กมธ.อุตฯ ชง ก.อุตฯ เพิกถอนสิทธิ BOI ‘บ.ผลิตเหล็กเส้น’

10 เม.ย. 2568 - 05:53

  • ‘กมธ.อุตสาหกรรม’ ชง ‘กระทรวงอุตฯ’ เพิกถอนสิทธิ BOI ‘บ.ผลิตเหล็กเส้น’ ตกมาตรฐาน ลามทำตึก ‘สตง.’ ถล่ม

  • แนะ ส่งข้อมูลตรวจสอบวัสดุต่ำกว่ามาตรฐานให้ ‘รัฐบาล’ สอบ

akkaradech-10apr25-SPACEBAR-Hero.jpg

อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลัง กมธ.เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงกรณีปัญหาเหล็กเส้นที่ใช้ในการสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)แห่งใหม่ 30 ชั้น ที่พังถล่มลง ช่วงเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า เหตุการณ์นี้มีพี่น้องประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก กมธ.เชิญสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) มาชี้แจง ทราบว่า เหล็กที่นำไปตรวจสอบมาจากสุ่มตรวจสอบ 9 รายการ เป็นเหล็กข้ออ้อย และลวดเหล็กกล้าตีเกลียว ผลพิสูจน์ปรากฏว่า ตกสเปค 2 รายการ คือ เหล็กDB20 และ DB32 โดยทางรองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ชี้แจงต่อกมธ. โดยมีข้อกังวลว่า เหล็กที่ใช้ตรวจไม่ใช่เหล็กใหม่ แต่เป็นเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างแล้ว เมื่อเกิดแผ่นดินไหวก่อนอาคารพังถล่ม เหล็กได้ทำหน้าที่รับแรงดึง ซึ่งเหล็กเมื่อมีการใช้งานไปแล้ว อาจมีปัญหาในการตรวจสอบ  กมธ.จึงเสนอแนะว่า ข้อมูลที่จะถูกส่งไปยังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งโดยรัฐบาล จึงต้องเก็บรวบรวมข้อมูลให้รอบคอบรัดกุมเพื่อดำเนินคดีกับผู้ผลิตเหล็กทั้ง 2 รายการนี้ ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้แจงว่า ก่อนจะมีการก่อสร้าง หน่วยงานก่อสร้างจะต้องตัดชิ้นตัวอย่างไปตรวจสอบ ซึ่งกมธ.จะทำหนังสือขอข้อมูลในส่วนของการควบคุมการก่อสร้างจากกรมโยธาธิการฯ ด้วย เนื่องจากการก่อสร้างหน่วยงานราชการไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่แจ้งให้ทราบว่า จะมีการสร้างอาคารเท่านั้น

อัครเดช กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการกล่าวหาในสื่อโซเชียลว่า สมอ.สั่งอายัดเหล็กที่ตกสเปคจากผู้ผลิตเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร สตง.ตั้งแต่เดือน ธ.ค.67 นั้น เป็นกระบวนการตรวจสอบควบคุมคุณภาพตามพระราชบัญญัติมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยโรงงานดังกล่าวถูกสั่งปิดจากเหตุเพลิงไหม้อยู่ด้วย โดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมมีคำสั่งให้โรงงานนี้ต้องปรับปรุงคุณภาพเหล็กให้ได้มาตรฐานก่อนจะจำหน่ายเหล็กได้อีกครั้ง ส่วนที่จะผลิตใหม่และจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชน ขอให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า หากไม่มีการแก้ไข ก็จะไม่สามารถผลิตได้ ขณะที่การเพิกถอนสิทธิประโยชน์การลงทุน (BOI)  กมธ.ได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเพิกถอนสิทธิ BOI กับบริษัทผู้ผลิตเหล็กนี้ ก่อนที่จะมีการเกิดแผ่นดินไหว โดยทางเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ชี้แจงว่า ตามกฎหมายสามารถถอนได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการนั้นละเมิดกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผู้ประกอบการได้ละเมิดกฎหมาย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องทำบันทึกไปถึง BOI เพื่อให้พิจารณาถอนสิทธิประโยชน์ จึงอยากให้BOI ได้พิจารณาตามอำนาจหน้าที่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์