อนาธิปไตยกับกำแพงวัง การเมืองของการทำลายวัฒนธรรมแห่งอำนาจ

29 มีนาคม 2566 - 10:25

TAGCLOUD-anachism-and-the-philosophy-of-vandalism-of-national-culture-EDIT-SPACEBAR-Thumbnail
  • อนาธิปไตยเป็นความวุ่นวายเสียจนขบวนการฝ่ายซ้ายก็ไม่ยอมสังฆกรรมด้วย

  • ความไร้ระเบียบและการจัดตั้งนำไปสู่การกระทำที่บั่นทอนเป้าหมายทางการเทือง

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่กำแพงสีขาวของพระบรมมหาราชวัง ถูก ‘ศิลปิน’ คนหนึ่งใช้สีสเปรย์พ่นลายกราฟฟิตี้เป็นเลข 112 ที่ถูกขีดฆ่า ซึ่งหมายความถึงการต่อต้านมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และสัญลักษณ์รูปตัว A ในวงกลมที่หมายถึงแนวคิดอนาธิปไตย (Anarchy)  
 
ในที่นี่เราจะไม่พูดเรื่อง ม. 112 ไม่ใช่เพราะมันไม่ควรค่าแก่การพูดถึง หรือเพราะเราหวาดกลัวที่จะแตะต้องมัน แต่เพราะเราต้องการจะอภิปรายในประเด็นที่เราไม่ค่อยพูดถึงกันมากกว่า นับตั้งแต่เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปโครงสร้างของประเทศ นั่นคือ กลุ่มที่แสดงออกว่าเป็น ‘อนาธิปไตย’ (Anarchist)

อนาธิปไตยคือความคูล 

สำหรับคนที่รู้สึกต่อต้านสังคม อนาธิปไตยคือความ ‘คูล’ ทางการเมืองมาแต่ยุคโบราณ เพราะมันคือแนวคิดที่ไม่เอา ‘สถาบัน’ ใดๆ ทั้งสิ้น มันคือการปลดเปลื้องปัจเจกชนจากพันธนาการของ ชาติ ศาสนา และประมุขทุกประเภท  
 
โดยรวมๆ มันคือการปฏิเสธรูปแบบการใช้อำนาจทุกอย่างที่มนุษย์จะกระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน แต่มนุษย์แต่ละคนจะช่วยกันประคองกันเองในลักษณะชุมชนที่ไร้ (อนา) อำนาจ (อธิปไตย) แต่เชื่อมโยงมนุษย์แต่ละคนไว้ด้วยประโยชน์ร่วมกันที่เท่าเทียมกัน 
 
ในยุคสมัยที่คนหนุ่มสาวตั้งคำถามกับ ‘สถาบัน’ และเพรียกหา ‘ความเท่าเทียม’ และรังเกียจ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ อนาธิปไตยดูจะเป็นอุดมการณ์ที่น่าไหลงไหลเอาการ 

แต่ซ้ายรังเกียจอนาธิปัตย์ 

พรรคการเมืองในโลกนี้ จะหาที่เป็นอนาธิปไตยได้ยากเย็น นั่นเพราะการเป็นอธิปไตยจะต้องไม่เข้าสังกัดและไม่มีองค์กร ทั้งยังต่อต้านความเป็นรัฐและประเทศ 
 
ขณะที่คนหนุ่มสาวฝันจะสร้างโลกที่เป็นอนาธิปไตย พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายจะเข้าหาหนุ่มสาวเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ในใจของคนในพรรครู้สึกระแวงอนาธิปไตย 
 
ควรจะทราบไว้ก่อนว่าในหมู่นักคิดฝ่ายซ้าย หาได้น้อยมากที่จะชื่นชมกับแนวคิดอนาธิปไตย เพราะอนาธิปไตยเป็นสิ่งตรงข้ามกับสังคมนิยมแบบฟ้ากับเหว  
 
ขณะที่สังคมนิยมต้องมีการ ‘จัดตั้ง’ อย่างเป็นระบบ มีการชี้นำโดย ‘คณะกรรมการการเมือง’ และในที่สุดต้องเป็น ‘เผด็จการโดยชนชั้นแรงงาน’ แต่อนาธิปไตยนั้นไม่มีการจัดตั้งใดๆ ไม่มีกลุ่มคนมาคอยกำกับทิศทาง และไม่มีใครมารับบทเผด็จการที่ชี้นำความเคลื่อนไหว  
 
อนาธิปไตยคือความอิสระ ไร้การควบคุม ปกครองกันเอง ฟังแล้วชวนฝันเฟื่อง แต่ในทางปฏิบัติมันจะนำไปสู่ความวุ่นวายเอาง่ายๆ

โลกยูโทเปียที่เกินกว่ายูโทเปีย 

ดังนั้น ในสายตานักคิดฝ่ายซ้ายนั้น อนาธิปไตยคือความโกลาหลแท้ๆ และหากสังคมนิยมเผลอไปจับมือกับอนาธิปไตยเข้าให้แล้ว โอกาสจะพังพินาศมีอยู่สูงมาก ดังนั้น ซ้ายจึงไม่ค่อยจับคู่กับอนาธิปไตย เว้นแต่ ‘พวกซ้ายฉวยโอกาส’ (Political opportunist)  
 
นักศึกษาประวัติศาสตร์ซ้ายแท้ๆ ย่อมจะทราบว่า สังคมนิยมตัวพ่ออย่าง คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ขัดแย้งแบบอยู่ร่วมโลกไม่ได้กับ มิคาอิล บาคูนิน (Mikhail Bakunin) ซึ่งเป็นอนาธิปไตยตัวพ่อ  
 
มาร์กซ์เคยเขียนเย้ยแนวคิด ‘ต่อต้านอำนาจรวมศูนย์’ ของ บาคูนิน เอาไว้ประมาณว่า ดูเผินๆ เหมือนพวกอนาธิปไตยจะอยู่กันเองได้ ไม่มีเผด็จการหน้าไหนมาชี้นำ แต่สุดท้ายก็ยังต้องมีคณะกรรมการชี้นำอยู่ดี แล้วมันต่างจากสังคมนิยมหรือการจัดตั้งสถาบันตรงไหนไม่ทราบ? 

The impossible dream 

แม้แต่ สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek) นักคิดระดับไอดอลของฝ่ายซ้ายในยุคสมัยของเราก็ไม่ไหวกับพวกอนาธิปไตย เขาบอกไว้ในหนังสือ Trouble In Paradise ว่า 
 
“การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างถาวรมีระยะเวลาจำกัด หลังจากผ่านไปสองสามสัปดาห์หรือไม่กี่เดือน ส่วนใหญ่ก็จะเลิกเข้าร่วม และปัญหาคือต้องประคองขบวนการลุกฮือในขณะนี้เอาไว้ เมื่อสิ่งต่างๆ กลับสู่ภาวะปกติ” 
 
ในทัศนะของ ชิเชค อนาธิปไตยจึงเป็นแค่ ‘งานอีเว้นต์’ ที่ระดมพลได้ยากแต่สลายได้ง่าย เขายกตัวอย่างว่า อนาธิปไตยมันไม่ได้ทรงพลังอะไร ไม่อย่างนั้นเหยื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เอาชวิตซ์และที่รวันดาคงจะทำไปแล้ว ไม่ใช่แค่ได้แต่รอให้ผู้มีอำนาจฆ่าพวกเขาง่ายๆ  
 
ที่คนเหล่านี้ปกครองตัวเองไม่ได้ กำหนดชะตากรรมตัวเองไม่ได้ และยังต่อต้านอำนาจที่กดขี่พวกเขาไม่ได้ นั่นก็เพราะพวกเขาขาดการจัดตั้งหรือการรวมศูนย์อำนาจนั่นเอง 
 
อนาธิปไตยจึงเป็นแค่ความคูลโดยแท้ เพราะความคูลเป็นแค่ความรู้สึกไปเองว่าดีงาม แต่จับต้องไม่ได้และมีอายุแสนสั้น

อนาธิปไตยกับอารยธรรม 

แล้วอนาธิปไตยเกี่ยวอะไรกับกำแพงวัดพระแก้ว? มันไม่ได้ซับซ้อนไปว่าการแสดงออกว่ากำแพงวัดพระแก้ว (หรือพระบรมมหาราชวัง) คือสัญลักษณ์แทนอำนาจและการปกครองที่พวกอนาธิปไตยไม่ต้องการ 
 
แต่กำแพงวัดพระแก้วก็เป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมด้วย เอาเข้าจริงสัญลักษณ์แห่งอำนาจนั้นแยกไม่ออกกับความเป็นอารยธรรม การทำลายของพวกอนาธิปไตยจึงต้องพบกับความลักลั่นตรงที่ ความอยากจะท้าทายสถาบัน ทำให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอารยธรรมร่วมกันทั่วไปรู้สึกถูกโจมตีไปด้วย 
  
ลองดูที่ตัวอย่างสังคมอนาธิปไตยที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘ปารีสคอมมูน’ (Paris commune) ในปี 1871 เมื่อประชาชนคนสามัญชาวปารีสที่ถูกล้อมในวงสงคราม ลุกขึ้นมาตั้งชุมชน (commune) ที่ปกครองตนเองโดยปราศจากอำนาจชี้นำ และยังเป็นการแสดงพลังเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการทหาร 
 
ปารีสคอมมูนมีการทำลายสัญลักษณ์ทางการเมือง/อารยธรรมที่สำคัญเช่น การโค่นอนุสาวรีย์ของพระเจ้านโปเลียนที่วองโดม (Colonne Vendôme) อนุสาวรีย์นี้่เป็นสัญลักษณ์ของการทำสงคราม (ที่ทำให้สามัญชนทุกข์ทรมาน) และตัวแทนอำนาจกษัตริย์ (ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาเพราะสงคราม)  
 
และหนึ่งในผู้สนับสนุนให้ทำลายอนุสาวรีย์นี้คือ กุสตาฟ กูร์เบต์ ( Gustave Courbet) จิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ชาวฝรั่งเศส ผู้สร้างผลงานที่สะท้อนวิถีชีวิตของสามัญชน 

ความเศร้าที่เราพังวัฒนธรรม 

แต่การโค่นเสาพระเจ้านโปเลียนที่วองโดมยังไม่น่าเสียดายเท่ากับการเผาพระราชวังตุยเลอรี (Palais des Tuileries) และบางส่วนของพระราชวังลูฟวาร์ โดยชาวคอมมนูนในปีเดียวกันนั้น มันคือการแสดงสัญลักษณ์ของการทำลายอำนาจปกครองก็จริง แต่ก็มันก็ทำลายศิลปะอันล้ำค่าจำนวนมหาศาลและงานสถาปัตยกรรมชั้นเลิศของมุนษยชาติไปด้วย  
 
อย่างไรก็ตาม การทำลายอารยธรรมของพวกคอมมูนปารีส ทำให้ ฟรีดิช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมันต้องคิดหนัก เพราะไม่รู้จะโทษใครดีระหว่างชนชั้นนำผู้กดขี่ แต่ทำให้วัฒนธรรมสง่างามขึ้นมา หรือว่าควรจะตำหนิสามัญชนที่ถูกกดขี่จนต้องมาทำลายวัฒนธรรมเหล่านั้นดี  
 
แต่ก็นั่นแหละ นีทเชอ เป็นนักคิดในสายอนาธิปไตย เขาย่อมรู้สึกเห็นใจคนสามัญที่มาลงกับวัฒนธรรมที่สร้างโดยชนชั้นนำ แต่เพราะตัวเขาเองก็เป็นนักคิดที่เป็นผลพวงของวัฒนธรรม เราจึงรู้สึกว่า นีทเชอ ก็กระอักกระอ่านใจพอดูกับการทำลายล้าง 
 
กำแพงวัดพระแก้วก็ตกที่นั่งเดียวกันกับวองโดม ตุยเลอรี และลูฟวร์ แม้ความเสียหายจะแค่เล็กน้อย แต่มันสะท้อนความคิดเบื้องหลังอย่างเดียวกัน 
 
ดังนั้น เราจึงเห็นว่าบางคนที่เคยเชียร์ความเคลื่อนไหวทางการเมือง มาตอนนี้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจกับการละเลงกำแพงวัดพระแก้วของกลุ่มอนาธิปไตย เหมือนกับที่ นีทเชอ เคยรู้สึกแบบเดียวกัน 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์