‘ลูกพญาแร้ง’ ตัวแรกในรอบ 30 ปี กับความหวังคืน ‘เทศบาลประจำป่า’ สู่พงไพร

17 เม.ย. 2566 - 02:15

  • ‘ลูกพญาแร้ง’ ถือกำเนิดในรอบ 30 ปี และเรื่องราวการสูญพันธุ์ของพญาแร้งฝูงสุดท้ายแห่งป่าห้วยขาแข้ง กับตำนานบทใหม่ภายใต้ความหวังฟื้นฟู ‘นกเทศบาลประจำป่า’ กลับมาทำหน้าที่ในธรรมชาติอีกครั้ง

The-first-Sarcogyps-calvus-after-30-years-of-extinction-SPACEBAR-Thumbnail
เป็นความภูมิใจของคนไทยและวงการอนุรักษ์ธรรมชาติ หลังเมื่อวันที่ 10 เมษายน (2566) ที่ผ่านมา มีข่าวดีเผยแพร่สู่สาธารณชน กรณีการถือกำเนิดใหม่ของ ‘พญาแร้ง’ สัตว์ป่าสำคัญที่สูญหายจากป่าเมืองไทยไปแล้วกว่า 30 ปี โดย ‘ลูกพญาแร้ง’ ตัวนี้เกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์ของพญาแร้งสองตัว ‘แจ๊ค’ (เพศผู้) และ ‘นุ้ย’ (เพศเมีย) นกล่าเหยื่อที่อยู่ในกรงเลี้ยงภายใต้การดูแลของ สวนสัตว์นครราชสีมา (องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ) โดยก่อนหน้านี้ ‘แม่นุ้ย’ ได้ออกไข่เมื่อวันที่ 17 มกราคม ซึ่งทีมงานได้เก็บรักษาอย่างดีในตู้ฟักไข่เพื่อโอกาสรอดของลูกนก กระทั่งวันที่ 9 มีนาคม พญาแร้งน้อยก็ได้ลืมตาดูโลกเป็นวันแรก   

อย่างไรก็ดี กระบวนการที่กล่าวขึ้นในย่อหน้าแรกดูเหมือนเป็นการง่ายที่จะเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสูญพันธุ์ แต่ความจริงกลับเป็นสิ่งท้าทายพอสมควรสำหรับในการพลิกฟื้นคืนชีวิต

ผู้เขียนขอย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน ขณะที่ทำงานในองค์กรอนุรักษ์สังกัด ‘มูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ ได้มีโอกาสร่วมปฏิบัติงานภายใต้โครงการ ‘พญาแร้งคืนถิ่นฯ’ อันประกอบด้วยองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ - สัตว์ป่าหลายหน่วยงาน ในฐานะนักสื่อสารงานอนุรักษ์ ผมพร้อมด้วยคณะนักวิจัยและนักสัตว์ป่าศึกษา ได้เฝ้าสังเกตการทำงานเพื่อฟื้นฟูนกนักล่าชนิดนี้ ณ ผืนป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นอีกสถานที่ ที่ในวันวานเคยมีพญาแร้งโบยบินอยู่เหนือราวป่า 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4uHOQaajCEOWTp7GqnQJKN/7a2aacd7b627e115c69629a67d3abb6b/The-first-Sarcogyps-calvus-after-30-years-of-extinction-SPACEBAR-Photo01
Photo: ลูกพญาแร้งเพศเมีย ตัวแรก ในรอบ 30 ปี / สวนสัตว์นครราชสีมา
การกินอยู่ท่ามกลางธรรมชาติเป็นเวลาหลายวัน ทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุยข้อมูลกับทีมงานหลายคน หนึ่งในนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนกนักล่า ซึ่งบทสนทนาว่าด้วยีความสำคัญของ ‘แร้ง’ ต่อธรรมชาติ โดย ‘ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว’ หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายเชิงวิชาการสามารถสรุปออกมาได้สอง - สามบรรทัด  

แร้งคือสัตว์ป่าผู้ทำหน้าที่ประหนึ่ง ‘เทศบาลประจำป่า’ คอยกำจัดซากสัตว์ที่สิ้นชีพด้วยปัจจัยต่างๆ และเป็นตัววัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เพราะหากพบนกชนิดนี้ในป่า จะสามารถอนุมานได้ว่าธรรมชาติในพื้นที่มี ‘สัตว์ผู้ล่า’ และ ‘เหยื่อ’ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฎจักรตามธรรมชาติอาศัยอยู่อย่างสมบูรณ์

สำหรับพญาแร้ง (Sarcogyps calvus) เป็นนกขนาดใหญ่ เป็นสัตว์ในวงศ์เหยี่ยว (Family Accipitridae) หรือนกวงศ์ผู้ล่า (Bird of Prey) มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ มักหากินอยู่ตามพื้นที่โล่งแจ้ง โดยมักจะบินร่อนเป็นวงกลมบนท้องฟ้าระดับสูง สามารถร่อนกลางอากาศอยู่นานนับชั่วโมง โดยไม่ต้องกระพือปีก พบมากในทวีปเอเชียแถบประเทศอินเดีย จีน พม่า และอินโดจีน ในประเทศไทยเคยพบเจอที่ผืนป่าห้วยขาแข้งในฐานะ ‘สัตว์ประจำถิ่น’ มีพี่ๆ น้องๆ ร่วมสปีชีย์หากินในพื้นที่อีก 2 ชนิด คือ ‘แร้งเทาหลังขาว’ และ ‘เเร้งสีน้ำตาล’
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4V9z7I67bL8xKywSggLVv4/6603fcad3b8d8dd8efcc61ff00aca1d4/The-first-Sarcogyps-calvus-after-30-years-of-extinction-SPACEBAR-Photo02
Photo: พญาแร้ง และแร้งชนิดอื่นๆ ร่วมกินซากวัวที่ตายแล้ว / ไชยยันต์ เกษรดอกบัว
“พญาแร้งและแร้งชนิดอื่นเป็นสัตว์กินซาก เขาไม่พรากชีวิตสัตว์ แม้เขาจะเป็นนกนักล่า แต่เขาจะรอเวลาให้เหยื่อตาย และลงมากินซากเหล่านั้น ฉะนั้นแร้งจึงมีหน้าที่สำคัญต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะป่าเต็งรัง เขาจึงเปรียบได้ดั่งผู้ทำความสะอาดดูแลด้านสุขอนามัย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรค นำไปสู่สัตว์ป่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตในพื้นที่นั้นๆ” ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์  

นี่จึงเป็นความสำคัญในเชิงนิเวศวิทยาที่ว่าทำไมจะมีมีการฟื้นฟูขยายพันธุ์ ‘พญาแร้ง’ ทั้งๆ ที่คนไทยมีมุมมองกับสัตว์ชนิดนี้ในฐานะ ‘สัตว์อัปมงคล’

ตามข้อมูลเชิงวิชาการ ปัจจุบันประเทศไทยมีพญาแร้งเหลืออยู่เพียง 6 ตัวเท่านั้น โดยทุกตัวถูกดูแลฟื้นฟูอย่างดีภายในกรงเลี้ยง และเมื่อคราวผู้เขียนได้เดินทางไปกับคณะทำงานโครงการพญาแร้งคืนถิ่นฯ ณ ป่ามรดกโลกจังหวัดอุทัยธานี  

ผมได้สืบค้นข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ในอดีตถึงการมีอยู่ของพญาแร้งกลางผืนป่า ผ่านงานเขียนสารคดีของ ‘พงศกร ปัตตพงษ์’ เรื่อง ‘แร้งไทยในวิกฤต’ ซึ่งพงศกรบันทึกเรื่องราวระหว่างทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนักวิจัยภาคสนาม โครงการวิจัยเพื่อความยั่งยืนของความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย เมื่อปี 2535 โดยช่วงนั้นเขาได้มีโอกาสเก็บรวบรวมข้อมูลและบันทึกพฤติกรรมผ่านภาพถ่าย โดยมี ‘แร้งหัวแดง’ (Red – Headed Vulture) หรือพญาแร้งเป็นพระเอกของเรื่อง มีป่าห้วยขาแข้งเป็นฉากแสดง  

ในบันทึกของพงศกรมีข้อมูลที่น่าสนใจเรื่องนิเวศพงไพรหลายเรื่อง แต่ที่เห็นจะเป็นประเด็นหลัก คือ เหตุการณ์เศร้าสลดสำหรับวงการอนุรักษ์เมืองไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรักตามปฏิทินสากล ผู้บันทึกกล่าวถึงเหตุการณ์กลางป่าห้วยขาแข้ง ว่าสิ่งที่ได้พบเห็นวันนั้น คือซากเก้งที่ถูกตัดแบ่งครึ่ง ทางหัวหนึ่งชิ้นทางหางอีกหนึ่งชิ้น ซึ่งเก้งเคราะห์ร้ายไร้ชีวิตถูกเจาะด้วยมีดเป็นรูพรุน แต่ละรูถูกบรรจุด้วย ‘ฟูราดาน’ ยาเกล็ดสีม่วงลักษณะคล้ายคลึงกับด่างทับทิม แต่อันตรายกว่าประมาณ 1 ล้านเท่า 

วิธีของพรานป่าหัวใสที่หวังล่อเสือโคร่งให้ติดกับลงมากินซากเก้งอาบยาพิษ แล้วสิ้นใจโดยปราศจากการยิงด้วยกระสุนปืน ได้ของสมนาคุณเป็นหนังเสือที่ไร้รอยตำหนิขายราคาสูง แต่เหตุกลับตาลปัตร เมื่อผู้เคราะห์ร้ายหาใช่เจ้าลายพาดกลอน แต่เป็นนกล่าเหยื่อผู้ทำหน้าที่กำจัดซากสัตว์ 

พงศกรเล่าบรรยากาศผ่านตัวหนังสือระบุถึงบริเวณโดยรอบของซากเก้งนั้น ว่าถูกรายล้อมไปด้วยซากของพญาแร้ง ที่ลงมาทำหน้าที่ของมันคือการกำจัดซากเก้ง กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณจุดเกิดเหตุ โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในวันวาเลนไทน์ ปี 2535 ถือเป็นการปิดฉากตำนานนกเทศบาลประจำป่าห้วยขาแข้งฝูงสุดท้ายลงอย่างนิรันดร์กาล... 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/taVPcHPa46f7rRqipwBW9/343d240a742cf4beef1dc42767f7c203/The-first-Sarcogyps-calvus-after-30-years-of-extinction-SPACEBAR-Photo03
Photo: พญาแร้งฝูงสุดท้ายของป่าห้วยขาแข้งตายยกฝูง / พงศกร ปัตตพงษ์
ราว 30 ปี ที่พญาแร้งสูญพันธุ์หายจากผืนป่าประเทศไทย โศกนาฏกรรมที่ป่าห้วยขาแข้ง ถูกหยิบยกเป็นบทเรียนให้กับคนแวดวงอนุรักษ์รุ่นหลัง และโครงการ ‘การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย’ จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูและขยายพันธุ์พญาแร้งคืนสู่ผืนป่าธรรมชาติ

เริ่มต้นได้มีการนำพญาแร้งในกรงเลี้ยงที่มีอยู่ในประเทศ 6 ตัวที่ขณะนี้ 4 ตัว ถูกดูแลอย่างดีภายในกรงเลี้ยง ณ สวนสัตว์นครราชสีมา และ อีก 2 ตัว อยู่ที่ กรงที่ถูกสร้างขึ้นกลางป่า ณ หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อย่างไรก็ดี สำหรับ ‘แจ๊ค’ และ ‘นุ้ย’ ก็ได้สร้างความหวังให้กับทีมงานและประชาชน โดยการมอบรางวัลชิ้นใหญ่สำคัญเป็น ‘ลูกพญาแร้ง’ เพศเมีย ตัวแรกของประเทศไทย ทั้งนี้แม่พญาแร้งออกไข่ใบแรกมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 และทางเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ได้นำเข้าตู้ฟัก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 โดยธรรมชาติพญาแร้งจะออกไข่ครั้งละ 1 ฟองเท่านั้นต่อฤดูการผสมพันธุ์  

แต่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเพิ่มประชากร ทางเจ้าหน้าที่โดยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ จึงนำไข่มาฟักในตู้ฟักเพื่อเพิ่มอัตราการฟักเป็นตัวมากยิ่งขึ้น และเพื่อเพิ่มประชากรโดยหวังให้แม่นกออกไข่ใบที่สอง และเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 และนี่ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยอีกเช่นกัน ที่พญาแร้งสามารถออกไข่ใบที่สองด้วย  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4IyCDgmr1MVXyvDMlVjFFF/4924f3c9f0662f181a65f420205226ed/The-first-Sarcogyps-calvus-after-30-years-of-extinction-SPACEBAR-Photo04
Photo: พญาแร้ง ดูเด่นเป็นสง่ายามกางปีก / ไชยยันต์ เกษรดอกบัว
หลังแวดวงอนุรักษ์เมืองไทย พยายามเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งมากว่า 20 ปี ตามข้อมูลระบุ ว่าพ่อแม่พญาแร้งคู่แรก เริ่มให้ไข่ครั้งแรกเมื่อปี 2563 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไข่ไม่มีเชื้อ จึงมีความพยายามจับคู่ผสมพันธุ์ใหม่โดยใช้วิธีตามธรรมชาติ ปัจจุบันลูกพญาแร้งเกิดใหม่ในสถานที่เพาะเลี้ยง ทั่วโลก มีเพียงแค่ประเทศอิตาลี ประเทศไทยนับเป็นประเทศลำดับ 2 ที่สามารถเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งได้ในสถานที่เลี้ยง นับเป็นความสำเร็จของทีมอนุรักษ์ และวิจัย ในการเติมประชากรแร้งในในอนาคต

ว่ากันต่อด้วยเรื่องไข่ใบที่สอง ซึ่งเป็นผลผลิตระหว่าง ‘แจ๊ค - นุ้ย’ ทางนักวิจัยโครงการจะปล่อยให้แม่นกฟักเอง เพื่อธำรงไว้ซึ่งสัญชาตญาณตามธรรมชาติ อาจใช้เวลาเท่ากับการฟักในตู้ราว 50 วัน ดังนั้นผู้เขียนจึงขอตั้งความหวังและเอาใจช่วยทีมงาน และเชื่อว่าอาจจะมีข่าวดีในเร็วๆ นี้  

แสงสว่างจากปลายอุโมงค์ เริ่มส่องเด่นชัดเข้ามาทุกที ความพยายามอาจไม่สูญเปล่า เราอาจเห็น ‘พญาแร้ง’ กลับมาโบยบินเหนือราวป่า ทำหน้าที่ของมันเป็นเทศบาลประจำไพร เยี่ยงอดีตที่ก่อนที่ ‘มนุษย์’ จะรุกคืบพรากธรรมชาติไปสู่การพัฒนาที่ไม่มีวันสิ้นสุด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์