




อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วย อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เข้าสำรวจโบสถ์ชาบัด อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน (Chabad House) สถานที่ทำกิจกรรมทางศาสนาของชาวอิสราเอล หลังเกิดกระแสข่าวชาวอิสราเอลเข้ามาตั้งถิ่นฐานและก่อความวุ่นวายในพื้นที่
โดยการมาเยือนครั้งนี้มี ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย พร้อมด้วย เนเฮมยา วิลเฮม (Rabbi Nehemya Wihelm) ผู้นำศาสนายูดาห์ในชุมชน ให้การต้อนรับ ก่อนนำชมสถานที่และอธิบายถึงกิจกรรมทางศาสนา
ผู้นำศาสนายูดาห์ในชุมชน เปิดเผยว่า มูลนิธิชาบัดในประเทศไทยมีอยู่ 6 แห่ง คือ ที่กรุงเทพ เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย เกาะพะงัน และที่ อ.ปาย ซึ่งจะมีการจัดพิธีสวดมนต์ในทุกเย็นวันศุกร์ต่อเนื่องจนถึงเย็นวันเสาร์ และรับประทานอาหารร่วมกัน โดยทุกคนสามารถมาได้ ไม่ได้ปิดกั้น แต่ต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากอิสราเอลมีสงคราม ทำให้ต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้ทุกคนมาอยู่ร่วมกันได้ ยืนยันว่า ไม่มีการปักป้ายห้ามคนไทยเข้ามาในเขตมูลนิธิ ถ้าผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยก็สามารถเข้าได้ทั้งหมด
ในระหว่างพิธีสวดมนต์จะห้ามผู้เข้าร่วมเล่นโทรศัพท์ สูบบุหรี่ ตลอด 24-25 ชั่วโมง ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการร้องเรียนเรื่องปัญหาเสียงดังรบกวนชาวบ้าน แต่ในช่วงสองถึงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปล่อยข่าวปลอมว่ามีชาวอิสราเอล 30,000 คน แต่ความเป็นจริงแล้วมีชาวอิสราเอลที่อาศัยอยู่ที่อำเภอปายเพียง 40-50 คนเท่านั้น แต่มีนักท่องเที่ยวประมาณ 30,000 คนต่อปี ซึ่งจะอยู่เพียง 2-3 สัปดาห์ก็กลับ
ส่วนเมื่อถามว่ากังวลหรือไม่กับกระแสข่าวที่พุ่งเป้ามาที่นักท่องเที่ยวอิสราเอลจะยึด อ.ปาย? ผู้นำศาสนายูดาห์ในชุมชนกล่าวว่า รู้สึกเสียใจมาก แม้คนอิสราเอลจะเสียงดัง และมีคนไม่ดีบ้าง แต่คนที่มาที่นี่ชอบประเทศไทย ชอบคนไทย ไม่รู้ทำไมถึงมีคนพูดเช่นนั้น ซึ่งทุกครั้งที่คนอิสราเอลมาร่วมพิธีที่มูลนิธิ ทำให้เข้าใจตนเองจะเน้นย้ำให้เข้าใจถึงบริบทและวัฒนธรรมของประเทศไทย ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ เขาบอกว่าไม่มีปัญหากับคนอิสราเอล แต่มีคนไปเขียนในโซเชียลมีเดีย
ยืนยันว่า คนอิสราเอลไม่ได้มีความเชื่อว่าอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นดินแดนพันธสัญญาตามหลักศาสนา ไม่มีใครคิดแบบนั้น เป็นข่าวเท็จ เราคิดว่าอิสราเอลพระเจ้าให้เรา แต่ที่นี่ประเทศไทยให้คนไทย
— เนเฮมยา วิลเฮม ผู้นำศาสนายูดาห์ในชุมชน
สำหรับชาบัดดังกล่าว ตั้งอยู่หลังสถานีตำรวจภูธรปาย ด้านนอกมีรั้วสูง มีประตูมิดชิด และมีป้ายภาษาบูโครี (Buxorī) แปลเป็นภาษาไทยว่า “ชาบัดปาย”
ภายในมี 2 อาคาร อาคารแรกมี 2 ชั้น ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาในวันศุกร์และเสาร์ เช่น การสวดมนต์ มีโต๊ะ เก้าอี้ และคัมภีร์สวดมนต์ ส่วนอาคารอีกจุดใกล้กัน เป็นบ้านพักสำหรับผู้นำศาสนาในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีเต็นท์ขนาดใหญ่ ที่ก่อนหน้านี้มีภาพชาวอิสราเอลนั่งกินข้าวอยู่จำนวนมาก จุดนี้เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นสถานที่สำหรับกินอาหารร่วมกันในวันที่มีการประกอบพิธีทางศาสนา
ส่วนจุดที่ถูกกล่าวหาว่ามีการสร้างห้องใต้ดินนั้น เจ้าหน้าที่พาลงไปสำรวจ พบอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่ไม่ใช่ห้องใต้ดิน เป็นห้องอาบน้ำแยกหญิงและชาย ขณะที่บ่อลึก คือ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับจุ่มล้างตัว ซึ่งการสร้างสระดังกล่าวใช้แบบแปลนเดียวกันกับชาบัดที่กรุงเทพฯ ซึ่งสร้างเสร็จไปแล้วก่อนหน้า