บุกป่าล่าไฟ PM 2.5 (1): ออกล่าไฟกับทีมอาสาดับไฟป่า “คุณได้กลิ่นไฟป่าไหม?”

24 มี.ค. 2566 - 10:04

  • ติดตามภารกิจดับไฟป่าของ ‘ทีมอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา’

  • พวกเขา คือ ประชาชนคนธรรมดาที่รวมตัวกันออกเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ไล่ล่าไฟในฤดูฝุ่นควัน

  • ฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เราทุกคนล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

TAGCLOUD-documentary-hunting-forest-fire-1-SPACEBAR-Thumbnail
“ได้กลิ่นไฟป่าไหม” 

โจ้-ณัฐพล สิงห์เถื่อน ลดกระจกลง สูดจมูกฟุดฟิด ก่อนจะถามผู้ช่วยที่นั่งเบาะหน้าข้างคนขับ เธอได้กลิ่นเช่นกัน 

ผมพยายามสูดอากาศเพื่อทำความรู้จักกลิ่นที่ทั้งสองค้นพบ แต่ไม่พบลักษณะเฉพาะของกลิ่นแต่อย่างใด แต่กลิ่นนี้ก็ทำให้แนวไฟที่โจ้กำลังไล่ล่ามีตัวตนขึ้นมา 

ไฟน่าจะอยู่ไม่ไกลจากรถกระบะคันนี้ที่จอดอยู่กลางเส้นทางขึ้นภูเขาในหมู่บ้านห้วยน้ำริน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1OXFZOGOwHEmbQXH21jexw/e50fb2629430a8b5a769ecbf75dac057/TAGCLOUD-documentary-hunting-forest-fire-1-SPACEBAR-Photo01
Photo: รถยนต์ของทีมส่วนหน้าจอดอยู่ปากทางเข้าพื้นที่แนวไฟ โดรนกำลังบินสำรวจพิกัดของแนวไฟและเส้นทางเข้าออกที่ปลอดภัยแก่ทีมอาสาดับไฟ

ออกล่าไฟ 

สายตาของเขาระหว่างขับรถอยู่หลังพวงมาลัยเหมือนสายตานายพรานมองหาเหยื่อ โจ้มองหากลุ่มควันที่อาจลอยอยู่เหนือภูเขาข้างทาง เพราะข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียมบอกพิกัดเอาไว้ เพียงแต่เขายังไม่พบเส้นทางเข้าพื้นที่เกิดเหตุ

จากถนนเลียบคลองรอบนอกเมืองเชียงใหม่ โจ้และทีมส่วนหน้า ซึ่งประกอบด้วย ไน-นิอัลวาณีย์ บาสาลาฮา ผู้ช่วยของเขา, โต้ง-สถาพร ศรีแย้ม หนึ่งในทีมอาสาดับไฟป่า พวกเขาเว้นที่นั่งให้ผมได้ร่วมเดินทางไล่ล่าไฟในวันนี้ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7pUlRyMUcrOlf9967KbIcw/8bab3fd076a3f48dbf4fd03cf365e0bc/TAGCLOUD-documentary-hunting-forest-fire-1-SPACEBAR-Photo02
Photo: ไน-นิอัลวาณีย์ บาสาลาฮา
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/s7b3o2bHoh5vPktD6d3Cg/13caa55ff6b1006dd3cd04fcf6a9e72c/TAGCLOUD-documentary-hunting-forest-fire-1-SPACEBAR-Photo03
Photo: โต้ง-สถาพร ศรีแย้ม
ภายในรถเพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์สื่อสาร กระเป๋ากันกระแทกที่ภายในบรรจุโดรน อุปกรณ์กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต แบตเตอรี่สำรอง พวกเราเดินทางล่วงหน้าทีมดับไฟอีกกว่า 30 ชีวิตที่กำลังกินมื้อเช้าอยู่ที่ล็อบบี้ของโรงแรมรายวันย่านชานเมือง เพื่อสำรวจพื้นที่ระบุตำแหน่งของไฟให้ทีมเข้าดับไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เชียงใหม่ในยามเช้าถูกปกคลุมด้วยละอองแขวนลอยที่แสงเช้าย้อมเป็นสีส้ม เป็นเวลากว่าสองเดือนแล้วที่ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานคุณภาพอากาศไปไกลโข เราต่างถูกแขวนไว้กับลวดที่ขึงตรงกลางระหว่างชีวิตกับความตาย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7jsTt1a5pS3RpzeEPh2zwY/024c59db06d7a32ac4f8d59c02897cd2/TAGCLOUD-documentary-hunting-forest-fire-1-SPACEBAR-Photo04
Photo: PM 2.5 ปกคลุมท้องฟ้าเชียงใหม่ในฤดูฝุ่นควัน
ไอแพดถูกติดตั้งบนคอนโซลหน้าที่นั่งข้างคนขับ ไน-นิอัลวาณีย์ มือเป็นระวิงเมื่อนั่งตำแหน่งนี้ เธอต้องคอยเป็นมือเป็นไม้ให้หัวหน้า ทั้งค้นหาพิกัดที่ตั้งจุดความร้อนในกูเกิลแมพ พลิกหาความสูงชันของภูเขาในกูเกิลเอิร์ธ ควานหาเส้นคอนทัวร์ในภูมิประเทศที่ต้องนำทางทีมเข้าหาไฟ ไหนจะยังต้องติดต่อประสานงานกับทีมดับไฟที่กำลังเดินทางตามมาสมทบในรถยนต์อีก 2 คันที่ถูกเรียกว่า ‘บัวขาว’ กับ ‘ใบบุญ’

“มันจะบอกเราเลยค่ะว่าพิกัดที่เราระบุลงไปมีความสูงชันเท่าไร” ไนชี้ให้ผมดูหน้าจอไอแพดตรงหน้าเพื่อให้เห็นภาพการใช้เครื่องมือในการหาพิกัดของไฟ เธอมาจากเมืองนราธิวาส อายุยังไม่ถึงสามสิบปี แต่ทำงานกับหัวหน้าที่เก่งและควบคุมอารมณ์ได้ดีในสถานการณ์ที่ต้องการข้อมูลที่แม่นยำแข่งกับเวลาและไฟ ผมยังไม่เห็นโจ้แสดงอารมณ์ขุ่นมัวให้เธอขุ่นข้องใจ เพียงแต่น้ำเสียงราบเรียบของเขาต้องการให้เธอสื่อสารความคิดออกมาให้ชัดเจน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2li3DYMEV8oahH3EQT4XcU/90475b1ee2e11971210a4499adf90397/TAGCLOUD-documentary-hunting-forest-fire-1-SPACEBAR-Photo05
Photo: โจ้-ณัฐพล สิงห์เถื่อน
“พูดให้มันชัดเจนหน่อยสิ ไน” โจ้เค้นหาความชัดเจนจากผู้ช่วยของเขา ระหว่างที่มือก็หมุนพวงมาลัยไปตามทางคดโค้งของภูมิประเทศภาคเหนือ 

ตัวตนของไฟ ความทรงจำของดาว

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เป็นเวลาของภารกิจดับไฟป่า โจ้ตื่นตั้งแต่ตีห้าในห้องพักของโรงแรม เพื่อวิเคราะห์จุดฮอตสปอตที่ส่งมาจากระบบดาวเทียมตรวจวัดคลื่นรังสีอินฟาเรดหรือรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟที่อุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียสบนพื้นผิวโลก จากนั้นก็ประมวลผลแสดงในรูปแบบจุดบนแผนที่บอกตำแหน่งเกิดไฟในแต่ละพื้นที่แบบคร่าวๆ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7KBVn0Lqk1pbydkyEDnmkI/691b16eef77f4921ffa77de2467a8b8a/TAGCLOUD-documentary-hunting-forest-fire-1-SPACEBAR-Photo06
Photo: กลุ่มควันโลมเลียป่าไม้และทิวเขาในจังหวัดเชียงใหม่
สิ่งที่โจ้ทำต่อก็คือการวิเคราะห์จุดความร้อนเป้าหมาย พิจารณาช่วงเวลาในการเกิดไฟ คำนวณความเป็นไปได้ของจุดความร้อนบนพิกัดของแผนที่ ความยากง่ายในการเข้าพื้นที่ในแต่ละสภาพภูมิประเทศ

การวิเคราะห์ข้อมูลจะช่วยเปลี่ยนจุดความร้อนจากดาวเทียมเป็นแนวไฟที่มีชีวิตบนผิวโลก หรือบางทีจุดความร้อนนั้นก็อาจจะดับไปแล้วก็เป็นไปได้เช่นกัน นี่คือขั้นตอนสำคัญ เพื่อค้นหาตัวตนของไฟก่อนจะนำทีมดับไฟกว่า 30 ชีวิตเข้าพื้นที่ไปไล่ล่าดับมันในแต่ละวัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7MsaidDnaFTecgiKHFgBzn/a3aed5ad2c2d68e0c768adb749966eae/TAGCLOUD-documentary-hunting-forest-fire-1-SPACEBAR-Photo07
Photo: ทีมอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา
“ข้อมูลที่ดาวเทียมถ่ายได้ตอนเที่ยงคืน เราจะได้รับตอนหกโมงเช้าครับ” โจ้กล่าว “แต่ถ้ามันถ่ายได้ตอนบ่ายเราจะได้รับตอนเย็น ถ้าเราได้รับข้อมูลแบบเรียลไทม์ก็จะทำให้การดับไฟมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” 

นั่นหมายความว่าทุกครั้งที่หัวหน้าโครงการอาสาดับไฟป่าฯ ผู้นี้ตื่นเช้าขึ้นมาดูข้อมูลจุดความร้อนในแต่ละวัน เขากำลังดูดวงไฟเมื่อ 6 ชั่วโมงที่แล้ว 

ความล่าช้าของข้อมูลทำให้ผมมองเห็นแง่มุมโรแมนติกในลักษณะเดียวกับแสงของดวงดาวที่เดินทางมาจากอดีต แสงดาวที่เราเห็นจึงเป็นความทรงจำของดวงดารา แต่ดวงตาของโจ้ไม่มีอารมณ์โรแมนติก เขาต้องการเเสงดาวที่ดำรงอยู่ในตำแหน่งของปัจจุบัน เพื่อนำทางทีมอาสาดับไฟป่ากว่า 30 ชีวิตเข้าดับไฟ

เพราะแสงจากดาวดวงที่มองเห็นในตอนเช้ามืด อาจจะดับไปแล้วเมื่อทีมเดินทางไปถึงในช่วงแสงอาทิตย์แผดกล้า
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6WKl4h14fDHyfiCyZwn3q1/49fd07f17ad55e29abb8a8fd8295035d/TAGCLOUD-documentary-hunting-forest-fire-1-SPACEBAR-Photo08
Photo: ทีมอาสาดับไฟป่ากำลังสังเกตกลุ่มควันที่ลอยอ้อยอิ่งอยู่ในป่า พวกเขาเข้าใกล้แนวไฟเข้าทุกที

ใบหน้าคนดับไฟ 

“เราต้องเลือกว่าไฟที่เราจะไปดับ เหมาะกับทีมมั้ย” โจ้กล่าว 

ทีมอาสาดับไฟป่าประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง-เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา คอยประสานงานและวางแผนการจัดการ 

กลุ่มที่สอง-อาสาสมัครจากชุมชนในเมืองเชียงราย คนกลุ่มนี้มีความชำนาญภูมิประเทศบนภูเขา แข็งแรงและมีกำลังขาดี 

กลุ่มที่สาม-คนในเมืองต่างๆ ที่ทีมอาสาดับไฟป่าเดินทางมาทำภารกิจ ผมจัดอยู่ในคนกลุ่มนี้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2TN8nvFcZEadHn38IwwVFq/59040781fd44e74d776fa920017d3cb9/TAGCLOUD-documentary-hunting-forest-fire-1-SPACEBAR-Photo09
Photo: ก่อนออกเดินเท้าเข้าป่าไปดับไฟ ทีมอาสาดับไฟจะรวมตัวกันประเมินข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดก่อนเข้าไปรบกับไฟ
“เพราะเรามีทั้งคนที่ชำนาญและไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เราต้องแบ่งหน้าที่ที่เหมาะสมให้เขา” โจ้เอ่ยถึงทักษะการดับไฟที่แตกต่างหลากหลายของทีมอาสาดับไฟป่า 

จุดความร้อนปรากฎชัดเจนในข้อมูล แต่เรายังหาทางเข้าพื้นที่ไม่พบ จนกระทั่ง ‘บัวขาว’ และ ‘ใบบุญ’ เดินทางตามมาสมทบกับรถยนต์คันของเราที่จอดในหน่วยงานของอุทยานฯ การติดต่อประสานงานเจ้าหน้าในพื้นที่เป็นสิ่งที่ทีมอาสาดับไฟป่าจะทำก่อนเสมอ เพื่อไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อนและเป็นการรีเช็คข้อมูลกับคนในพื้นที่ แต่เมื่อไม่พบใคร พวกเขาตัดสินใจเดินหน้าตามล่าไฟต่อ

“เราไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ครับ วิกฤติทางสังคมและปัญหาฝุ่นควันในแต่ละพื้นที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่าทีมของเราจะไปที่ไหน” โจ้กล่าวพร้อมกับพารถยนต์ของทีมส่วนหน้าเข้าไปในหมู่บ้านชาวม้ง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/Si7ubwpkG0To95vMDDtMX/7f0a0fb78267751e642aa5c98c0e2bd9/TAGCLOUD-documentary-hunting-forest-fire-1-SPACEBAR-Photo10
Photo: ภูมิและต่อ เด็กหนุ่มชาวอาข่าจากจังหวัดเชียงรายนั่งรถมอเตอร์ไซค์ Enduro ทั้งสองมีอายุ 17 ปี พละกำลังของทั้งสองช่วยทีมลำเลียงน้ำและน้ำมันในภูมิประเทศสูงชันได้อย่างมาก
ต้นลำไยเรียงรายสองข้างทาง ภูเขาสูงใหญ่อยู่ตรงหน้า เส้นทางคดเคี้ยวและแคบ ถนนลูกรังพารถกระเด้งกระดอนไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ระหว่างเดินทางเราพบชายชาวม้งกำลังขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นไปเฝ้าเวรยามในฤดูไฟป่า ทีมอาสาดับไฟจึงขี่รถมอเตอร์ไซค์ Enduro ติดตามมอเตอร์ไซค์ 4 จังหวะของชาวบ้านขึ้นไปสำรวจหาเส้นทางเข้าถึงไฟ

โจ้จอดรถยนต์บัญชาการไว้ที่ลานโล่งตีนเขา โดรนทะยานขึ้นบินสำรวจหาแนวไฟและเป็นดวงตานำทางให้ทีมดับไฟที่จะเดินเท้าเข้าไปในสภาพภูมิประเทศที่ยากลำบาก ทีมอาสาดับไฟทยอยกันลงมาจากรถยนต์ทั้งสองคัน อุปกรณ์ในการดับไฟถูกลำเลียงลงมาจากท้ายรถ พวกเขาคือประชาชนคนธรรมดา มีทั้งชาวต่างชาติ ชาติพันธุ์อาข่า คนเมือง สตรี และเยาวชน อายุมากสูงสุด 57 ปี อายุน้อยสุด 17 ปี
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4EBSQSOFCxD9dPuZiBfo1O/fd3bec10bb7c06296643b76788e7933e/TAGCLOUD-documentary-hunting-forest-fire-1-SPACEBAR-Photo11
Photo: โจ้บังคับโดรนบินสำรวจแนวไฟในพื้นที่ช่วงเช้าเพื่อนำทางให้ทีมดับไฟที่กำลังเดินทางตามมาสมทบ
หลังจากรับอุปกรณ์มาไว้กับตัว เตรียมน้ำดื่ม อาหารกลางวัน ขนมลูกอมถูกแจกจ่ายไว้เป็นพลังงานสำรอง ก่อนออกเดินเท้าพวกเขารวมตัวกันประเมินข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดก่อนเข้าไปรบกับไฟ 

“ถ้ามีข้อคิดเห็นที่แตกต่าง เราจะเเลกเปลี่ยนกันตรงนี้เลยครับ แต่ละคนคิดยังไงกับแผนการที่จะเข้าไปดับไฟ” โจ้อธิบายถึงวงประชุมสุดท้ายก่อนเข้าป่าล่าไฟ จากนั้นการเดินเท้าเข้าตีไฟจึงเริ่มขึ้น 

ติดตามทีมดับไฟป่าเข้าสู่พื้นที่ ---> คลิ๊ก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/hA3FSGVCOSmUoepCXYnIx/a24285d116becc09ad53afe5f3132da6/TAGCLOUD-documentary-hunting-forest-fire-1-SPACEBAR-Photo12
Photo: เส้นทางขึ้นดอยไปยังพิกัดแนวไฟในหมู่บ้านชาวม้งในเขตอำเภอแม่วาง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์