“มุขเด็ดรัฐคือทำให้ชิน เดี๋ยวคนก็ลืมไปเอง” นพ.รังสฤษฎ์ เสียงจากเชียงใหม่ เมื่อสุขภาพคนและเมืองโคม่าเพราะ PM 2.5

17 เม.ย. 2566 - 07:21

  • “บางวันสีแดง บางวันสีม่วงมังคุด บางวันก็สีน้ำตาลเหมือนเปลือกมังคุดเน่า” คือค่าดัชนีฝุ่นที่เข้าเขตอันตรายในเชียงใหม่

  • ระบาดวิทยาพบว่า 1 ใน 10 ของคนที่เป็น ‘มะเร็งปอด’ เป็นผลมาจากมลพิษทางอากาศ ซึ่งอัตรานี้จะสูงขึ้นอีกในพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 สูง

  • ค่าฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่วิกฤต แต่ถือว่าหนักน้อยกว่า เชียงราย แม่ฮ่องสอน ที่เข้าขั้น ‘หนักมาก’ เช่น อําเภอกัลยาณิวัฒนา, อำเภอแม่แจ่ม, อำเภอแม่สาย, อำเภอปาย

TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Rangsarit-SPACEBAR-Thumbnail
ล่วงเข้าเดือนที่สองแล้วที่ ‘คนเหนือ’ ต้องเผชิญกับฤดูกาลหมอกควันพิษประจำปี ว่ากันว่ารอบนี้ย่ำแย่จนไม่อาจทนได้อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะชาวเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ต่างได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการสูดดมฝุ่น PM2.5 สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไปต่อเนื่องกันนานหลายสัปดาห์ 

“บางวันสีแดง บางวันสีม่วงมังคุด บางวันก็สีน้ำตาลเหมือนเปลือกมังคุดเน่า” 

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ ‘หมอหม่อง’ พูดด้วยอารมณ์ขันขื่น — หมายถึงทั้งขบขันน่าหัวร่อและขมขื่นใจไปพร้อมกัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4RzC4xW8nRKILwQQzS6fuA/5c2a5c450af6b92f431ab0260d576791/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Rangsarit-SPACEBAR-Photo_01
ในฐานะที่อาศัยอยู่เมืองเชียงใหม่มานานกว่า 27 ปี เป็นนายแพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา และพ่อของลูกสาวคนหนึ่ง ทุกบทบาทชีวิตของเขาล้วนได้รับทราบปัญหาฝุ่น PM2.5 ในบริบทที่แตกต่างกันไป 

หมอหม่องยืนยันว่าสถานการณ์เรื่องฝุ่นควันพิษอยู่ในระดับวิกฤตมานานแล้ว และจะยิ่งแย่ลงไปอีกเรื่อยๆ ตราบใดที่รัฐบาลยังเพิกเฉยไม่ดูดำดูดีประชาชน 

นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้เขาเข้าร่วมกับมูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายภาคประชาชนชาวเชียงใหม่ ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองฟ้องร้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน รวมถึงนโยบายและแผนที่มีอยู่ เพื่อการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นควันอย่างมีประสิทธิภาพ 

ถือเป็นการ ‘ส่งเสียง’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่ารอบที่เท่าไหร่ไม่รู้ เพื่อย้ำเตือนว่าสุขภาพเมืองเชียงใหม่ร่อแร่เต็มทน เช่นเดียวกับสุขภาพคนที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน 

เราพบว่าทุก 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของ PM 2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพนั้นเทียบเท่ากับบุหรี่ 1 มวน

ทุกๆ ปีเมื่อฤดูกาลฝุ่น PM 2.5 มาถึง คุณหมอต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง

ผมอยู่ที่นี่มา 27 ปี เรื่องฝุ่นเพิ่งจะมาหนักช่วงสิบปีหลังนี้แหละ เชื่อไหมวันก่อนผมเปิดดูเฟซบุ๊กพบว่าตัวเองเป็นคนแรกที่ออกมารณรงค์เรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2554 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ตอนนั้นคนยังไม่ค่อยรู้จัก PM 2.5 ยังเรียก PM10 กันอยู่เลย เครื่องวัดค่าฝุ่นก็ไม่ได้มีระบบการวัดที่ละเอียดขนาดนี้ ยังอาศัยสถานีวัดค่าฝุ่นไม่กี่แห่ง ตอนนั้นเมืองเชียงใหม่มีที่เดียวคือโรงพยาบาลยุพราช แต่สิ่งที่คนเชียงใหม่สังเกตเห็นคือดอยสุเทพมันหายไป เขาเรียกว่าดอยสุเทพ อินเด็กซ์ คนเชียงใหม่เวลาทำงานเหนื่อยๆ ก็จะชอบหันไปมองดอยสุเทพ เห็นป่าเห็นภูเขาแล้วมันชื่นใจ เขาก็เลยใช้ดอยสุเทพเป็นที่พักสายตา พอวันหนึ่งหันไปหาไม่เจอ มันหายไปแล้ว  


ช่วงนั้นผมค้นคว้าเยอะเพราะเริ่มมีการศึกษาด้านระบาดวิทยาออกมาว่ามันส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนเรายังไงบ้าง สมัยก่อนคนไม่รู้ว่ามันจะมีพิษภัยในระยะยาว มักจะมองแค่ผลกระทบระยะสั้น ทุกคนก็รู้สึกแค่ว่าแสบคอจังเลย แสบตาจังเลย ไอ น้ำมูกเยอะ ตาแดง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ก็ไปล้างหน้าล้างตา กินน้ำเยอะๆ อะไรก็ว่ากันไป 

แต่สิ่งที่งานวิจัยไปเจอเข้าก็คือมันไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ เราพบว่าทุก 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของ PM 2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพนั้นเทียบเท่ากับบุหรี่ 1 มวน ยกตัวอย่างวันนี้ค่า PM 2.5 สูงถึง 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็อาจจะเท่ากับบุหรี่ 6 มวน พูดง่ายๆ ว่าวันนี้เราสูบบุหรี่ไป 6 มวนแล้ว ถ้าวันไหนขึ้นไปถึง 400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มันก็คือบุหรี่ซองหนึ่งดีๆ นี่เอง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2Q0tZy14Y7EcXJnZcc8vqF/197b9e3f0aaa80c8681b16c4972e6c69/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Rangsarit-SPACEBAR-Photo02
มีงานวิจัยเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดกับสัดส่วนการสูบบุหรี่ของคนไทยระบุว่า คนใต้สูบบุหรี่มากกว่าคนภาคอื่น ส่วนคนเหนือสูบต่ำสุดแต่อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดสูงที่สุด มันเป็นไปได้อย่างไร 

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่าอนุภาคฝุ่นทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจเสียหายกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ขณะที่ระบาดวิทยาพบว่า 1 ใน 10 ของคนที่เป็นมะเร็งปอดเป็นผลมาจากมลพิษทางอากาศ ซึ่งอัตรานี้จะสูงขึ้นไปอีกในพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 สูง 

การสูบบุหรี่ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพทันที ในระยะสั้นอาจจะแค่ระคายเคืองคอ ส่วนคนไม่ได้สูบเป็นประจำก็จะรู้สึกอึดอัด แต่ที่มันเกิดปัญหาขึ้นได้ก็เพราะการสะสมของฝุ่นเหล่านี้ต่างหาก หลายคนเข้าใจว่าฝุ่นมีผลต่อทางเดินหายใจซึ่งก็แน่นอนเพราะมันเป็นด่านแรก คนที่เป็นโรคหลอดลม โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจก็จะป่วยง่าย ก็เหมือนสูบบุหรี่นั่นแหละ 

แต่ที่มากกว่านั้นก็เพราะอนุภาคของฝุ่น PM 2.5 มันเล็กพอที่จะเข้าไปสู่กระแสเลือดทำให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดทั่วร่างกาย หลอดเลือดเรามีอยู่ในทุกอวัยวะ ฉะนั้นปัญหามันจึงเกิดขึ้นกับทุกอวัยวะ ไม่ว่าจะหลอดเลือดในสมองตีบ แตก ตัน หลอดเลือดในหัวใจ คนก็เลยตายจากโรคหัวใจมากขึ้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/34Y81cluPmXi8uYVPRqrpJ/0c4c40d98bf5b78a5f57d51a71ce41e5/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Rangsarit-SPACEBAR-Photo03
ผมเป็นหมอโรคหัวใจ เวลาเจอคนไข้ที่มาด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง ก็ต้องซักประวัติว่าเขามีความเสี่ยงอะไรบ้าง สูบบุหรี่ไหม เป็นโรคเบาหวานหรือไขมันไหม ตัวเขาเองอาจจะมีปัจจัยหลายๆ อย่างซึ่งไม่ได้ชี้ชัดว่าตายจากโรคหัวใจ แต่เราจะไปเขียนในใบมรณะบัตรว่าตายเพราะฝุ่น PM 2.5 ก็คงไม่ได้ เพราะมันเป็นแค่ปัจจัยเสริมตัวหนึ่ง แต่ระบาดวิทยาเขาคิดมาแล้ว คำนวณได้แล้วว่ามันส่งผลแค่ไหน สัดส่วนเท่าไหร่ 

อย่างกรณีภาคเหนือที่มีคนป่วยเป็นมะเร็งปอดสูงสุดทั้งที่ไม่ใช่คนสูบบุหรี่เยอะสุด นั่นแปลว่าคุณได้ผลกระทบจากทางอื่นไง ในใบมรณะบัตรก็ระบุไม่ได้ว่าตายจากฝุ่น PM 2.5 ก็ระบุว่าตายจากโรคหัวใจ โรคสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็งปอด อะไรแบบนั้น 

ระบาดวิทยาพบว่า 1 ใน 10 ของคนที่เป็นมะเร็งปอด เป็นผลมาจากมลพิษทางอากาศ ซึ่งอัตรานี้จะสูงขึ้นไปอีกในพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 สูง

ฟังแบบนี้ก็น่าคิดว่าจะมีสักกี่คนที่รู้ถึงอันตรายของ PM 2.5 ในระยะยาว ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าฝั่งสาธารณสุขออกมาเตือนภัยให้ความรู้ประชาชนน้อยเกินไป 

คงมีแต่ประเทศที่ไม่ฉลาดเท่านั้นแหละที่ปฏิเสธหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แล้วนั่งทับมันไว้ เขาไม่สนใจด้วยซ้ำว่ามันส่งผลต่อสุขภาพประชากรขนาดไหน ในระยะยาวต้องใช้งบประมาณในการดูแลความเจ็บป่วยนี้มากมายเท่าไหร่ เขาไม่เห็นปัญหาอะไรแบบนี้ซึ่งผมมองว่าเป็นความไม่ฉลาดเลย 


การแก้ปัญหาฝุ่นควันเป็นเรื่องที่เราคุยกันมานานมาก มันมีหลายมิติซึ่งก็ไม่ง่ายเลย ทั้งมิติทางสังคม มิติทางนิติศาสตร์ มิติทางเศรษฐศาสตร์ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ามันตรงไปตรงมาคือมิติทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มันมีหลักฐานที่หนักแน่นอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเราปฏิเสธวิทยาศาสตร์ เราปฏิเสธความจริง ไม่ยอมรับความจริงแล้วดันไม่รู้หรือว่ารู้อยู่เต็มอกแต่ไม่เข้าใจถึงสเกลความรุนแรงของมัน เราก็ซวยอ่ะ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ได้ตระหนักถึงปัญหา ประชาชนออกมาด่าทีนึงก็มาทำยึกยักออกสื่อ แต่ไม่ได้วางแผนระยะยาวว่าจะจัดการแก้ปัญหายังไง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ปล่อยไว้ไม่ได้อีกต่อไป สุขภาพเราจะเสียหายอย่างมากในระยะยาว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1eJ3T56OVfgMwIXvPYs0qh/c26135eee49a83f723eb7cd574987366/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Rangsarit-SPACEBAR-Photo04
ในยุโรปเวลาค่าฝุ่นสูงขึ้นมานิดหน่อย รัฐบาลเขาก็จริงจังมากเพราะรู้ว่ามันอันตรายแค่ไหน แต่บ้านเราสูงกว่าเขาไม่รู้กี่เท่า หน้าที่ผมในฐานะเป็นหมอคือการเอาความจริงทางวิทยาศาสตร์มาพูดให้ทุกคนเข้าใจ แต่ไม่ได้สร้างความตระหนกนะ หลายปีที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษชอบพูดว่าพวกหมอทำให้เกิดความตระหนก แหม มันยังไม่ตระหนักเลย ยังไกลจากคำว่าตระหนกมาก ผมอยากให้ติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกก่อน แต่นี่ทรัพยากรทางการแพทย์อะไรต่างๆ ยังไม่มาเลย มันน่าหงุดหงิดใจที่สุด 

ไม่ต้องพูดไปไกล กระทรวงสาธารณสุขเราก็ควรจะมีปากมีเสียงให้มากกว่านี้ แอคชั่นน้อยกว่าช่วงโควิดเสียอีกจนเกิดคำถามว่าคนที่ตายจาก PM 2.5 น้อยกว่าโควิดใช่ไหม ถ้าตรวจสอบย้อนหลังกลับไปหลายปีอาจจะตายมากกว่าโควิดด้วยซ้ำนะ แต่เรากลับไม่เห็นแอคชั่นอะไรแบบนั้นเลย 

คงมีแต่ประเทศที่ไม่ฉลาดเท่านั้นแหละ ที่ปฏิเสธหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แล้วนั่งทับมันไว้

ปีนี้ (พ.ศ.2566) ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะกลับมารุนแรงขึ้นอีก บางคนบอกว่าหนักกว่าทุกปีอย่างเห็นได้ชัด 

ตอนแรกเรามองว่ามันน่าจะดีขึ้นแต่ท้ายที่สุดก็วนมาลูปเดิมจนเริ่มจะเห็นแพทเทิร์นแล้วว่า อ๋อ ไม่มีอะไรหรอก ปีที่มันดีขึ้นเพราะปีนั้นฝนเยอะ มีความชื้นมากพอ เกิดไฟป่าน้อย ปีที่แย่ก็เพราะเป็นปีที่มันแล้ง ซึ่งพอปีไหนดีรัฐบาลก็จะเคลมว่าควบคุมได้ดี ปีไหนไม่ดีก็โทษโน่นโทษนี่ไปเรื่อย เป็นแบบนี้ตลอด 

ถามว่าคนเชียงใหม่ตระหนักถึงปัญหามากขึ้นไหม ย้อนกลับไปช่วงแรกที่ผมออกมารณรงค์ ก็มีคนมาร่วมเดินขบวนถือป้ายที่ถนนนิมมานเหมินท์ ประตูท่าแพ ตอนนั้นรู้สึกว่าชาวบ้านหรือคนค้าขายทั่วไปเขาไม่ได้อินกับเรานะ อาจจะมองด้วยซ้ำว่าไอ้พวกนี้มันวุ่นวายทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวเสีย ผมยังถูกตำหนิเลยว่าสร้างภาพที่ไม่ดีกับเมือง 

แต่ทุกวันนี้เริ่มเปลี่ยนไป ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของฝุ่น PM 2.5 ที่มีต่อสุขภาพมันมากขึ้นกว่าสมัยนั้น แล้วก็ไม่รู้ว่าโชคดีหรือเปล่าว่าเมื่อ 3 ปีก่อนตอนกรุงเทพฯ โดนหนัก ถือเป็นครั้งแรกเลยที่กรุงเทพฯ ตื่นตัวเรื่องฝุ่น ตรงนั้นแหละคนก็เลยหันมาพูดเรื่องนี้กันมากขึ้น ก่อนหน้านี้เราตะโกนกันเสียงแหบเสียงแห้ง คนเชียงใหม่น่ะไม่เท่าไหร่ คุณไปดูพี่น้องที่โดนหนักกว่าเราสิ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แม่ฮ่องสอนนี่หนักมาก แล้วเสียงของเขาก็ไม่มีใครได้ยิน อย่างพวกเรายังมีคอนเนกชั่น พูดไปคนก็พอได้ยิน แต่ว่าพื้นที่ที่หนักมากๆ อย่างอําเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่สาย อำเภอปาย คนที่อยู่รอบนอกเหล่านี้ เสียงพวกเขายังเบาอยู่ 

ตอนนี้เรารู้แล้วว่าหมอกควันมันมีต้นตอมาจากหลายแหล่ง เผาในป่าเอย เผาเพื่อการเกษตรเอย ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรน่าจะเป็นส่วนแรกที่ตอบรับได้ง่ายไหม เพราะว่ามันก็เผาอยู่ใกล้ๆ กันแถวหมู่บ้าน ก็น่าจะมีกลไกในระดับหมู่บ้านที่กำกับดูแลกันเอง อันนี้พูดถึงในพื้นราบนะว่ามันน่าจะจัดการได้ก่อน ใช้กลไกทางสังคมคุยกันว่าเผาแบบนี้ลูกหลานเราก็แย่ แต่ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเราทำได้ 

การเผาในพื้นที่เกษตรบนที่สูงก็แยกจากกันเพราะอันนั้นห่างไกลจากชุมชน ซึ่งประเด็นนี้ผมก็มีความเห็นใจระดับหนึ่งว่าทำไมต้องเผา เขาต้องเตรียมพื้นที่ทางการเกษตรด้วยวิธีที่ราคาถูกที่สุด เพราะไม่มีเงินพอจะไปเช่าเครื่องจักรขนาดใหญ่มาปรับพื้นที่เพื่อเตรียมเพาะปลูก ผมเคยคุยกับเกษตรจังหวัดว่าภาครัฐมีเครื่องจักรขนาดใหญ่เช่นรถไถให้ชาวบ้านยืมไหม จะได้ไม่ต้องเผา เขาบอกไม่ได้หรอก เพราะพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่บุกรุก พื้นที่ป่าสงวนผิดกฎหมาย ก็เลยทำให้ทุกอย่างติดขัดไปหมด  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7AoHZ9wLwA8norujVIcALd/43f2cc90cf588f39a11082152e12e297/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Rangsarit-SPACEBAR-Photo_05
คุณมีมุมมองยังไงเกี่ยวกับเรื่องการเผาป่า

ผมบอกเลยว่าตราบใดที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ ยังมีความยากจนอยู่ ปัญหาก็ไม่หมด พูดตรงๆ ว่าเรื่องเผาป่าหรือฝุ่นควันมันเป็นตัวสะท้อนของปัญหาความยากจน เพราะว่าเขาก็ต้องหาทางเตรียมพื้นที่เพาะปลูกเพื่อผลิต cash crop เพราะเป็นเส้นทางที่หาเงินได้เร็ว ไม่ใช่ลงทุนไป 5 ปี 10 ปีกว่าจะได้ มันก็ต้องเป็นของที่ปลูกภายในปีนั้น ไร่ข้าวโพดก็มีการขยายพื้นที่มากขึ้น แม้เราจะไปคุยกับบริษัทข้าวโพดยังไงเขาก็อ้างว่ารับซื้อจากพื้นที่ที่ไม่เผา เขาก็พีอาร์ของเขาไป ซึ่งมันก็เป็นความจริงแค่ส่วนเดียว หนักไปกว่านั้นเขาก็ไปทำอีกแบบหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน อันนี้ผมมองว่ามันคนละอย่างกับการเตรียมพื้นที่การเกษตรเลย 

การเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่เขาเรียกว่าภูมิปัญญา แต่ผมเรียกว่าภูมิสิ้นปัญญามากกว่า สมัยก่อนยังไม่เท่าไหร่ แต่สมัยนี้โลกมันแล้งมากขึ้น เพราะฉะนั้นการทำแบบนี้จะก่อให้เกิดการไหม้เป็นบริเวณกว้างมาก แล้วทำให้ผืนดินที่อุดมสมบูรณ์เสียหายมาก ป่าที่เคยอุ้มน้ำได้ก็กลายเป็นแห้งไม่ชุ่มชื้นอีกต่อไป เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่ป่าเต็งรังที่โดนไฟบ่อยๆ แต่มันลามไปถึงป่าเบญจพรรณ บางพื้นที่ป่าดงดิบก็ยังเข้าไปเผาเลย พอโดนบ่อยๆ โดนถี่ๆ ป่าก็เปลี่ยนไป ปีไหนฝนดีก็พออยู่ได้ แต่ปีไหนฝนแล้งก็แย่

รัฐออกมาปกป้องตัวเองตลอด ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ แต่กลับไม่ได้รู้สึกทุกข์กับเราเลย เขาก็บอกทำแล้วๆ แต่มันเห็นอะไรหรือยังล่ะ

เรื่องเผาป่าต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง การแก้ไขเรื่องนี้มันคนละโจทย์กับการแก้ไขปัญหาในภาคเกษตร เพราะนี่มันไม่ใช่พื้นที่ทำการเกษตรแล้ว คุณบุกรุกเข้าไปเผาในป่าเพื่อต้องการที่จะล่าสัตว์ เอาเห็ดถอบ ผักหวาน ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับไฟเลย คุณแค่ต้องการให้เดินได้ง่ายขึ้นสะดวกขึ้นมากกว่า เคยมีการทดลองแล้วว่าเผาหรือไม่เผาเห็ดถอบมันก็ขึ้นเหมือนกัน ผักหวานมันก็แตกยอดของมันเอง ป่าหลายผืนปรับตัวกับไฟ แต่ไม่ใช่กับป่าทุกประเภท แล้วก็ไม่ใช่ไฟที่ถี่และบ่อยขนาดนี้ 

ปัญหาไฟป่าหรือหมอกควันมันสะท้อนเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมในหลายมุม อย่างเช่นศักยภาพในการรับมือกับปัญหาก็แตกต่างกัน บ้านผมมีเครื่องฟอกอากาศ เราสามารถอยู่ในห้องที่ปิดมิดชิดได้ในวันที่อากาศแย่มากๆ  แต่คนที่อยู่ที่ชุมชนเขาไม่มีเครื่องฟอกอากาศไง เขาอาจจะตระหนักรู้แต่ไม่มีทุนรอนพอที่จะป้องกันตัวเองได้ มันก็เลยเหลื่อมล้ำไปในทุกมิติ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/afgyRS0Swpmzr7i1Ms6e5/51f287c6c4bb687a51c7398f64acfef9/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Rangsarit-SPACEBAR-Photo06
มาตรการแบบไหนถึงจะแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ 

พูดมามากก็เหมือนกับรู้ทางออก จริงๆ ไม่รู้หรอก แต่ผมยังไม่เห็นกระดุมเม็ดแรกที่ถูกต้องจากภาครัฐเลย อย่างน้อยที่สุดก็ควรมี Empathy ก่อนได้ไหม รัฐออกมาปกป้องตัวเองตลอด ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ แต่กลับไม่ได้รู้สึกทุกข์กับเราเลย เขาก็บอกทำแล้วๆ แต่มันเห็นอะไรหรือยังล่ะ คุยกับพม่า คุยกับลาวไหม บริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในพม่าในลาว เราทำอะไรกับเขาได้ไหม แม้ในระดับภูมิภาคเราก็ไม่เห็นแอคชั่นจากรัฐบาล อย่าว่าแต่แอคชั่นเลย แค่ Empathy ก็ยังไม่มี ทุกวันนี้เงียบมาก อันตรายขนาดนี้รัฐประกาศภัยพิบัติไหม แม่สายขึ้นสูงไปถึง 500-600 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อพยพคนออกมาไหม ลูกเด็กเล็กแดง คนแก่คนเฒ่า คนป่วย เตือนภัยเขาหน่อยสิ 

รัฐบาลมีมุขเด็ดคือทำให้คนชิน เคยอยู่ในระดับสีเหลือง พอมันสีแดงก็โอ๊ย อึดอัด พอแดงไปสักพักก็เริ่มเฉยๆ แล้วพอเปลี่ยนไปเป็นสีม่วงก็โอ๊ย แย่เว้ย พออยู่กับสีม่วงเป็นเดือนก็จะเฉยๆ อีก กระทั่งมันไปถึงจุดที่ม่วงเหมือนมังคุดเน่าจนกลายเป็นสีน้ำตาลนั่นแหละ นี่คือการทำให้ชิน พอคนชินปุ๊บก็จะบ่นน้อยลง เป็นมุขเด็ดที่รัฐบาลทำมาตลอด เชียงใหม่มีภาคประชาคมคือสภาลมหายใจที่รวมตัวกันเพื่อผลักดันเรื่องกฎหมาย แต่พอร่างกฎหมายออกไปก็ถูกตีตก เราเห็นความไม่จริงจังของภาครัฐในทุกๆ ภาคส่วน ประชาชนก็รู้สึกนะว่ามันหน้าที่รัฐ แต่รัฐก็จะมักบอกว่าประชาชนเผาเอง ดูสิ โทษประชาชนอีก 

วันก่อนเห็นเจ้าหน้าที่เอารถน้ำไปฉีดพ่นที่แม่สาย ไปทำให้ฝนตก บ้าหรือเปล่า นี่คือความล้มเหลวของการเรียนวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย เป็นการแก้ปัญหาที่หน่อมแน้มมากๆ คนที่มีลูกเล็กเขาจะรู้สึกโกรธมากๆ เหตุที่ผมออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกสุดก็เพราะลูกผมยังเล็ก แม้ตัวเองอาจทนได้ แต่ผมจะปล่อยให้ลูกผมต้องมาดมฝุ่นควันเหมือนสูบบุหรี่วันละซองแบบนี้เหรอ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4VDHvaTJum6DZATCitWnP3/ed4ac23fedc7739e83a28de85588966d/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Rangsarit-SPACEBAR-Photo_07
ทุกปีเวลาเข้าสู่ฤดูฝุ่น PM 2.5 ทีไร ทำไมคนมักจะโฟกัสที่เชียงใหม่เป็นอันดับแรก 

เพราะเป็นเมืองใหญ่ไง ผมโวยวาย คนโน้นคนนี้โวยวาย มันอยู่คนที่พูดด้วย นี่ก็เป็นลักษณะของสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน กรุงเทพฯ มีปัญหาปุ๊บ รัฐบาลขยับเลย เชียงใหม่ตะโกนกันมาเป็นสิบปีกว่าจะได้ยิน แม่ฮ่องสอนไม่ต้องพูดถึง คำพูดไม่มีน้ำหนัก เสียงเบามาก ยกเว้นคุณมีอินฟลูเอนเซอร์สักคนไปอยู่แถวนั้นที่พอจะขับเคลื่อนอะไรได้ 

มันเป็นเรื่องการตอบสนองตามกระแส ไม่ใช่ว่าดูแล้วแบบ เฮ้ย ประเทศไทยตรงนี้หนัก เราจะทำยังไงดีนะ เขาไม่ได้ดูแบบนั้นไง เขาตอบสนองตามเสียงที่โวยวาย หรือมีสื่อไปจับประเด็นไหน เขาก็รีแอ็คตามนั้น ซึ่งผมว่ามันทุเรศ 

เดี๋ยวนี้เชียงใหม่มันมีสองขั้วไปเลยคืออากาศดีสุดกับแย่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งเพิ่มความกังวลให้คนเชียงใหม่ไหม 

บางคนอยากมาอยู่ที่นี่ยาวๆ ก็คงคิดใหม่แล้วว่าไม่เอาดีกว่า บางคนที่ไม่ได้มีงานทำที่นี่ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร พอถึงช่วงนี้เขาก็หลบไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว เพราะเชียงใหม่ในฤดูกาลอื่นก็ยังน่าอยู่นะ อากาศดี เพียงแต่ว่าช่วงนี้มันแย่ เดี๋ยวนี้เชียงใหม่มันมีสองขั้วไปเลยคืออากาศดีสุดกับแย่สุด 

สำหรับนักท่องเที่ยว ผมก็พยายามเตือนว่าช่วงนี้อย่ามาเชียงใหม่เลย จริงอยู่ที่เมืองเราต้องการเงินตราจากนักท่องเที่ยวเพราะเศรษฐกิจมันขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยว แต่เราก็ต้องเป็นเจ้าบ้านที่ดีใช่ไหมล่ะ ก็เลยต้องบอกไปตรงๆ ว่าช่วงนี้อย่าเพิ่งมาเที่ยว ไว้สภาพอากาศดีกว่านี้ค่อยมาเถอะ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2bfWbGFqObOpc9fRxdyThI/ef011748fe7112d983e3004fb035efbe/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Rangsarit-SPACEBAR-Photo_08
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันมีโอกาสที่จะแย่ลงกว่านี้อีกไหม 

แย่ลงแน่ๆ เพราะไม่มีมาตรการอะไรเลย แย่ลงเพราะว่ามันเป็นวงจรอุบาทว์ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Vicious Circle เวลาที่มีการเผาเยอะมันก็ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในอากาศ เรื่องฝุ่น PM 2.5 กับเรื่องโลกร้อนมันไปด้วยกันในหลายมิติ เพราะว่าการเผามันเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปทำให้โลกร้อนมันหนักขึ้น โลกร้อนก็ทำให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น เรื่องการเผาและไฟป่าก็รุนแรงมากขึ้น ก็เลยวนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ 

อีกประเด็นหนึ่งคือปรากฏการณ์ Temperature Inversion หรือปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน ยกตัวอย่างเวลาเราขึ้นเขา ปกติยิ่งสูงก็ต้องยิ่งหนาวขึ้นเรื่อยๆ ใช่ไหม แต่ช่วงนี้เราจะพบว่ามันไม่ใช่แล้ว ถ้าเราขึ้นเขาช่วงนี้มันจะอุ่นขึ้นพอไปถึงอีกจุดหนึ่งมันก็จะเย็นอีก หมายความว่ามันมีอากาศอุ่นเข้ามาครอบอยู่ข้างบนทำให้อากาศที่เย็นกว่าไม่ลอยตัวขึ้น สังเกตดูว่าค่าคุณภาพอากาศมันจะแย่มากในช่วงเช้า พอช่วงบ่ายมันจะดีขึ้นก็เพราะว่าอุณหภูมิช่วงล่างมันเริ่มอุ่นขึ้น พออุ่นขึ้นปุ๊บมันก็เริ่มกระจายได้ แต่ถ้ามันเย็นอยู่มันก็จะตกลงข้างล่าง เราถึงได้เห็นว่าพอตกเย็นตัวเลขมันจะดีขึ้น 

ปรากฏการณ์ผกผันทางอุณหภูมิมันเกิดถี่และรุนแรงมากขึ้น ช่วงหลังๆ นักวิทยาศาสตร์ทางด้านภูมิอากาศเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศโลก เมื่อก่อนก็มีแต่ไม่บ่อยและถี่ขนาดนี้ ตรงนี้ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในเมืองที่มีตึกสูงเยอะๆ ซึ่งที่กรุงเทพฯ โดนหนักมากคือปรากฎการณ์ Canyon Effect เวลาลมพัดฝุ่นมาเจอตึกปุ๊บมันก็จะอับลม ฝุ่นก็จะตกลงข้างล่างแล้วก็จะหมุนอยู่ระหว่างตึก พูดง่ายๆ ว่าเหมือนอยู่ในเหว ไม่ไปไหน ไม่สามารถจะพัดออกได้ อันนี้ก็ทำให้ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ สูงมาก แน่นอนว่ากรุงเทพฯ ไม่ได้มีแค่ฝุ่นที่มาจากข้างนอกอย่างเดียว มาจากรถยนต์ด้วย ก็เลยขังอยู่ในหุบเหวของตึกคอนกรีต 

อยู่เชียงใหม่มานาน คุณมองสุขภาพเมืองทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง 

ถ้าเปรียบเทียบเมืองว่าเป็นคน ผมรู้จักคนคนนี้มา 27 ปีแล้ว ก็คิดว่าสุขภาพเขาย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เมืองขยายตัวขึ้น จำนวนคนเพิ่มมากขึ้น เรามีระบบโครงสร้างขั้นพื้นฐาน มีถนนหนทาง มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย แต่ผมไม่คิดว่าคนมีความสุขมากขึ้นหรือมีสุขภาพดีขึ้น ก็คงเป็นความเปลี่ยนแปลงเหมือนทุกๆ เมืองที่มีความเจริญ 

จริงๆ เชียงใหม่เป็นเมืองที่ดีนะ เรามีกลุ่มคนที่พยายามเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องนี้มากกว่าอีกหลายๆ เมือง แต่ก็ยังสู้กับผลกระทบของความเจริญแบบไร้ทิศทางไม่ได้ พูดง่ายๆ ว่ารถรามากมายเหมือนเมืองใหญ่ทุกแห่งแต่การสัญจรก็ไม่ได้มองด้วยวิธีอื่นมากไปกว่ารถยนต์ ถนนขยายตัวมากขึ้นแต่ทางเท้ากลับหดเหลือนิดเดียว ต้นไม้ก็ไม่ร่มรื่น คนก็ไม่อยากเดิน จะปั่นจักรยานก็ไม่มีการส่งเสริมจริงจัง

กรุงเทพฯ โดนหนักมากคือปรากฎการณ์ Canyon Effect เวลาลมพัดฝุ่นมาเจอตึกปุ๊บมันก็จะอับลม ฝุ่นก็จะตกลงข้างล่างแล้วก็จะหมุนอยู่ระหว่างตึก พูดง่ายๆ ว่าเหมือนอยู่ในเหว ไม่ไปไหน

ผมทำกิจกรรมตรวจสุขภาพเมืองแทบทุกปี ยกตัวอย่างว่าถ้าเรามีอายุถึงจุดหนึ่งก็ต้องไปตรวจสุขภาพประจำปีใช่ไหม เจาะเลือด ตรวจเอ็กซเรย์ ผมทำชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติล้านนาก็จะชวนเด็กๆ ออกสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของเมืองปีละครั้งว่ามีสัตว์กี่ชนิด มีจำนวนนกเท่าไหร่ในเส้นทางที่เรากำหนดไว้ ทำแบบนี้ต่อเนื่องมา 20 ปีแล้ว เราก็จะใช้เครื่องมือชี้วัดทางธรรมชาติเป็นตัวบ่งบอกถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็เหมือนปรอทวัดไข้นั่นแหละ 

ดังนั้นเราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงพอสมควร แต่ถือว่าเชียงใหม่ยังพอมีหวัง ยังมีพื้นที่สีเขียวมากพอ ไม่ได้มีแต่ตึกแบบกรุงเทพฯ เรายังมีนก ยังมีสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างดี  

‘เชียงใหม่ไม่น่าอยู่แล้ว’ รู้สึกยังไงกับประโยคนี้ 

ผมก็ยังอยากอยู่ที่นี่นะ เพราะมันหาเมืองที่มีปัจจัยเพียบพร้อมแบบนี้ยาก ผมชอบอยู่ใกล้ธรรมชาติแต่พอมีความเจริญเราก็สามารถจะทำอะไรหลายๆ อย่างได้ด้วย ผมชอบดูนก ที่นี่มีนกเยอะมาก แต่ว่ามันจะไม่น่าอยู่มากขึ้นเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน ส่วนช่วงเวลาอื่นก็น่าอยู่เหมือนเดิม มันก็เป็นอะไรที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่ถ้ามองว่าเมืองมันแย่ไปหมดทุกด้านก็คงไม่ถึงขนาดนั้น ช่วงฤดูกาลหมอกควันนี่แหละที่มันหนักขึ้นทุกปี
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4OE1F8rBItR6FXWI8Iv3hA/fae5d459cda09ae3634d17ef93914909/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Rangsarit-SPACEBAR-Photo09
นอกจากฝุ่น PM 2.5 ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่น่ากังวลอีกไหม 

แน่นอนว่ามันก็กลายเป็นเมืองที่พัฒนาแบบไม่มีทิศทาง เมืองแบบนี้ทำให้คนเครียดมากขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ภาวะโรคด้านจิตใจมากขึ้นแน่นอน เครียด ซึมเศร้า หรืออะไรต่างๆ เมืองใหญ่จะมีปัญหาพวกนี้เยอะอยู่แล้ว ส่วนปัญหาอื่นๆ ก็น่าจะเป็นการที่คนถูกตัดขาดจากธรรมชาติมากขึ้น ขาดการออกกำลังกาย มีปัญหาเรื่องการกิน กลายเป็นเมืองเป็นวิถีชีวิตสมัยใหม่ ร่างกายของมนุษย์ไม่ได้เหมาะกับวิถีชีวิตแบบคนในเมืองนะ 

เมืองคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น โฮโมเซเปียนส์ไม่ได้ถูกดีไซน์มาสำหรับวิถีชีวิตแบบที่เราเป็นอยู่ พอเรามาใช้ชีวิตแบบนี้มันก็เกิดโรคเยอะ ผมต้องดูแลคนไข้เป็นเบาหวาน ความดัน ไขมันสูง มันก็เกิดจากเรื่องพวกนี้ทั้งนั้น การได้รับแคลลอรีมากเกินไป กินของหวานมากไป มันไม่ใช่การพัฒนาตัวเมืองอย่างเดียวเพราะการพัฒนามันก็มาจากวิถีชีวิต วิถีชีวิตสมัยใหม่ที่มากับเมืองใหญ่ก็ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมมันเหมาะสมกับสรีระของเราน้อยลง 

เรื่องมลพิษก็ไม่ใช่แค่ฝุ่นอย่างเดียว แสง สี เสียง สารพิษต่างๆ มันก็มากับเมืองด้วย อย่างมลพิษทางแสง คนไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ตอนนี้งานวิจัยออกมามากมายว่าภาวะโรคอ้วน ภาวะฮอร์โมนผิดปกติในร่างกายหลายอย่างเลยก็เกี่ยวข้อง เรื่องกลางคืนที่มันไม่มืดมีผลกระทบต่อสุขภาพทำให้นาฬิกาชีวภาพ Biological Clock ของร่างกายเราเพี้ยนไปหมด 

สมัยก่อนตกกลางคืนมันมืด หลับก็คือหลับ เดี๋ยวนี้เราจ้องจอมือถือจนแสงเข้าตาจนถึงตีหนึ่งตีสอง ร่างกายไม่ได้ถูกดีไซน์มาเพื่ออะไรแบบนี้ กว่าที่ร่างกายคนเราจะวิวัฒนาการมันใช้เวลาเป็นล้านปี แต่ตอนนี้กลับเปลี่ยนแปลงกันได้ในชั่วอายุคน ฉะนั้นเมื่อร่างกายมันปรับเปลี่ยนไม่ทัน ก็เลยกลายเป็นบ่อเกิดของโรคทั้งหลาย

คุณไปดูพี่น้องที่โดนหนักกว่าเราสิ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แม่ฮ่องสอนนี่หนักมาก แล้วเสียงของเขาก็ไม่มีใครได้ยิน

ในระยะยาว คนที่อยู่เชียงใหม่ควรจะใช้ชีวิตยังไงกันต่อไป 

เราคงจะใช้ชีวิตแบบนี้กันได้อยู่ ก็ทนไป ใช้ชีวิตด้วยความเคยชินไง อย่างที่บอกว่านี่เป็นมุขเด็ดของฝ่ายบริหารที่ทำให้พวกเราชิน ผมเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าไม่ให้ตกอยู่ในสภาพนั้น ถึงแม้จะพูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่องแต่ก็ต้องพูดต่อไป การตะโกนหรือการส่งเสียงยังเป็นเรื่องจำเป็นมากว่าเราไม่ชินนะ เราไม่ได้ยอมรับสภาพนี้นะ นี่ไม่ใช่สภาพที่ทุกคนต้องจำยอม มันต้องมีอะไรที่ดีกว่านี้สิ  ผมคิดว่าทุกคนต้องพูด ถ้าเกิดว่ามีไอ้หน้าเดิมพูดอยู่ไม่กี่คนหรือว่าเสียงน้อยไปเสียงเบาไป มันก็คงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ามีคนมากพอ น้ำหนักมากพอ มันก็จะเป็นฐานเสียงที่แข็งแรง 

สุดท้ายผมอยากจะพูดในเชิงความหวังว่าถึงแม้สิบกว่าปีที่ผ่านมามันดูจะไม่ไปไหนเลย แต่ถ้ามองในแง่ดีคือถ้าคนตระหนักกันมากขึ้นมันจะไปถึงจุด tipping point เพียงแต่ว่าตอนนี้มันยังไม่แมส  ความตระหนักมันยังไม่มากพอที่จะผลักดันให้เกิดกระบวนการทางสังคม เกิดการขับเคลื่อนจริงๆ จังๆ ได้ แต่ถึงจุดหนึ่งมันจะเกิดขึ้น แม้อาจจะไปช้าหน่อย ประเทศไทยมันไปช้าเหลือเกิน แต่ผมว่ามันจะยังไปได้อยู่
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/UdEHmLcwtrrdiJDNHeTsF/e17ba2b8de8570ebac8852f0bc80b31d/TAGCLOUD-INTERVIEW-PM25-Rangsarit-SPACEBAR-Photo10

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์