‘นักพูด’ มีอิทธิพลหรือไม่ กับ ‘ภูมิทัศน์’ สื่อที่เปลี่ยนผ่านอยู่ทุกวัน

8 พ.ค. 2567 - 09:49

  • ถอดปรากฏการณ์ ‘โน้ส - อุดม’ ในมิติของการทำสื่อ เมื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ กลายเป็น ‘สมรภูมิใหม่’ ของวิวาทะด้านความเชื่อกับ ‘อาชวิชญ์ กฤษณสุวรรณ’ หัวหน้าภาควิชาบรอดแคสต์ติ้งและการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ’

Analysis-of-speakers-On-the-day-the-media-landscape-changes-SPACEBAR-Hero.jpg

ภาวะที่สังคมกำลังตกอยู่ในวังวนดรามา ของ ‘โน้ส อุดม’ (แต้พานิช) กรณีแสดงความเห็นเรื่อง ‘ความพอเพียง’ ตาม ‘จริตส่วนตัว’ ใน ‘เดี่ยวสเปเชียล : ซูเปอร์ซอฟต์พาวเวอร์’ ซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) จนเป็นปมขัดแย้ง ชนิดที่ไม่มีใครยอมผ่อนหนักเบา

กระทั้ง เริ่มลุกลามใหญ่โตจนโซเชียลมีเดียลุกเป็นไฟ หลังอินฟลูเอนเซอร์ หลายคนกระโดดเข้าร่วมแสดงความเห็น เสมือนเป็นการราดเชื้อเข้ากองขี้เถ้า ไม่เว้นแม้แต่ ‘คารม พลพรกลาง’ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีส่วนร่วมกับปรากฏการณ์ กล่าววิพากษ์วิจารณ์นักพูดชื่อดัง ทำให้ปมขัดแย้งคงทอดน่องต่อเนื่อง

การจะหาความชอบธรรมของแนวคิด หรือให้ตัดสินถูกผิด คงเป็นเรื่องยากกับกรณีที่เกิดขึ้น มีแต่จะเพิ่มข้อถกเถียงให้บานปลาย จึงลองหามุมในแบบความเป็นสื่อ ที่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น 

บทความนี้จึงตอบสนอง ‘ความใคร่รู้’ มากกว่า 'การหยิบยกเอาวิวาทะของคนสองความคิด' มาสาดใส่กัน…มิฉะนั้นคงจะตอบสนองได้แค่ ‘ความใคร่บนความขัดแย้ง’ เพียงประการเดียว

วิวาทะของผู้คนเกิดจากการเปลี่ยนผ่านของสื่อ และการถือกำเนิด ‘โลกโซเชียล’

‘อาชวิชญ์ กฤษณสุวรรณ’ หัวหน้าภาควิชาบรอดแคสต์ติ้งและการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อ่านปรากฏการณ์ผ่านมุมมองทางวิชาการ ว่า รูปแบบของ ‘ทอร์กโชว์’ เป็นศาสตร์ที่ต้องพึ่งพาเทคนิคการนำเสนอมากกว่าการพูดทั่วไป  มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน 1) นักพูด (Speaker) ที่มีทักษะในด้านการสื่อสารแบบพูด และ 2) รูปแบบคอนเทนต์ที่จะถูกนำเสนอ ซึ่งจะต้องมีการวางแผนเนื้อเรื่องตามความเหมาะสม กับแพลตฟอร์มที่จะถูกเผยแพร่ออกมา อาทิ เวที รายการโทรทัศน์ วิทยุ พอตแคสต์ หรือแม้กระทั่งโลกออนไลน์

ดังนั้น คอนเทนต์ส่วนหนึ่งจึงมักถูกอ้างอิง หรือมีการค้นคว้าแหล่งที่มาของข้อมูล รวมถึงจับประเด็นที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม หรือสิ่งที่สาธารณชนกำลังให้ความสนใจอยูู่ ซึ่งหลีกหนีไม่พ้นสถานการณ์บ้านเมือง ปัญหาปากท้อง หรือมุมมองด้านต่างๆ ตามที่ผู้พูดจะเชี่ยวชาญ และสามารถออกแบบให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด

“การทำรายการทอร์กโชว์มันเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนทางความคิด อาจมีการนำข้อมูลจากทั้งอดีต หรือปัจจุบันเข้ามาเพื่อให้เกิดความกลมกล่อม และอาจมีการใช้เทคนิคเสียดสีเพื่อสร้างความบันเทิง ตามรูปแบบนำเสนออยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ มีสนุกมีเศร้ามีอารมณ์ที่หลากหลาย ให้เรื่องราวถูกดำเนินอย่างรื่นไหล”

อาชวิชญ์ กฤษณสุวรรณ กล่าว

สำหรับ การนำเสนอเรื่องราวของ โน้ส - อุดม ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะทำอีเวนต์ในลักษณะทอร์กโชว์ต่อเนื่องมาหลายปี แต่ที่ใหม่คือแพลตฟอร์มในการถ่ายทอดผ่าน Netflix ซึ่งมีทั้ง ‘คนรุ่นใหม่’ และ ‘คนรุ่นเก่า’ เป็นผู้เสพคอนเทนต์ ผสมปนเปไป และเมื่อ ‘ภูมิทัศน์สื่อ’ ถูกปรับเปลี่ยน และขยับเข้าสู่แวดวงออนไลน์มากขึ้น ย่อมทำให้เนื้อหาการพูด ถูกหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์ได้ในมุมมองที่หลากหลาก ตามความเชื่อของผู้รับสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว จากสังคมออนไลน์ที่มีเทคนิคการสื่อสารแบบสองทาง (Two Way Communication)

อาชวิชญ์ มองว่า กระบวนการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนโซเชียล อาจมาจากการตีแพร่คอนเทนต์ของสื่อมวลชน ที่พยายามหยิบวิวาทะจากบุคคลที่มีชื่อเสียง นำมาสร้างเป็นประเด็นข่าว เพื่อเรียกยอดเข้าชม ทำให้เกิดประเด็นการแลกเปลี่ยนของผู้รับสาร ในทุกๆ ช่วงวัย จนนำไปสู่การถกเถียงในที่สุด เป็นผลให้อุณหภูมิของประเด็นตั้งต้นจุดเดือด

ดัชนีชี้วัด Impact ของ ‘นักพูด’ กับ ‘อินฟลูเอนเซอร์’

ส่วนผู้ดำเนินเรื่องราวจะสามารถสร้างแรงตกกระทบ หรือความเปลี่ยนแปลง (Impact) ให้กับสังคมได้มากน้อยหรือไม่ อาชวิชญ์ มองว่า ทักษะการพูดไม่ได้มีเฉพาะแค่กลุ่ม Speaker หรือผู้จัดบทเวทีทอร์กโชว์ แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ปรากฏในอุตสาหกรรมสื่อมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคอนาล็อคมาจนถึงดิจิทัล แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านของภูมิทัศน์สื่อ ย่อมทำให้เกิด ‘นักพูด’ เกิดขึ้นมากมาย จนต้องมีการสร้างตัวตน (Character) เพื่อดึงดูด และสร้างภาพจำให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

แต่การจะสร้าง Impact ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้เสพคอนเทนต์ เพราะแต่ละคนล้วนมีมุมมองที่ต่างกัน ในมิติต่างๆ อาจสร้างไอเดียให้ฐานแฟนคลับที่นิยมชมชอบผู้พูดได้อยู่แล้ว หรืออาจสร้างความไม่พึงพอใจ กับบุคคลที่ไม่เห็นด้วยตามสิ่ง Speaker ถ่ายทอด เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม อาชวิชญ์ เชื่อว่า นักพูดที่ถ่ายทอดมุมมองบนเวที ไม่ได้มีอิทธิพลต่อความรู้สึก หรือสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้มากนัก เพราะการหยิบเรื่องราวมานำเสนอ เป็นเพียงเทคนิคดึงดูดพูดคนไม่ให้เบื่อหน่าย กับการดำเนินรายการเท่านั้น ต่างกับ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ (Influencer) ที่มักผลิตคอนเทนต์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมาก กับฐานแฟนคลับที่ติดตามผลงานอย่างต่อเนื่อง

“ผมว่าเขาไม่มีอิทธิพลในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนั้น เพราะมันคือโชว์แบบนานๆ ครั้ง ไม่ได้เป็นคอนเทนต์ถี่เท่าเหล่าอินฟลูฯ ซึ่งทำสม่ำเสมอมากมาย ผมเชื่อว่าอีกไม่นานคนก็จะลืม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านักพูดเวลาพูดออกไป ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าจะเกิดกระแสอะไรตามมาบ้าง อาจเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งที่เขาก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าด้านบวกหรือด้านลบ ส่วนจะต้องมาขอโทษหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเพราะมันคือโชว์ มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ”

อาชวิชญ์ กฤษณสุวรรณ กล่าว

เมื่อถามถึงประเด็นที่มักมี 'บุคคลทางการเมือง' เข้ามามีส่วนร่วมกับอีเวนต์บันเทิงสำคัญ ในฐานะ ‘ผู้ชม’ ด้านล่างเวที ซึ่งมีให้เห็นทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ ‘เดี่ยวไมค์โครโฟน’ ที่ถูกจัดขึ้นในอดีต เป็นการฉายภาพให้เห็นว่า ยุคหนึ่ง Speaker มีความสำคัญต่อการ ‘ให้แสง’ ต่อบุคคลที่อยู่ในอำนาจด้วยหรือไม่ นักวิชาการด้านการสื่อสาร เชื่อว่า อาจมีส่วน แต่ต้องมององค์ประกอบอื่นๆ ด้วย ว่าเขาต้องการปรากฏตัวเพื่อสิ่งใด หรือผู้จัดงานมีวาระ (agenda) แอบแฝงซ้อนเร้นหรือไม่

แต่จุดที่น่าสนใจคือ เมื่อบุคคลทางการเมืองเหล่านี้ เข้าไปนั่งบนเก้าอี้ของผู้รับชม ต่างต้องได้รับเสียงสะท้อนจากนักพูด ในเรื่องความเป็นไปทางสังคมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเหมือน ‘เรื่องตลกร้าย’ ที่จะต้องได้รับ ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

อยู่ที่ ‘คุณ’ ว่าจะเพิกเฉยต่อแก้ปัญหาสังคม หรือนำเสียงสะท้อนจากคนคนหนึ่งในสังคม มาตกผลึกหรือนำไปสร้างประโยชน์ให้ประชาชน ผู้ที่เลือกคุณเข้ามาทำหน้าที่ ‘กุมบังเหียนประเทศ’ หรือไม่ ?

ปล.ส่วนข้าพเจ้ากล่าวเสริมขึ้นเอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์