ถอดบทเรียน ‘กะเทยไทย’ จากปรากฏการณ์ ‘สุขุมวิท 11’

6 มีนาคม 2567 - 09:15

Analysis-of-the-Hermaphrodite-incident-Thai-Sukhumvit-11-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ถอดบทเรียน ‘กะเทยไทย’ กับปรากฏการณ์ ‘สุขุมวิท 11’ เมื่อ ‘กฎหมู่’ และ ‘การผลิตซ้ำ’ เพื่อนิยามศักดิ์ศรี ‘พี่กระเทย’ อาจทำให้กระบวนการเรียกร้องด้านสิทธิ์ต้องประสบปัญหา กับ ‘ชเนตตี ทินนาม’ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ขับเคลื่อนประเด็น LGBTQA+ ผ่านมิติการศึกษา

นับเป็นหนึ่งกรณีที่สังคมไทย เฝ้าจดจ่อและติดตามอย่างออกรสออกชาติ สำหรับเหตุการณ์ความวุ่นวาย ณ ซอยสุขุมวิท 11 เมื่อคืนวันที่ 4 - 5 มีนาคมที่ผ่านมา เหล่าLGBTQA+ ที่เรียกตัวเองว่า ‘กะเทยไทย’ ต่างไปชุมนุมดักทำร้าย ‘กะเทยฟิลิปปินส์’ หลังก่อนหน้านี้มีการมีการดูหมิ่น เหยียดหยาม และรุมทำร้ายกะเทยไทยจนได้รับบาดเจ็บ 

มิติการสื่อสารถูกถ่ายทอดออกมาบนโลกโซเชียลหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่เน้นไปในทิศทางสนับสนุน และเชิดชู ‘พี่กะเทย’ ที่ ‘ทวงศักดิ์ศรี’ และ ‘ประกาศศักดิ์ดา’ ในค่ำคืนนั้น จนกลายเป็นไวรัลชวนติดตาม ติดเทรนสูงสุดในหลายแอปพลิเคชัน 

หลายฝ่ายมองว่า ‘เรื่องการใช้ความรุนแรง’ ที่เต็มไปด้วย ‘กลิ่นอายความบันเทิง’ ย่อมทำให้ประเด็นสำคัญหลายเรื่อง ถูกพับเก็บ

ดังนั้นการตกตะกอนถึงปรากฏการณ์ในมิติที่เห็นต่อจากนี้ คือแง่มุมที่ใครหลายคนอาจมองข้ามไป และอาจทำให้บานปลายไปถึง ‘คุณค่าการขับเคลื่อน’

สะท้อนภาพ ‘ความรุนแรง’ ของ ‘กลุ่มชายขอบ’ ที่มักไม่ได้รับความเป็นธรรม

‘ดร.ชเนตตี ทินนาม’ อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมอ่านปรากฏการณ์ ‘สุขุมวิท 11’ กับ SPACEBAR ว่า กลุ่มเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงกลุ่ม LGBTQA+ ถือเป็นส่วนหนึ่งของ ‘คนชายขอบ’ ที่มักไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ ไม่ว่าจะประเด็นการขอความเป็นธรรม หรือการต่อสู้ในชั้นยุติธรรม  

ยิ่งหากพิจาณาตามรัฐธรรมนูญ จะพบว่า กลุ่ม LGBTQA+ ไม่มีสถานภาพในเชิงกฎหมายเลย อย่าง รธน. ฉบับปี 2560 สถานภาพทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่มีแค่ ‘ชายหญิง’

“เมื่อเรามองจากกฎหมายแม่บท ก็จะพบว่าพวกเขาเหล่านี้ได้มีตัวตนอยู่เลย ถ้าไม่นับเรื่องการผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียมที่กว่าจะผ่านได้ก็หลายปี ดังนั้นการจะให้ความยุติธรรมของเพศหลากหลายมันไม่มีมาอยู่แล้ว ฉะนั้นการใช้พลังขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ย่อมสะท้อนรอยรั่วของกระบวนการทางกฎหมายอย่างประจักษ์ชัดแจ้ง เหมือนๆ กับการแสดงออกของคนชายขอบทั่วไป ที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐเลย”

ปรากฏการณ์ใช้ความรุนแรงที่ซอยสุขุมวิท 11 อาจเป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ ปรากฏการณ์ ที่คนชายขอบเลือกใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา โดยไม่คิดจะหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมของรัฐ

กลายเป็น ‘ความขบขัน’ เท่าใด ยิ่งทำให้ ‘การขับเคลื่อน’ ติดชนัก

ชเนตตี วิเคราะฟ์ผ่านแว่นของนักนิเทศศาสตร์ว่า ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กับกลุ่มเพศที่หลากหลาย ทำไปเพื่อที่จะปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองและพวกพ้อง ถ้าถอดประเด็นเรื่องเพศออกไป ไม่ว่ามนุษย์คนไหนเมื่อ ‘ถูกทำร้าย’ หรือ ‘ถูกด้อยคุณค่าความเป็นมนุษย์’ ย่อมตกอยู่ในสภาวะความโกรธเคือง ที่จะระเบิดออกมาในรูปบบพฤติกรรมการเชิงตอบโต้ อันเป็นลักษณะธรรมดาของปุถุชนวิสัยอยู่แล้ว  

“มนุษย์ทุกคนมีความรู้สึกจะต้องปกป้องร่างกาย ศักดิ์ศรี และชื่อเสียง แต่วิธีการตอบโต้แต่ละคนล้วนแตกต่างกัน บางคนเลือกใช้ความรุนแรง บางคนอาจใช้การเจรจา หรือบางคนอาจเลือกใช้กระบวนการยุติธรรมจัดการ แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นมันเป็นสังคมกะเทย ภาพที่ออกมาจึงมีหลายลักษณะ บางประการน่ากังวล ว่าจะกระทบกับมิติทางสังคมของขบวนการเคลื่อนไหว”

ชเนตตี ขยายความในเชิงการสื่อสาร ว่า ปรากฏการณ์ทั้งในข่าวที่ผลิตจากสื่อมวลชน หรือ สังคมออนไลน์ล้วนตีแพร่เรื่องราวออกมาในมิติของ ‘การใช้ความรุนแรง’ เชิง ‘ขบขัน’ จนอาจกลายเป็น ‘การผลิตซ้ำ’ ให้ ‘กะเทย’ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลายเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงในการคลี่คลายปัญหา ผ่านรูปแบบของความไม่จริงจัง และมองเป็น ‘สีสัน’ มากกว่าจะคำนึงถึงหลักสันติวิธี  

เห็นได้จาก การสื่อสารเชิงสรรเสริญของผู้คนบนโลกออนไลน์ ที่วาดภาพออกมาเป็นแคปชันว่า ‘วีรกรรมกะเทยไทย’ หรือการนิยามปรากฏการณ์ภาพรวมว่า ‘วันชาติกะเทย’

ในฐานะที่ส่วนตัวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องสิทธิ์ให้กับกลุ่ม LGBTQA+ ผ่านมิติการศึกษา จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันถอดบทเรียน ทั้งกลุ่มที่ก่อเหตุ รวมถึงโดยกลุ่มผู้เฝ้ามองเหตุการณ์จากภายนอก ที่มีอิทธิพลอย่างมาก ต่อการมีส่วนร่วมกับปรากฏการณ์ ‘ตีตรา’ เพราะอาจทำให้กระบวนการขับเคลื่อน ในเชิงนโยบาย ของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ถูกลดทอนด้อยค่าไป จากการกระทำที่รุนแรงเฉก เช่นที่ผ่านมา  

อย่าง การผลัดดันของเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน และกลุ่มนักเคลื่อนไหว ที่พยายามทำงานอย่างหนัก เพื่อเรียกร้องสถานภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ผ่านกลไกของรัฐสภา อาทิ ร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ หรือร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุณลักษณะทางเพศ ที่ใครๆ ต่างตั้งความคาดหวัง

ซึ่งที่ผ่านมา ยังมีปัญหาอยู่มาในชั้นการผลักดันทางกฎหมาย เนื่องจากติดหล่มอยู่ที่กลุ่มนักการเมือง ที่แต่เดิมไม่เห็นควรจะผลักดันเรื่องนี้อยู่แล้ว จะยิ่ง ‘การประทับตรา’ ให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางจิตใจ อาจทำให้การผ่านร่างกฎหมายฉบับต่างๆ ที่กลุ่มหลายหลายทางเพศจะได้รับประโยชน์สูง  ‘ไม่ได้รับการโหวตเห็นชอบ’ ในชั้นนิติบัญญัติได้

“เริ่มมีการทำมีม ล้อเลียนเหตุการณ์ ว่าพี่กะเทยเหาะเหินเดินอากาศ พี่กะเทยปกป้องศักดิ์ศรีเป็นวีรชน หนักหน่อยคือมีผู้กำกับชื่อดังจะนำไปทำหนัง ทุกอย่างมันกลายเป็นเรื่องตลกขบขันเสียแล้ว อาจารย์อยากบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องตลก แต่เป็นการบาดเจ็บที่ลึกถึงจิตใจ ไม่นับรวมเรื่องความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ว่าจะฝ่ายไหนเมื่อถูกทำร้ายย่อมส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งๆ ที่ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนกำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อทำให้สังคมเข้าใจคุณค่าของความหลากหลายทางเพศ ทุกอยากอาจติดหล่มเพราะนักการเมืองติดภาพว่ากะเทยคือผู้ใช้ความรุนแรงเสียเอง”

ชเนตตี ทินนาม กล่าวทิ้งท้าย

ดังนั้นการถอดบทเรียนจากปรากฏการณ์นี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่อง ‘ศักดิ์ศรีของกะเทยไทย’ แต่ต้องคำนึงถึงภาพรวมในการนำไปสู่ ‘ความยั่งยืน’ ที่จะส่งผลในแง่บวกของ ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ในอนาคตด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์