#หมอลาออก (1): แพทย์ไทย ‘แบก’ อะไร นอกจากอันดับโลก

9 มิ.ย. 2566 - 07:56

  • การแพทย์ของประเทศไทยถือว่าเป็นที่ยอมรับในสากลโลก ในปี 2021 ระบบสาธารณสุขติดอันดับที่ 13 ของระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก จาก 89 ประเทศทั่วโลก จากการจัดอันดับโดยนิตยสาร CEO WORLD ซึ่งพิจารณาจากภาพรวมของสถิติด้านสาธารณสุข ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน ความสามารถของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ งบประมาณ การเข้าถึงยารักษา และความพร้อมของภาครัฐ

  • แต่บุคลากรทางการแพทย์ของไทยกำลังแบกรับอะไรไว้ ทำไมหมออินเทิร์นจึงแห่ลาออกกันเป็นจำนวนมาก

TAGCOUD-the-great-resignation-of-intern-doctors-is-just-the-tip-of-the-iceberg-SPACEBAR-Thumbnail
จากดราม่า #หมอปุยเมฆ ที่ออกมาเผยสาเหตุการลาออกในโลกออนไลน์ สู่การสำรวจปัญหาที่หยั่งรากลึกในระบบสาธารณสุขไทย ตอนแรกของบทความซีรีส์นี้จะพาไปค้นหาคำตอบว่าทำไมแพทย์อินเทิร์นจึงลาออกเป็นจำนวนมาก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/LnVSoFVN6XPNUW0HYdpzO/1247664be0728b6a97abff5c6afe6392/TAGCOUD-the-great-resignation-of-intern-doctors-is-just-the-tip-of-the-iceberg-SPACEBAR-Photo_V01
Photo: การจัดอันดับระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก โดยนิตยสาร CEO WORLD
ระบบสาธารณสุขไทยได้อันดับสูงสุด เมื่อเทียบประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน เช่น สิงคโปร์ (อับดับที่ 24) และมาเลเซีย (อันดับที่ 34) 

แต่สิ่งที่การจัดอันดับไม่ได้บอกเราก็คือ อัตราการลาออกของแพทย์ไทยนับว่าสูงมากเช่นกัน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ชี้แจงว่าปัญหาการขาดแคลนแพทย์สะสมมานาน ทำให้แพทย์ต้องแบกรับภาระงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน 
  • ปัจจุบันมีแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 24,000 คน  
  • งานหนัก แพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 2,000 คน (1 : 2,000) ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด 1 : 1,500 คน 
  • อัตราการลาออกปีละ 455 คน และมีผู้เกษียณอายุปีละ 200 คน 
จากกระแส #หมอปุยเมฆ อดีตหมออินเทิร์นออกมาเปิดเผยว่าลาออกจากโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากต้องทำงานหนักติดต่อกัน ไม่มีเวลาพัก เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมาก จนกลายเป็นดราม่าบนโลกออนไลน์อยู่หลายวันนั้น ขณะเดียวกันก็มีทั้งอดีตแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขโพสต์ออกมาเล่าประสบการณ์การทำงานเป็นแพทย์อินเทิร์น รวมถึงให้สัมภาษณ์กับสื่อมากมายเพื่อช่วยกัน ‘สะบัดพรม’ ให้เห็นปัญหาที่ถูกซุกซ่อนมานาน 

จากข้อมูลของแหล่งข่าว พบว่า แพทย์ฝึกหัดทำงานเฉลี่ย 80-100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อยู่เวรในโรงพยาบาลติดต่อกัน 1-3 วัน นอกจากจะพักผ่อนไม่เพียงพอแล้ว ยังเผชิญกับแรงกดดันในการทำงาน ทั้งจากอาจารย์แพทย์อาวุโสและคนไข้ ประกอบกับได้รับค่าตอบแทนไม่เหมาะสม เช่น ต้องรอตกเบิก จึงจะได้รับเงินเดือน และถ้าอยากได้เงินเพิ่มขึ้นก็ต้องเข้าเวรมากขึ้น ส่วนอีกปัจจัยคือ การฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น 

ทำให้แพทย์ฝึกหัดมีแนวโน้มจะลาออกไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนซึ่งให้ค่าตอบแทนดีกว่าและมี Work Life Balance หรือสมดุลด้านการทำงานกับชีวิตมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ และเลือกที่จะจ่ายค่าทุนการศึกษาแทน 

ด้วยรูปแบบการทำงานเช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่านักเรียนแพทย์และแพทย์ฝึกหัดมีแนวโน้มจะลาออกมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่แค่ข้อสันนิษฐาน แต่ได้เกิดขึ้นแล้ว  

ย้อนกลับไปปี 2560 กรรมการแพทยสภา ได้เปิดเผยว่าบุคลากรทางการแพทย์กำลังลดลง มีสถิติลาออกเกือบ 50% ต่อปี ขณะที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ทำให้แพทย์ พยาบาล ทำงานหนักขึ้น และส่งผลต่อการให้บริการที่ไม่ทั่วถึง 

นี่คือสัญญาณของ The Great Resignation ซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสียแพทย์ใหม่ๆ รวมถึงบุคลากรที่ยังอยู่ในระบบในอนาคตอันใกล้นี้ 

ไทยกำลังขาดแคลนแพทย์มากแค่ไหน?  

แพทยสภาได้เปิดเผยข้อมูลสถิติของปี 2566 ที่น่าสนใจ ดังนี้ 
  • ปัจจุบันมีแพทย์ที่อยู่ในระบบทั้งหมด 72,250 คน แบ่งเป็นชาย 39,207 คน และหญิง 33,043 
  • ถึงจะมีชื่ออยู่ในระบบ แต่แพทย์ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีเพียง 68,725 คน โดยสามารถติดต่อได้ 66,685 คนเท่านั้น 
  • ประเด็นที่น่าสนใจคือ แพทย์ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ 32,198 คน คิดเป็น 48.2% ส่วนแพทย์อีก 34,487 คน อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ คิดเป็น 51.8%  
  • เท่ากับว่าระบบสาธารณสุขของไทยยังเผชิญกับปัญหาการกระจายบุคลากรแพทย์ไปยังจังหวัดต่างๆ ทำให้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดมีบุคลากรไม่เพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วยในแต่ละจังหวัดได้ ขณะที่กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดเดียว แต่มีแพทย์มากกว่า 3 หมื่นคน 
ทีนี้ เมื่อดูข้อมูลรายปีย้อนหลังของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะเห็นได้ว่าจำนวนแพทย์ที่สังกัดในโรงพยาบาลรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงโควิด-19 ระบาด จนกระทั่งปี 2566 กลับลดลงอย่างน่าใจหาย และถือว่าน้อยที่สุดในรอบ 6 ปี 
  • ปี 2560: 35,388 คน 
  • ปี 2561: 36,938 คน 
  • ปี 2562: 39,156 คน 
  • ปี 2563: 36,472 คน 
  • ปี 2564: 38,820 คน 
  • ปี 2566: 24,649 คน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2fkcEk7WujLsHmjwtb34tZ/55f033767827594a4cc817978b8da523/TAGCOUD-the-great-resignation-of-intern-doctors-is-just-the-tip-of-the-iceberg-SPACEBAR-Photo01
ส่วนเรื่องชั่วโมงการทำงานนอกเวลา กระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจข้อมูลปี 2565 พบว่ามีโรงพยาบาลที่แพทย์ต้องปฏิบัติงานนอกเวลาเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มากถึง 65 แห่งทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่ทำงานนอกเวลามากกว่า 40-46 ชั่วโมง แต่ที่โหดสุดคือ มีแพทย์ที่ต้องทำงาน ‘นอกเวลา’ มากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 9 โรงพยาบาล 

นี่คือสัญญาณสำคัญที่สะท้อนถึง The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ซึ่งจะทำให้สาธารณสุขไทยต้องสูญเสียบุคลากรจากระบบ 

ประเด็นนี้จึงกลายเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันหาทางแก้ไข เพราะระบบสาธารณสุขที่ขึ้นชื่อ ‘ดีระดับโลก’ นั้น ไม่ได้กำลังทำร้ายแค่บุคลากรในระบบ แต่อาจลุกลามไปถึงความไม่พร้อมที่จะดูแล ‘สังคมสูงวัย’ ของประเทศไทยที่จะเต็มไปด้วย ‘คนแก่ก่อนรวย’  

จะเห็นได้ว่า ดราม่า #หมอลาออก เป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เมื่อเทียบกับปัญหาอื่นๆ ที่หยั่งรากลึกในระบบนี้ ติดตามได้ในบทความต่อไป 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4ed3UzekHB68LZFh64TSF5/a8c7a801dd0bd3c30363084a92e0cf2d/________-_____-_____________1_

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์