PM 2.5 ปัญหาค้างเติ่ง เพราะทุนผูกขาด รัฐบาลไร้สมรรถภาพ หรืออากาศดีๆ ที่ไม่มีทางเป็นจริง

12 เม.ย. 2566 - 08:39

  • แม้ไม่มีการเผา จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันข้ามพรมแดนมากถึง 60-70%

  • 30-40% คือผลกระทบจากฝุ่นควันข้ามพรมแดนของภาคเหนือ 9 จังหวัด (ถึงแม้ไม่มีการเผาในพื้นที่)

  • 4 ปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บริเวณแม่สายและแม่สอดเพิ่มสูงขึ้น ต้องมีการตรวจสอบว่าข้าวโพดที่นำเข้า เกี่ยวพันกับพื้นที่ที่มีจุดความร้อนหรือไม่

  • การแก้ปัญหา PM2.5 ต้องเริ่มต้นที่กฎหมาย มาตรการ และการบังคับใช้อย่างจริงจัง

TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Thumbnail

PM2.5  ทุนผูกขาด และภาวะขาดสิทธิในอากาศของประชาชน 

“เราเคยต่อสู้เรื่องตั๋วช้าง หากจะมีตั๋วข้าวโพด เราก็จะสู้ครับ” 

ในฐานะตัวแทนพรรคก้าวไกล เดชรัต สุขกำเนิด ตอบคำถามผู้ร่วมเสวนาหญิงรายหนึ่งที่ถามตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรคว่า “ในฐานะพรรคการเมือง จะมีนโยบายหรือกฎหมายที่จะควบคุมการค้าผูกขาดอย่างไร” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5zt9DtlmQxEidpljdWHrya/e6558be02e37e92cdea78d6ca7398b5d/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Photo01
Photo: เดชรัต สุขกำเนิด
ปรากฎการณ์ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่สูงเกินค่ามาตรฐานไปไกลโขจนอยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพและประชาชนในกลุ่มเสี่ยง ยาวนานต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือนแล้ว ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และภาพเหนือตอนบนต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 

ขณะที่ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการลงทุนของบริษัทผลิตอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ของไทยในประเทศเพื่อนบ้านกับปัญหามลพิษก็ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า พรรคการเมืองและรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งจะมีการกำกับและควบคุมธุรกิจที่ก่อมลพิษนี้อย่างไร
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1of18ylafSdy84QVVsVAiQ/9de0db41eb2a1dfa6fde7e56ac6761c9/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Photo02
Photo: ภาพดาวเทียมของ NASA Firm แสดงการเผาป่าบริเวณภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน รอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ณ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2566

เชื้อไฟของฝุ่นควัน 

“ฝุ่นควันไม่มีพรมแดนครับ” 

ผศ.ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวย้ำระหว่างการบรรยายในวาระพิเศษ ฝุ่นข้ามแดนมีสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ของฝุ่นทั้งหมด ก่อนที่จะแสดงข้อมูลจากแบบจำลองที่แสดงให้เห็นสัดส่วนของฝุ่นข้ามแดนที่มีแหล่งกำเนิดจากการเผาชีวมวล โดยตัดปัจจัยการเผาชีวมวลในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนออกไปจากแบบจำลอง เพื่อตอบคำถามว่า ‘ถ้าเราไม่เผา PM2.5 ข้ามแดนมาเท่าไร’

“ผมได้ใช้แบบจำลองควบคู่อุตุนิยมวิทยาและเคมี WRF-Chem เพื่อศึกษาปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนประเทศไทยในการประเมินสถานการณ์ PM 2.5 ในปี พ.ศ.2562-2564”
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7bpOau8Ku7EDKjbf2DvoJL/6422a943dc8bc22b12da56b3fb813aa8/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Photo03
Photo: มลพิษทางอากาศจากฝุ่นควันในเชียงใหม่ ถ่ายเมื่อ 10 เมษายน พ.ศ.2566 (AFP)
ผศ.ดร.ชาคริต กล่าวถึงข้อมูลที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย ‘การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศและสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เพื่อการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งมี ผศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา 

“เราอยากรู้ว่าหากทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือไม่มีการเผาเลย เราจะได้รับฝุ่นควันจากพื้นที่อื่นในสัดส่วนเท่าไร” ผศ.ดร.ชาคริต ตั้งต้นที่โจทย์ในการวิจัย 

ข้อมูลจากแบบจำลองในเดือนมีนาคมปี พ.ศ.2562 เผยให้เห็นค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่มีสัดส่วนสูง ขณะที่จำนวนจุดความร้อนกลับปรากฎในสัดส่วนตรงข้าม เมื่อวิเคราะห์การข้ามแดนของ PM2.5 โดยตัดแหล่งกำเนิดภายในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนออกไป พบว่า ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายและบางอำเภอในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดน่าน มีสัดส่วนฝุ่น PM2.5 ที่ข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6UMlmUjDYHX6SLdwkAraRv/22baea00adb146a925d1d93192ce3197/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Photo04
Photo: ฝุ่นควันปกคลุมภูเขาในแม่ฮ่องสอน ถ่ายเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ.2556 (AFP)
“จากข้อมูลก็เห็นได้ชัดเจนว่าแม่สายและบางอำเภอในจังหวัดน่านได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 ข้ามแดน ผมขอย้ำอีกครั้งนะครับ ถ้าเราสร้างแบบจำลองเพื่อหาคำตอบว่า การเผาชีวมวลในพื้นที่ภาคเหนือส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นอย่างไร เราจะได้ภาพ Scenario อีกภาพครับ” 

“ดังนั้นเราควรที่จะมีข้อมูลอย่างรอบด้านว่า มลพิษที่เราก่อนั้นได้สร้างผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านในสัดส่วนเท่าไร เพื่อที่จะเป็นข้อมูลให้ผู้มีอำนาจนำไปเจรจาเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาในระดับภูมิภาคอาเซียน” ผศ.ดร.ชาคริต กล่าว 

ขณะที่แบบจำลองช่วงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ - 7 มีนาคม พ.ศ.2564 เมื่อตัดแหล่งกำเนิดจากการเผาชีวมวลในพื้นที่ออกไป พบว่าจังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันข้ามพรมแดนในสัดส่วน 60-70 เปอร์เซ็นต์ และหากทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนไม่เผาชีวมวลเลยในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ได้รับผลกระทบจากฝุ่นข้ามแดนที่ 30-40 เปอร์เซ็นต์

จากแบบจำลองที่เราทำ แม้ว่าเราจะไม่เผาเลย เราก็ยังได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันข้ามแดน

“จากแบบจำลองช่วงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ - 7 มีนาคม พ.ศ.2564 จะเห็นว่าฝุ่นควัน PM2.5 สามารถข้ามแดนได้ไกลมาก แม้แต่ฝุ่นควันจากจีนตอนใต้ในบางช่วงเวลาก็ลอยข้ามมาในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เช่นกัน ซึ่งแบบจำลองในช่วงเวลาดังกล่าวมีความคล้ายกับสถานการณ์ในปี พ.ศ.2566 คือมีการเผาอย่างเข้มข้นในประเทศเพื่อนบ้าน และกระแสลมจากทิศตะวันตกได้พัดเอาฝุ่นควันจากแหล่งกำเนิดเข้ามาในประเทศ”

“จากแบบจำลองที่เราทำ แม้ว่าเราจะไม่เผาเลย เราก็ยังได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันข้ามแดน ผมขออนุญาตย้ำตรงนี้นะครับว่า หากเราเผา ควันจากการเผาในประเทศเราก็ลอยไปส่งผลกระทบในที่อื่นด้วยเช่นกัน เราควรจะมีข้อมูลทั้งสองด้านเพื่อความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมและสร้างกลไกในการกำหนดมาตรการร่วมของผู้มีอำนาจในภูมิภาคครับ” ผศ.ดร.ชาคริต กล่าว 

ผศ.ดร.ชาคริต ย้ำว่า ข้อมูลที่เขายกมานี้เป็นเพียงฝุ่นควันที่มีแหล่งกำเนิดจากการเผาชีวมวลหรือการเกษตรที่พึ่งพาไฟ แต่ PM2.5 ยังมีปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟในพื้นที่ป่า การจราจร และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งแหล่งกำเนิดจะแตกต่างกันไปในบริบทของแต่ละพื้นที่
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/CqUqTLzMJJeo1lvv1k2wR/249498b96b2a444573cc8dcdbd0cfc2b/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Photo05
Photo: สภาพอากาศตัวเมืองเชียงใหม่ ถ่ายเมื่อ 11 เมษายน พ.ศ.2566 (AFP)
ผศ.ดร.ชาคริต เสนอว่า หากแรงจูงใจในการใช้ไฟเกิดขึ้นในภาคการเกษตรที่มีการนำเข้าผลผลิตอย่างกรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผู้ได้รับผลประโยชน์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องก็ควรมีกระบวนการแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต 

มาตรการหนึ่งที่ใช้เป็นกลไกในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงคือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป เป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิก EU
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6GiYXbvtmDYx6XZpPdfw0p/7b264d195395ae2c34c3d343909fade9/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Photo06
Photo: มาตรการ CBAM ปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (euractiv.com)
“ผมมองว่าเราใช้ PBAM ดีไหม (ผศ.ดร.ชาคริต ดัดแปลงคำเต็มของ CBAM เป็น PBAM หรือ PM2.5 Border Adjustment Mechanism - ผู้เขียน) ซึ่งหากเรายังจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเกษตรที่ก่อมลพิษ เราก็ต้องย้อนรอยเส้นทางของ PM2.5 Footprint เพื่อทวงถามว่ากลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์นี้มีส่วนรับผิดชอบตรงนี้หรือเปล่า ผมมองว่า CBAM น่าจะเป็นกลไกที่เป็นไปได้” ผศ.ดร.ชาคริต 

แก้ปัญหา PM2.5 ด้วยกลไกในรัฐสภา 

แหล่งกำเนิดมลพิษที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุด หนีไม่พ้นฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีสาเหตุมาจากการเผาในภาคเกษตรที่ได้รับการลงทุนจากบริษัทเอกชนไทย 

ความสนใจของผู้เข้าร่วมงานและตัวแทนพรรคการเมืองที่มาร่วมอภิปรายในงาน Alliance Against the Haze เพื่อน/สู้/ควัน วงคุยประชาชน หวังฝ่าวิกฤต Climate of Fear ที่ถูกจัดขึ้น ณ Greencery TH เชียงใหม่ ในช่วงต้นเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงที่ค่าฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาเป็นเดือนที่สามแล้ว จึงถ่ายเทน้ำหนักไปยังแหล่งกำเนิดการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และมีความซับซ้อน แต่ทุกคนก็ตระหนักดีว่าแหล่งกำเนิดมลพิษ PM2.5 มีที่มาหลายแหล่ง และต้องแก้ไขทุกแหล่งกำเนิด
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2oWxIPbicVHfszftrSg5gb/19960a0f6383ab72e53dbad770a7c5ad/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Photo07
Photo: ประชาชนในงานอภิปรายถามตัวแทนพรรคการเมือง
“ประเทศไทยมีกฎหมายการป้องกันทุนผูกขาดอยู่แล้วครับ” เดชรัต สุขกำเนิด เกริ่นนำถึงเครื่องมือการกำกับและควบคุมการผูกขาด ก่อนจะบอกว่า 

“เพียงแต่ว่าในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีใครได้รับความผิดจากกฎหมายข้อนี้ เราต่อสู้เรื่องทุนผูกขาดมาตลอด กรณีโลตัสควบรวมกับซีพีออลล์ ก้าวไกลก็ต่อสู้เรื่องนี้ในสภา ดีแทคควบรวมกับทรู เราก็ต่อสู้เรื่องนี้ในสภา เราถือว่าปัญหาที่สำคัญของประเทศคือทุนผูกขาด ดังนั้นเราต้องทลายทุนผูกขาด เช่นเดียวกัน การแก้ปัญหาเรื่องอาหารสัตว์ เราสามารถทำโดยทุนรายย่อย ดังนั้นเราจะต่อสู้เรื่องนี้ต่อไปแน่นอน” 

ถามว่าใช้กฎหมายอะไรในการควบคุมผลผลิตทางการเกษตรที่ก่อมลพิษ เดชรัต กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมาย GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี - Good Agricultural Practices: GAP) เพียงแต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพ

“เราต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับว่าข้าวโพดที่นำเข้ามา มีแหล่งกำเนิดจากพื้นที่ที่มีจุดความร้อนหรือไม่” เดชรัต ระบุ

ปัญหาที่สำคัญของประเทศคือทุนผูกขาด ดังนั้นเราต้องทลายทุนผูกขาด

หลายคนกล่าวถึงกฎหมายที่มีต้นแบบจากสิงคโปร์ที่เรียกว่า Transboundary Haze Pollution Act หรือกฎหมายที่จะเอาผิดกับผู้ที่ก่อให้เกิดมลภาวะในประเทศเพื่อนบ้าน 

“ถามว่าเอาผิดกับใคร ก็เอาผิดกับเอกชนไทยที่ไปส่งเสริมให้เกิดการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วนำเอาผลผลิตเข้าประเทศ นี่คือระยะสั้นและระยะยาวครับ แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมว่าในประเทศเพื่อนบ้านก็มีชะตากรรมเรื่องไฟป่าแบบเดียวกับเรา เพราะฉะนั้นการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในกรอบอาเซียนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องไฟป่าในบ้านของเขาก็สำคัญกับบ้านของเราเช่นกัน ต้องทำทั้งสองทาง” เดชรัต กล่าว 

ขณะที่หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย หรือ Polluter Pay Principle (PPP) ก็ได้ถูกกล่าวถึงในฐานะเครื่องมือหนึ่งในการกำกับดูแลเอกชนโดย จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเขาระบุว่า หลักการ PPP ถูกบรรจุใน พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่ถูกปัดตกด้วยเงื่อนไขของการยุบสภาผู้แทนราษฎร
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4dGmLizD66q4TRFpqs2KcL/100788f107b04f41eedc1ccf56b68e33/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Photo08
Photo: จักรพล ตั้งสุทธิธรรม
“ผมเป็นผู้ยื่น พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ถูกตีตกไป” จักรพล ระบุ ก่อนจะบอกว่า ข้อมูลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นสัดส่วนการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตรงบริเวณแม่สายและแม่สอดที่เพิ่มขึ้น 4 เท่า ประมาณ 10 กว่าล้านไร่ ทั้งในประเทศพม่าและลาว ซึ่งเป็นปัญหาระหว่างประเทศที่ซ้อนทับกับปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศที่แต่ละประเทศในภูมิภาคจะต้องร่วมกันแก้ไข 

“เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.อากาศสะอาด ต้องผ่านสภาครับ” เขายกตัวอย่างการมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นเหมือนการแต่งกายไปเจรจากับประเทศในกลุ่มอาเซียน 

“ทุกวันนี้เราเหมือนใส่บ๊อกเซอร์ตัวเดียวกับรองเท้าแตะ จะไปคุยกับต่างชาติ เขาไม่คุยด้วยนะครับ เพราะแม้แต่กฎหมายในประเทศ คุณยังไม่มีเลย คุณมีความจริงใจอะไรในการแก้ปัญหานี้ ใครจะไปคุยกับคุณ สิ่งที่เราต้องทำคือบรรจุ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ให้เป็นกฎหมาย แต่งตัวให้เสร็จ แล้วไปชนกับอาเซียน เพื่อสร้างกรอบในการเจรจา ทวงคืนอากาศสะอาดกลับมา นี่คือกุญเเจดอกใหญ่ครับ พ.ร.บ.อากาศสะอาดต้องผ่านสภาและบังคับใช้เป็นกฎหมาย” จักรพล ระบุ

ทุกวันนี้เราเหมือนใส่บ๊อกเซอร์ตัวเดียวกับรองเท้าแตะ จะไปคุยกับต่างชาติ เขาไม่คุยด้วยนะครับ เพราะแม้แต่กฎหมายในประเทศ คุณยังไม่มีเลย

ขณะที่ จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงศ์ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุในทิศทางเดียวกันว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องไม่ผลักภาระให้พี่น้องประชาชน และต้องเพิ่มแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ในการแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น 

“เราต้องยึดหลักผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ กฎหมายอากาศสะอาดที่จะเกิดขึ้นต้องยึดหลักนี้เหมือนสิงคโปร์และที่อื่นๆ เราจึงจะสามารถจัดการกับต้นตอของปัญหาได้ การสร้างกฎหมายที่จะคุ้มครองประชาชนจากมลพิษเป็นเรื่องเร่งด่วนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เราต้องการผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งถือว่าควรจะต้องเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการระดมพลังระหว่างวิชาการ ภาคประชาสังคม องค์กรชุมชนต่างๆ ไม่ใช่องค์รัฐชี้นำ สั่งการแนวดิ่ง ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาจากรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ก็เลยเกิดปัญหา” 

ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ยังระบุว่า การแก้ปัญหาจะต้องเป็นการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่โดยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/20uLSsAoM3w5d0M1EK3Jv0/23420afad1e078600f5e8f0251e65e3c/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Photo09
Photo: จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงศ์
“การแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแก้ปัญหา โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด ผมคิดว่าผู้ว่าราชการที่มาจากการแต่งตั้ง อาจจะไม่ครอบคลุมการแก้ปัญหาได้สมบูรณ์ จุดยืนของเราก็คือในจังหวัดที่เป็นเมืองหลักของประเทศ อย่างเชียงใหม่ สมควรหรือยังที่จะต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ” จักรวาลธวัฒน์ กล่าว 

ชะตากรรมของกฏหมายอากาศสะอาด ชะตาชีวิตของประชาชน 

ในช่วงปี พ.ศ.2563 จนถึงปี พ.ศ.2565 มีร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหามลพิษและอากาศสะอาดที่เสนอต่อสภาเป็นจำนวน 5 ฉบับ 

ฉบับแรกเสนอโดยสภาหอการค้า ฉบับที่สองเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ฉบับที่สามเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ ฉบับที่สี่เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาด ฉบับสุดท้ายเสนอโดยพรรคเพื่อไทย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1xyINM23RRfYtFfkpKNfHF/c185b97606ff57ad2d4b6bda62933951/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Photo10
Photo: ร่างกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษหลายฉบับถูกดองและปัดตกในรัฐสภา (AFP)
2 ฉบับแรกถูกนายกรัฐมนตรีปัดตก 3 ฉบับหลังยังคงค้างระหว่างการพิจารณา ก่อนที่นายกรัฐมนตรีคนเดิมจะประกาศยุบสภา ชะตากรรมของชีวิตประชาชนแขวนค้างในภาวะสุญญากาศระหว่างการยุบสภาและการเลือกตั้ง 

นอกจากนี้ยังมี ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... (Pollutant Release and Transfer Registers : PRTR) ของพรรคก้าวไกล ที่ถูกปัดตกไปเช่นเดียวกับกฎหมาย 2 ฉบับแรก

ถามว่าเอาผิดกับใคร ก็เอาผิดกับเอกชนไทยที่ไปส่งเสริมให้เกิดการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วนำเอาผลผลิตเข้าประเทศ

โดยร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่ถูกปัดตกนั้น เว็บไซต์ระบบรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ระบุว่าเป็นร่างที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่าเป็นร่างพ.ร.บ.การเงินฯ 

iLAW ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ว่า กรณีที่ร่างกฎหมายถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.การเงินฯ หากร่าง พ.ร.บ.นั้นเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือประชาชน จะต้องได้รับ “คำรับรอง” จากนายกรัฐมนตรีก่อนจึงจะเสนอสู่การพิจารณาของสภาได้ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 ภายใต้ฐานคิดที่ว่านายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นผู้ใช้เงินงบประมาณ จึงมีความรู้สถานะทางการเงินการคลังของประเทศเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้กฎหมายใดที่จะส่งผลต่อสถานะการเงินการคลังของรัฐ จึงต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรองเสียก่อน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6wAMlOZTeXz5zee4FxMsCE/a7b183f9e84bbd246c8523520b877cf9/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Photo11
Photo: ศิธา ทิวารี ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทยมาร่วมอภิปราย
อย่างไรก็ดี การกำหนดเช่นนี้ก็ส่งผลในทางปฏิบัติด้วย แม้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมาจากการเสนอโดยผู้แทนประชาชน หรือมาจากการที่ประชาชนเสนอเองโดยตรง แต่ก็อาจถูกปัดตกหรือถูกดองได้ในขั้นตอนนี้ 

รายละเอียดของ “พ.ร.บ.อากาศสะอาด” ทั้ง 5 ฉบับ (+1 ฉบับ) นั้นมีจุดประสงค์ร่วมกันคือเป็นกฎหมายเพื่อให้ประชาชนมีอากาศที่บริสุทธิ์และกำกับควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 

สิทธิในการรู้ข้อมูลเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ถูกเขียนไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ที่จัดทำโดยเครือข่ายอากาศสะอาด 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7nN8gJOPl6DwUzWfmH6Nm5/4808463e2c8f0fee325adffd3edc6eed/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Photo12
Photo: เครื่องบิน Air Asia ขณะลดเพดานบินลงจอดสนามบินเชียงใหม่ ถ่ายเมื่อ 10 เมษายน พ.ศ.2566 (AFP)
ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดหน้าที่ของรัฐต้องให้ข้อมูลด้านที่มาของปัญหาคุณภาพอากาศแก่ประชาชน เช่น ข้อมูลบัญชีการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายหมอกควันพิษ รัฐต้องรับฟังข้อมูลข้อร้องเรียนจากประชาชน ต้องจัดเก็บ รวบรวม ประมวลผลข้อมูล เพื่อแจ้งเตือนประชาชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณแก่ภาคเอกชนหรือประชาชนเกี่ยวกับการจัดระบบหรือเผยแพร่ข้อมูลอากาศสะอาด 

ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของรัฐข้างต้นเป็นไปเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับอากาศสะอาด และได้กำหนดสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยรัฐต้องรับเรื่องร้องเรียนและให้คำแนะนำแก่ผู้ร้องเรียนในการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับหมอกควันพิษ เพื่อที่ผู้ร้องเรียนจะได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหาย 

อาจกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ พรรคการเมืองจะต้องชัดเจนในการแสดงแนวทางในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง ไม่มีที่ว่างให้รัฐบาลที่นิ่งเฉยต่อปัญหาของประชาชนอีกแล้ว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/dLlJYLSvyos5GnNC7R11E/00175d1bf020556e70929bcd27ed2aca/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Monopoly-Capitalism-SPACEBAR-Photo13
Photo: วงอภิปรายเล็กๆ ในประเด็นระดับชาติ เพื่อหาทางออกจากวังวนของฝุ่นควัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์