ในวันที่โลกออนไลน์กำลังถกเถียงเรื่อง ‘นกยูงต่างถิ่น’ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย ท่ามกลางความคิดแบบ ‘นานาจิตัง’ หรือ ‘ต่างจิตต่างใจ’ ต่อการบริหารเชิงอนุรักษ์ เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ของ ‘นกยูงประจำถิ่น’ ที่เริ่มนับถอยหลังสู่ระยะสุดของวงศ์วาน อยากชวนตั้งคำถามถึงที่มาของเรื่องราวทั้งหมด ผ่านมิติวิชาการ - ธรรมชาติวิทยา ว่าอันที่จริงแล้ว ปัญหาคาราซังล้วนเกิดจากฝีมือของ ‘มนุษย์’ ทั้งสิ้น
‘นกยูงไทย’ ต่างกับ ‘นกยูงอินเดีย’ ?
‘นกยูง’ (peafowl) เป็นสัตว์ปีกจำพวกไก่ฟ้า มีลักษณะโดดเด่นที่ความสวยงามจากแพนหาง และพฤติกรรม ‘รำแพน’ อันสง่างาม ในประเทศไทยพบได้ทั่วไป ทั้ง สวนสัตว์ วัดวาอารามชนบท หรือเคหสถานชนชั้นนำกลางกรุงฯ รวมถึงป่าอนุรักษ์ต่างๆ
แต่น้อยคนนักที่จะทราบ ว่า นกยูงมีอยู่ 3 ชนิด คือ ‘นกยูงไทย’ (Green Peafowl) นกยูงอินเดีย (India Peafowl) และนกยูงคองโก (Congo Peafowl) ซึ่งในบ้านเราสามารถพบได้อยู่ 2 ชนิด คือ นกยูงไทย และนกยูงอินเดีย
‘นกยูงไทย’ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามป่าธรรมชาติ ซึ่งปัจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ ‘กรมอุทยานแห่งชาติฯ’ ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และจัดเป็น 'สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์' ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า บริเวณที่มีโอกาสพบนกยูงไทยได้มากที่สุด คือ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง’ จังหวัดอุทัยธานี คาดว่ามีจำนวนประชากรอยู่ราว 400 ตัว รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในป่าตะวันตก และป่าธรรมชาติภาคเหนือบางจุด
พวกมันมีความแตกต่างกับนกยูงอินเดีย ตรงที่ตัวผู้และตัวเมียจะเป็นสีเขียวเข้ม ‘หงอนพู่ตั้งตรง’ คอของนกยูงไทยจะยืดสูงกว่านกยูงอินเดีย แก้มจะเป็นสีเหลืองชัดเจน ปีกมีสีน้ำเงินเขียว พบการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียอาคเนย์ จากจีนตอนใต้ จนถึงชวา และพบได้ในป่าธรรมชาติ
ขณะที่ 'นกยูงอินเดีย' พบกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย, ปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศ ภูฏาน และศรีลังกา (ไม่ใช่นกประจำถิ่นของไทย) ตัวผู้จะสีน้ำเงินสด ส่วนตัวเมียจะสีน้ำตาลไม่สดใส แก้มเป็นสีขาว ‘หงอนพู่ตั้งขึ้นเป็นพัด’ ซึ่งแตกต่างจากนกยูงไทยชัดเจน มีขนาดตัวเล็กกว่าเพียงเล็กน้อย ส่วนปีกมีสีขาวดำสลับกันเป็นรอยบั้ง
การถูกคุกคามในมิติต่างๆ
ปัจจุบัน นกยูงในอยู่ในภาวะที่ ‘ถูกคุกคาม’ จนกลายเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อีกหนึ่งชนิด สาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของพื้นที่เมือง จนสูญเสียถิ่นอาศัย และเมื่อมีการเข้าถึงความเจริญที่กว้างขวางขึ้น ทำให้เกิดการ ‘ดักจับ’ หรือการพยายาม ‘ล่า’ ของมนุษย์
อีกปัจจัยซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงในสังคมอยู่ คือการเข้ามาของนกยูงอินเดีย ในผืนป่าสำคัญอย่าง ‘ห้วยขาแข้ง’ ป่าธรรมชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกทางธรรมชาติ ซึ่งถือเป็น ‘ไข่แดง’ ของ ‘ป่าตะวันตก’ โดยมีการสันนิษฐานกันว่า มาจากการลักลอบ ‘ปล่อย’ หรือ ‘หลุด’ จากวัดและบ้านเรือนที่เพาะ - เลี้ยงนกชนิดนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับวงการอนุรักษ์
‘เพชร มโนปวิตร’ กรรมการมูลนิธิสืบนาคเสถียร โพสต์เฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งว่า จากรายงานการพบนกยูงลูกผสม หรือ hybrid ระหว่างนกยูงไทย x และนกยูงอินเดีย (Pavo muticus x cristatus) นำไปสู่ความกังวลต่อประชากรของนกยูงไทยที่มีแนวโน้มลดลงและถูกจัดเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งพื้นที่หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการยืนยันว่ามีประชากรที่ได้รับการคุ้มครองอย่างดีและอยู่รอดได้
จับตาภารกิจ ‘ล้างบาง’ นกยูงอินเดีย ในป่าห้วยขาแข้ง
ในห้วง 10 วันที่ผ่านมา ‘กรมอุทยานฯ’ ได้สั่งการให้ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง’ ดำเนินภารกิจ ‘ล้างบาง’ นกยูงอินเดีย หลังมีรายงานจากช่างภาพสัตว์ป่า พบนกยูงอินเดียและนกยูงพันธุ์ผสม บริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก ซึ่งหากินปะปนกับนกยูงประจำถิ่น โดยให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ‘จับ’ นกยูงต่างถิ่นและนกยูงพันธุ์ผสม ออกจากพื้นที่ห้วยขาแข้งทันที
อย่างไรก็ดี เกิดการตั้งปุจฉาของผู้คนบนโลกโซเชียล ถึงแนวทางการจัดการว่า ‘ทำไมต้องเอาออกจากป่า’ และ ‘ทำไมต้องสั่งเก็บ’ ในมุมของ 'ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์' กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า นกยูงไทยในห้วยขาแข้งเป็นประชากรดั้งเดิม ขณะที่ในประเทศไทยเปิดอนุญาตให้มีการนำนกยูงอินเดียวเข้ามาเพาะ - เลี้ยงได้ แต่เมื่อเจ้าของขาดวินัยปล่อยให้นกหลุดเข้าป่า หรือจงใจปล่อยป่า เพราะเข้าใจว่าเป็นการปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ ย่อมทำให้เกิดปัญหาด้านพันธุกรรมของสัตว์ประจำถิ่น
ส่วนกรณีที่กรมอุทยานฯ อาจใช้ ‘ไม้แข็ง’ ในการ ‘จับตาย’ นณณ์ มองว่าเป็นแนวทางที่องค์กรอนุรักษ์ทั่วไปรับได้ และเข้าใจ เพราะเป็นวิธีการยุติการขยายพันธุ์ร่วมระหว่างนกยูงประจำถิ่น กับนกยูงจากแดนไกล
“ก่อนหน้านี้เรื่องปลาหมอคางดำก็ประกาศล่ากันเป็นเรื่องเป็นราว ก็ไม่เห็นมีใครมาดราม่า แต่พอเป็นนกยูงอินเดีย - นกยูงไทย ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน มันคือเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ต้องจับออก มันเลือกไม่ได้ว่าสัตว์ตัวนี้น่ารักเราต้องเก็บ ตัวนี้ไม่น่ารักเราไม่เก็บ ผมเข้าใจเจ้าหน้าที่ว่าที่จำเป็นต้องทำก็ต้องทำ” นณณ์ ผาณิตวงศ์ กล่าว
นักอนุรักษ์นก กล่าวต่อถึงประเด็นที่สังคมออนไลน์พยายามเชื่อมโยงถึงการแต่งงานของมนุษย์ต่างเชื้อชาติ กับปัญหานกยูงในป่าห้วยขาแข้งว่า คนไม่ว่าจะเชื้อชาติไหนสามารถแต่งงานมีลูกด้วยกันได้ เพราะสัตว์ชนิดเดียวกันคือ โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) เหมือนกัน ซึ่งการสมสู่ของมนุษย์ไม่ได้ส่งผลต่อพันธุกรรม
แต่สำหรับการผสมพันธุ์ระหว่างนกยูงไทย - อินเดีย ทางวิทยาศาสตร์ ถือว่าเป็นการผสมพันธุ์ของสัตว์คนละชนิด อย่างไม่เป็นไปตามหลักธรรมชาติวิทยา (ข้อเท็จจริงนกยูงอินเดียไม่สามารถเดินทางมาถึงประเทศไทยได้ตามธรรมชาติ) หากไม่มีการจัดการออกจากระบบนิเวศ ก็จะเป็นปัญหาเหมือนๆ กับสัตว์ต่างถิ่นที่วันนี้มีพบเห็นและสร้างปัญหามากมาย อาทิ นกพิราบ ปลาหมอคางดำ หนูท่อ หอยเชอร์รี่ และแมลงสาบ
ในระดับสากลก็มีหลักปฏิบัติกับสัตว์เหล่านี้อย่างชัดเจน และรุนแรงกว่าประเทศไทย อย่าง ‘การกำจัด’ ประเภทเจอแล้วต้องทำให้เสียชีวิต เพื่อยุติการขยายพันธุ์ เนื่องจากเขาใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ และความเป็นไปตามของธรรมชาติ เป็นแก่นสารการปฏิบัติ ไม่มีหลักเกณฑ์ทางศีลธรรม หรือภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวพัน
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาเรื่องนกยูงในห้วยขาแข้งเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะสิ่งที่เป็นต้นตอของปัญหาจริงๆ คือ ‘คน’ ที่นำสัตว์เหล่านี้มาเลี้ยงอย่างไร้วินัย รวมถึงกฎหมายการให้สิทธิ์ที่ไม่มีความชัดเจน ซึ่งหากยังไม่แก้ไข นกยูงไทยอาจเหลือแค่ชื่อ
“กฎหมายของเราทำให้เกิดปัญหา เพราะไม่มีข้อห้ามเรื่องการปล่อยสัตว์ต่างถิ่นในระบบนิเวศอย่างชัดเจน ดังนั้นเราต้องออกกฎระเบียบที่ชัดเจน รวมถึงคนเลี้ยงก็ต้องมีวินัยและความรู้ถึงผลกระทบการการปล่อยปละละเลยสัตว์ต่างถิ่นต่อธรรมชาติท้องถิ่นด้วย”
นณณ์ ผาณิตวงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
‘การจับตาย’ คือ ทางออกสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่จะกระทำ
“ถ้าไม่สามารถดักจับได้เลย มันก็ต้องใช้วิธีมาตรการขั้นสุด แต่ขอย้ำว่าต้องผ่านการพยายามในการนำตัวออกมาแบบเป็นๆ อย่างเต็มกำลังแล้วจริงๆ การจับตายเป็นหนึ่งในวิธีการที่เราอาจต้องใช้ เพื่อรักษาพันธุกรรมของนกยูงไทย”
เป็นความเห็นของ ‘เผด็จ ลายทอง’ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่ออกมายืนยันว่าแนวทางการ ‘จับตาย’ เป็นเพียงหนึ่งในมาตร และเป็นสิ่งสุดท้ายหากจำเป็นจริงๆ จึงอยากให้สังคมเข้าใจถึงกระบวนการที่เป็นแบบแผน ภายใต้หลักวิชาการและความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการอนุมัติทุกครั้ง จะต้องอยู่ในกรอบวิทยาศาสตร์หลักสากล
เผด็จ อธิบายถึงกระบวนการ ว่า การ ‘ดักจับ’ สิ่งมีชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการจับนกยูง (อินเดีย - ลูกผสม) ที่มีความว่องไวรวดเร็ว และมีภาวะตื่นตนกง่าย อีกทั้งอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในพื้นที่ อย่าง กรณีการดักจับด้วยการนำอาหารมาล่อ โดยใช้กรงดักสัตว์ ก็ต้องระวัง ‘ช้างป่า’ ซึ่งอาศัยอยู่ในห้วยขาแข้ง เข้ามาทำลายอุปกรณ์ด้วย
เผด็จยืนยันว่า ทุกขั้นตอนใช้เจ้าหน้าที่หลักความพยายามอย่างถึงที่สุด แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ ‘เวลา’ หากยังไม่ได้โดยเร็ววัน หรือยืดเยื้อ ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการสร้างปัญหาทางพันธุกรรมกับนกยูงไทยมากขึ้น พร้อมเน้นย้ำว่า การปล่อยสัตว์ถิ่นอื่นในป่าอนุรักษ์มีความผิดทางกฎหมาย ขัดต่อพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ 2562 มีโทษจำคุก 1 ปีหรือปรับ 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ขอความร่วมมือถ้ามีการเลี้ยงนกยูงอินเดีย หรือสัตว์ป่าสายพันธุ์ต่างถิ่นอื่นๆ ขอให้เลี้ยงด้วย ‘ระบบปิด’
“หากพันธุกรรมมันปนเปื้อนไปแล้วมันกลับคืนมาไม่ได้ ก็จะทำให้คุณค่าแท้ๆ ของนกยุงไทยหายไป ดังนั้นจึงอยากฝากให้ทุกคนตระหนัก ถึงแม้กฎหมายจะอนุญาตให้เลี้ยง แต่ทุกคนจะต้องมีความรับผิดชอบ เมื่อเลี้ยงไปแล้วก็ต้องเลี้ยงไปจนกว่าเขาจะตายไปเอง ไม่ใช่พอรู้สึกหมดความน่ารักหมดความสวยงามแล้วเอามาปล่อยป่า มันก็จะเป็นภาระของเจ้าหน้าที่และสร้างปัญหาให้กับธรรมชาติต่อไป แต่ผมแนะนำสัตว์ป่าอย่าเลี้ยงเลยดีกว่า”
เผด็จ ลายทอง กล่าวทิ้งท้าย
สิ่งที่ต้องโฟกัสที่สุดต่อจากนี้คือ การคงสภาพเผ่าพันธุ์ของ ‘นกยูงไทย’ ให้ดำรงอยู่ ส่วนที่เกินขอบเขตอย่าง ‘ชะตากรรม’ ของ ‘นกยูงอินเดีย’ ที่ไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหน ก็คงต้องเป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งมวล คงไม่พ้นคำครหาคลาสสิก ที่มักกล่าวว่า ‘ผู้ร้าย’ ของสรรพสัตว์ จริงๆ ก็คือ ‘มนุษย์’
ฉะนั้นสัตว์ป่าไม่ว่าจะไทยหรือเทศ ปล่อยให้เขาได้ใช้ชีวิตใน ‘บ้าน’ จริงๆ ของเขาดีที่สุด เพราะ ‘สัตว์ป่า’ จะสง่างามได้ ต้องอยู่ในป่า ไม่ใช่ไม้ประดับ ‘บารมี’ หรือเครื่องสนองความใคร่ที่ย่อมเยาว์ของ ‘คน’