รู้เท่าทันมิจฉาชีพ 

ทั้งนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ จะส่งสื่อประชาสัมพันธ์ดังกล่าว นำร่อง 1.5 ล้านชุด ไปยังบ้านเรือนประชาชนทั่วประเทศ เน้นพื้นที่ที่ได้รับแจ้งความว่ามีการกระทำผิดบ่อย รวมถึงอำเภอเมือง หรือจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่น เพื่อให้รู้เท่าทันกลโกง ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ และจัดส่งอีก 5 แสนชุด ไปยังสถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อให้ตำรวจใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน 

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ยวันละ 800 คน เนื่องจาก คนร้ายมีการปรับเปลี่ยนวิธีกลโกงหลากหลายรูปแบบ โดย 3 อันดับแรก คือ การหลอกลวงซื้อขายสินค้า / หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม และหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 10 ธันวาคม 2565 ตำรวจได้รับการแจ้งความเกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์กว่า 140,000 คดี มูลค่าความเสียหายเกือบ 10 ล้านบาท  

ทั้งนี้ ยืนยันว่า ตำรวจจะเร่งปราบปรามผู้กระทำผิด ทั้งในประเทศและนอกประเทศ รวมทั้ง ปรับแก้กฎหมายเพิ่มโทษผู้กระทำผิด แก้ปัญหาระยะยาว ควบคู่การสร้างความรู้ให้ประชาชน 

ผบ.ตร. กล่าวต่อว่า สำหรับกลโกงที่มิจฉาชีพนิยมใช้ 18 รูปแบบ เช่น คอลเซ็นเตอร์ หลอกขายสินค้าออนไลน์หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ ปลอมหรือแฮกบัญชี ไลน์ เฟซบุ๊ก แล้วหลอกยืมเงิน หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ทางไกลเพื่อขโมยข้อมูล ส่งคิวอาร์โค้ดหลอกให้โอนเงิน หลอกให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย และข่าวปลอม เป็นต้น  

หากประชาชนถูกหลอกลวง สามารถแจ้งความได้ทาง www.thaipoliceonline.com นอกจากนี้ ยังสามารถปรึกษา หรือขอรับคำแนะนำตลอด 24 ชั่วโมง ได้ที่คอลเซ็นเตอร์ 1441 หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 

ทั้งนี้ สตช. ได้เปิดสถิติของการหลอกลวงทางไซเบอร์สูงสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ 

1. หลอกลวงซื้อขายสินค้า จำนวน 47,864 ครั้ง คิดเป็น 32.78% ความเสียหาย 695,562,100 บาท 

2. หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม จำนวน 20,325 ครั้ง คิดเป็น 13.92% ความเสียหาย 2,297,494,979 บาท  

3. หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน จำนวน 17,559 ครั้ง คิดเป็น 12.02% ความเสียหาย 742,731,024 บาท 

4. หลอกให้ลงทุน (ที่ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกง) จำนวน 13,572 ครั้ง คิดเป็น 9.29% ความเสียหาย 66,100,207,026 บาท 5.หลอกลวงทางโทรศัพท์เป็นขบวนการ (call center) จำนวน 11,178 ครั้ง คิดเป็น 7.65% ความเสียหาย 2,338,579,710 บาท 

6. หลอกลวงซื้อขายสินค้า (เป็นขบวนการ) จำนวน 8,022 ครั้ง คิดเป็น 5.49% ความเสียหาย 54,309,000 บาท 

7. หลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน จำนวน 4,158 ครั้ง คิดเป็น 2.85% ความเสียหาย 166,253,946 บาท 

8. หลอกให้โอนเงิน (ไม่เป็นขบวนการ) จำนวน 2,711 ครั้ง คิดเป็น 1.86% ความเสียหาย 17,926,215 บาท 

9. หลอกให้รักแล้วลงทุน จำนวน 2,444 ครั้ง คิดเป็น 1.67% ความเสียหาย 1,063,173,413 บาท

10. เงินกู้ออนไลน์ ดอกเบี้ยเกินอัตรา จำนวน 1,996 ครั้ง คิดเป็น 1.37% ความเสียหาย 17,208,545 บาท 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์