'สุนัข - ดอกไม้ไฟ' ปัญหาใต้พรม 'คนไร้สำนึก' ?

3 มกราคม 2567 - 10:23

Artical-Social-Media-Users-Hashtag-lost-dogs-in-application-X-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ความเห็นของ ‘ชุติมา ศรีสว่าง’ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ประเทศไทย ที่บอกเล่าปัญหาจากเสียง ‘ดอกไม้ไฟ’ ในงานเฉลิมฉลอง ที่ส่งผลกระทบกับสภาพจิตใจของสัตว์เลี้ยง จนกลายเป็นกรณีพิพาทระหว่างผู้รักสัตว์ และกลุ่มทั่วไปที่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา

“แต่มันเปลี่ยนไปตอนไหนกันแน่

ไม่แยแสไม่มีแม้เหลียวมอง

ปล่อยฉันไว้บนถนนทอดยาว

น้ำตาซึมตัวสั่นเพราะฉันกลัว”

ส่วนหนึ่งของบทเพลง ‘เจ้าถนน’ จากศิลปินเมืองแมน สื่อภาพ ‘สุนัข’ ที่ถูกผู้เจ้าของละเลยทอดทิ้ง แปรสภาพจาก ‘สัตว์เลี้ยงแสนรัก’ เป็น ‘หมาหัวเน่า’ ใช้ชีวิตท่ามกลางความหวาดระแวงอยู่ข้างถนน

กรณี ‘สุนัขจรจัด’ เป็นปัญหาฝังลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ตกเป็นกระแส และเงียบหายอยู่เป็นพักๆ คล้ายคลึงกับประเด็น ‘สุนัขหาย’ ในคืนเฉลิมฉลอง ที่มักกลายเป็นที่พูดถึงตลอดช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ

ช่วงปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา #หมาหาย ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ของแอปพลิเคชัน x และกลายเป็นไวรัลโต้เถียงต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ความบันเทิงของผู้คนจบสิ้นไปพร้อมๆ กับการเลิกลาของงานปาร์ตี้

“ปัญหามันเกิดขึ้นโดยตลอด ยิ่งเฉพาะช่วงปลายปี ซึ่งเราก็เข้าใจ ว่าเทศกาลสำคัญมีเพียงแค่ปีละครั้ง การเฉลิมฉลองจึงเป็นเรื่องปกติ หากมองในมุมสัตว์เลี้ยง (ในบ้าน) ยังพอทำเนา แต่สำหรับน้องๆ ที่ไม่มีเจ้าของ พวกเขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสงสารมาก เรื่องนี้จับมือใครดมแล้วโบ้ยความผิดฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกันแก้ปัญหาให้คลี่คลาย”

ความเห็นของ ‘ชุติมา ศรีสว่าง’ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ประเทศไทย ที่บอกเล่าปัญหาจากเสียง ‘ดอกไม้ไฟ’ ในงานเฉลิมฉลอง อันส่งผลกระทบกับสภาพจิตใจของสัตว์เลี้ยง จนกลายเป็นกรณีพิพาทระหว่างผู้รักสัตว์ และกลุ่มทั่วไปที่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา

โดย ‘ปัญหาพลุกับสัตว์เลี้ยง’ มีมาให้เห็นนานนับสิบปี รุนแรงที่สุดคือช่วงส่งท้ายศักราช เพราะมีเทศกาลสำคัญเยอะ ตั้งแต่งานลอยกระทง คริสต์มาส ปีใหม่ ตรุษจีน ไปจนถึงช่วงถือศีลกินเจ ที่ดอกไม้ไฟ และประทัด เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม

แต่ประเด็นดังกล่าว เพิ่งกลายเป็นกระแสตอบโต้หนักขึ้น หลังโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพล ต่างคนต่างแสดงความเห็นในพื้นที่ของตัวเอง และถูกแชร์ส่งต่อเป็นเรื่องสาธารณะ บางมุมถือเป็นข้อดีที่ทำให้ประเด็นถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น แต่บางกรณีการเป็นวิวาทะทางอารมณ์ ที่ต่างฝ่ายต่างใช้ถ้อยคำรุนแรงตอบโต้ แทนที่จะช่วยกันหาทางออกที่เป็นรูปธรรม

นอกเหนือส่วนพิพาท ตามข้อมูลหากยืดรายงานที่มูลนิธิเก็บรวบรวมจากพื้นที่ทำงาน (เกาะภูเก็ต) จะพบว่าสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากเสียงพลุ - ประทัด แบ่งออกด้วยกันอยู่ 3 ประเภท 

  1. สัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่ในบ้าน 
  2. สัตว์เลี้ยงที่ถูกปล่อย และกลายเป็นสัตว์จรจัด 
  3. สัตว์จรจัดโดยกำเนิด

โดยกลุ่มที่ หนึ่งและสอง เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพราะตามธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในบ้าน และสัตว์เลี้ยงที่แปรสถานภาพเป็นสัตว์จรจัด มักมีประสบการณ์และภูมิต้านทาน ในการทำความคุ้นชินกับเหตุการณ์และเสียง ต่ำกว่าสัตว์จรจัดโดยกำเนิดทั่วไป ที่มักต้องดิ้นรนกับภาพและเสียงที่อันตรายอยู่เป็นประจำ

ดังนั้น เมื่อพลุถูกยิงและระเบิดขึ้นบนฟ้า สุนัขในบ้านและกลุ่มที่กลายเป็นสุนัขจรจัด ส่วนมากมักจะตกใจ เตลิดวิ่งหนีไปอย่างไร้จุดหมาย บ้างเกิดการพลัดหลงกับเจ้าของ กลายเป็นที่มาของปัญหาอื่นๆ ชุติมา อธิบายหลายกรณีที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมให้กับชีวิตเล็กๆ และจิตใจของผู้มีเมตตาต่อสัตว์ บางคนถึงกับไม่แยแสต่อความบันเทิงในงานเฉลิมฉลอง แต่กลายเป็นความจมปักต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง และสัตว์เลี้ยง

“สำหรับหลายคนมันกลายเป็นปมฝังในใจ พอเทศกาลมาถึงเขาจะกลับมาคิดความสูญเสีย ไม่ว่าจะเจ้าของที่สูญเสียสัตว์เลี้ยง หรือคนที่ไม่ได้ตั้งใจทำร้ายใคร แต่น้องวิ่งเตลิดเปิดเปิงจนถูกรถชน จนว่าตัวเองเป็นคนฆ่าสัตว์ รวมถึงที่ต้องประสบอุบัติเหตุ จากหมาวิ่งตัดหน้ารถ จนได้รับบาดเจ็บ บางคนกลายเป็นทุพลภาพไปเลยก็มี ทั้งหมดทั้งมวลมันมาจากจิตสำนึก การปล่อยปละละเลยจากคนเลี้ยง และผู้จุดพลุ ประทัดตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของเทศกาล”

ชุติมา กล่าว

ชุติมา อธิบายต่อว่า การแก้ปัญหามีแก่นสารอยู่ที่ ‘การมีจิตสำนึก’ และ ‘การรับผิดชอบ’ ซึ่งหากช่วยกัน อาจลดผลกระทบระหว่างสัตว์เลี้ยงและเสียงดังจากดอกไม้ไฟได้

กรณีผู้เลี้ยงสัตว์ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องหาวิธีในการป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงหลุด - วิ่งเตลิดหนีออกจากบ้าน บางคนทั้งที่ทราบถึงผลกระทบ แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพียงล่ามโซ่สุนัขไว้หน้าบ้านแล้วคิดว่าสุนัขจะไม่วิ่ง ทางที่ดีควรนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปหลบในที่มิดชิดและปลอดภัย ภายในตัวบ้าน หรืออาคาร แล้วปิดประตูหน้าต่าง จะช่วยลดความเครียดและป้องกันการวิ่งเตลิดหายได้

ขณะที่ ผู้จัดงานรื่นเริงจำเป็นที่จะต้องเคารพกฎหมาย ที่ออกมาโดยรัฐ เกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่และห้วงเวลาในการจุดดอกไม้ไฟ ส่วนนี้ผู้จัดงานต้องให้ความสำคัญกับการแจ้งเพื่อนบ้าน และแจ้งกับหน่วยงานท้องเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้เลี้ยงสัตว์ได้ทราบและเตรียมรับมือ

2020-10-05RG_Oum-1.jpg
Photo: ‘ชุติมา ศรีสว่าง’ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ประเทศไทย

พร้อมกันนี้ ชุติมา เชื่อว่าหากประชาชนหรือหน่วยงานรัฐใช้พลุหรือประทัดตามเทศกาลอย่างเป็นเวลา และมีปริมาณที่เหมาะสม จะสามารถแก้ไขปัญหารบกวนสัตว์เลี้ยงได้ โดยยกตัวอย่างช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ที่อาจจะเป็นวันหยุดยาว ก็ขอให้จุดดอกไม้ไฟแค่ช่วงเคาต์ดาวน์ 1 - 2 ชั่วโมง แทนที่จะจุดทุกวันช่วงสังสรรค์ 

เพราะตามข้อมูลที่ระบุ ว่าสัตว์มักมีการจดจำและสามารถสร้างความคุ้นชินกับเหตุการณ์ได้ ตามหลักเกณฑ์เวลาที่คงที่ แต่ต้องไม่ถี่และมากเกินไป ไม่ใช่คิดอยากจะจุดวันไหนก็จุด ยิ่งเพิ่มความสับสนและหวาดกลัวให้กับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย

เธอยกตัวอย่าง การจัดการในจังหวัดภูเก็ต ที่ถึงแม้จะเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ก็มีการวางมาตรการประชาสัมพันธ์ที่เข้มข้น และยังเลือกเวลาในการจุดพลุตามเทศกาลใหญ่เท่านั้น ทำให้ปัญหาสัตว์พลัดหลง หรืออุบัติเหตุที่เกดจากสัตว์วิ่งหนีเตลิด มีจำนวนน้อย หากเทียบกับพื้นที่อื่นๆ

ดังนั้นแทนการโยนบาปให้ ‘สุนัข’ หรือ ‘ดอกไม้ไฟ’ อาจเป็นเพียงปลายเหตุของประเด็นทั้งหมด คล้ายๆ กับประเด็นการแก้ปัญหา ‘สุนัขจรจัด’ ที่สุดท้ายพยายามแก้ที่ปลายเหตุ ด้วยการผลักดัน SET ZERO แล้วซุกมูลความเป็นจริงไว้ใต้พรม ทั้งๆ ที่ปัญหาทุกอย่างแก้ได้ด้วยการปลูกฝังสามัญสำนึก - ความรับผิดชอบ ให้กับผู้เลี้ยงสัตว์และคนเล่นพลุ

“มันเป็นปัญหาที่ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ทั้งเรื่องทัศนคติและมุมมองต่อการเลี้ยง คนไทยมักเลี้ยงสัตว์ในลักษณะสบายๆ โดยไม่มีการวางกรอบเข้มข้นแบบต่างประเทศ ถึงเวลามีปัญหาไม่ว่าจะเรื่องพลุ หรือหมาจรจัดก็จะโยนกันไปมา ไม่มีใครยอมยื่นมือแก้ไข บางขณะโยนความผิดไปที่ตัวสุนัข ซึ่งความจริงเราต้องโฟกัสไปที่คนที่เลี้ยงก่อน บางคนคิดจะเลี้ยงสัตว์ แต่ไม่เอาใจใส่ จนสุดท้ายปล่อยให้สัตว์ต้องเผชิญชะตากรรมอย่างเดียวดาย มันเลยกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องเรื่อยมา และลุกลามใหญ่โตจนยากที่จะแก้ไข”

ชุติมา ศรีสว่าง กล่าวทิ้งท้าย

ท้ายที่สุดปัญหาต่างๆ ที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุนัขจร และผลกระทบจากการเฉลิมฉลองด้วยดอกไม้ไฟ จะแก้ได้ไขได้อยู่ที่ 'มนุษย์' ที่ไม่มองว่าสัตว์เป็นเพียงเดรัจฉาน ที่เป็น 'เพื่อน' ร่วมโลกกับเรา

เหมือนบทเพลงเจ้าถนนที่กล่าวไว้ในท่อนฮุก ระบุถึงปัญหาต่างๆ จากสัตว์เลี้ยง ล้วนเกิดจาก 'คน' ทั้งสิ้น

"ทั้งหมดนี้ก็เพราะเธอ...ไอ้มนุษย์ผู้ประเสริฐ"

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์