‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย **ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ** และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวของจีน โดยใช้เวลาเวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมงว่า ทางการจีนส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยแผ่นดินไหวเข้ามา และติดต่อประสานงานมาเมื่อคืนนี้ จึงเห็นว่า เป็นเรื่องมีประโยชน์จึงนัดมาพบในวันนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้ดูหน้างานแล้ว บอกว่าสิ่งที่ประเทศไทยได้ทำตอนนี้คือการกู้ภัยที่เป็นมาตรฐานและความชำนาญ จึงไม่ต้องให้คำแนะนำเพิ่มเติม เพราะใกล้ 48 ชั่วโมงแล้ว จะเปลี่ยนวิธีการไม่น่าจะเกิดประโยชน์อะไร แต่ต้องใช้ทุกทีจากนี้ใน 72 ชั่วโมงเร่งหาผู้รอดชีวิตให้ และบุคคลที่มาเป็นผู้เชี่ยวชาญ หลังจากได้ประเมินสถานการณ์ แจ้งไปว่าเมื่อพ้น 72 ชั่วโมงไปแล้วต้องลุยเข้าไปหาและเคลียร์พื้นที่โดยเร็วที่สุด
เพราะยังหวังว่ายังมีผู้รอดชีวิตอยู่ หากเลยช่วงเวลาดังกล่าวไปคาดว่าจะไม่มีผู้รอดชีวิต และต้องเคลียร์พื้นที่ไซต์งานให้เห็นชัดว่าไม่เหลืออะไรแล้ว ส่วนเรื่องผู้รับเหมาก่อสร้าง เราทำได้เพียงรับฟัง แต่ไม่สามารถเข้าไปในหน่วยงานได้ เพราะเกี่ยวข้องกับผู้รับเหมาจากบริษัทจีน จึงได้แจ้งให้รับทราบไป แต่การเข้าพบในวันนี้ ทางการจีนไม่ได้มาพบในฐานะผู้รับเหมา แต่มาในฐานะการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่ได้มาค้นหาความจริง
เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะจากจีนที่เป็นประโยชน์กับไทย อนุทิน กล่าวว่า ที่คุยกัน ทางจีนแจ้งว่าไทยทำตามมาตรการอยู่แล้วไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งทีมวิศวกรชุดนี้เคยมาช่วยตอนที่อุโมงค์ถล่มที่จังหวัดนครนครราชสีมามาแล้ว เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัย หากจะมุ่งแต่เข้าไปค้นหาผู้รอดชีวิต แต่ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของชุดกู้ภัยอาจจะทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น
เมื่อถามถึงกรณีชายใส่ชุดดำขนแฟ้มเอกสาร ในที่เกิดเหตุขึ้นรถกระบะ อนุทิน กล่าวว่า วันนี้ได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบในเรื่องของการก่อสร้างอาคาร สตง.ที่ถล่ม โดยมีวิศวกรใหญ่จากกรมโยธาธิการและผู้เชี่ยวชาญ ที่เชื่อถือได้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏ ดังนั้นไม่ว่าจะหอบแฟ้มอะไรไปก็แล้วแต่ ผลจะออกมาอย่างไร แบบก่อสร้างเอกสารการประมูลงานในสัญญาต่างๆยังมีที่ สตง. แม้จะหอบเอกสารใดออกไปก็หนีไม่พ้น ไม่ต้องหาข้อมูลในวงกว้างเพราะอาคารดังกล่าวเป็นอาคารราชการ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า กทม.มีการอนุมัติให้ก่อสร้างได้อย่างไร โดยข้อเท็จจริงแค่แจ้งเพื่อทราบให้หน่วยงานเจ้าของงานทำการประมูลและจ้างผู้คุมงาน ส่วนแบบก่อสร้างผู้ออกแบบต้องเซ็นรับรอง ตอนนี้เน้นการสอบไปที่ผู้ออกแบบผู้คุมงานและผู้ก่อสร้าง ที่บอกว่าเป็นบริษัทจีนยังไม่ทราบในข้อเท็จจริง เพราะในสัญญาเขียนว่าJV บริษัทไทยและจีนร่วมค้ากันความรับผิดชอบ เรียกว่ารับผิดชอบร่วมกัน ถ้าบริษัทไทยไม่สามารถรับผิดชอบก็ต้องไล่บี้กับผู้รับเหมาจีน หากผู้รับเหมาจีนไม่มีความรับผิดชอบก็ต้องบี้กับผู้รับเหมาไทยต้องรับผิดชอบทั้งคู่ ไม่ต้องกังวล
“กรรมการชุดนี้มีวิศวกรใหญ่จากกรมโยธาธิการ มี ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกรร่วมอยู่ด้วย 7วันจะรู้สาเหตุเบื้องต้นแน่นอน แผ่นดินไหวครั้งนี้แรงสั่นสะเทือนถึงขนาด 7.8 แต่พบว่ามีอาคารมากกว่า 95% ยังคงยืนอยู่ได้ แต่ส่วนที่มีความเสียหายถึงขั้นถล่มมีเพียงอาคาร สตง. เชื่อว่าจะสามารถหาข้อบกพร่องได้อย่างแน่นอน”
อนุทิน กล่าว
อนุทิน ยังกล่าวในฐานะที่เคยทำงานด้านนี้มาว่า สาเหตุของการที่ตึกถล่ม การออกแบบเป็นตึกใหม่ ออกแบบหลังมีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ที่คำนึงถึงปัจจัยแรงต้านแผ่นดินไหว เหตุใดถึงถล่มได้ จะอ้างว่าเพิ่งก่อสร้าง ปูนไม่เซ็ตตัวไม่ได้ ต้องตั้งข้อสงสัยเรื่องการออกแบบ ถ้าแบบออกถูกต้องหมด ซึ่งสามารถเช็คได้ ก็จะต้องรู้ว่าการก่อสร้างหากแบบออกถูกต้อง อาจหมายความว่าผิดพลาดที่วิธีการก่อสร้าง ต้องหาข้อบกพร่องให้เจอ
เมื่อถามว่าหนึ่งในผู้รับเหมาใช้นอมีนีคนไทย อนุทิน กล่าวว่า ไม่มี เพราะใช้คู่สัญญาไชน่าเรียลเวย์ กับ เจวี ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มองเรื่องการถือหุ้น แต่หากมีความผิดจุดใดต้องรับผิดชอบเต็มทั้งคู่ จนกว่าจะได้รับคืนความเสียหายกลับมาทั้งหมด เพราะสิ่งที่เสียไปคือโอกาส และ สตง. ยังไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ ซึ่งถือว่าโชคดีหากตึกเสร็จก่อนแล้วเข้าไป ทำงานในสภาพที่ไม่แข็งแรง ก็เป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ส่วนการชดใช้ความเสียหายระบุในสัญญาอยู่แล้ว
อนุทิน ยังกล่าวถึงวิศวกรอาสาที่เข้าตรวจสอบตึกสูงในพื้นที่ต่างจังหวัดว่า มีโยธาธิการจังหวัด ที่จะเข้าไปตรวจอาคารสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล สวนการตรวจสอบอาคารในกรุงเทพมหานคร อาคารชุด อาคารสำนักงานจะมีวงรอบการตรวจทุกปีอยู่แล้ว เชื่อว่านิติบุคคลอาคารต่างๆต้องดำเนินการอยู่แล้วเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้พักอาศัย ส่วนในวันพรุ่งนี้ (31มี.ค.) ทางด่วนดินแดงในจุดที่เครนหล่น จะสามารถเปิดให้บริการได้