นับตั้งแต่ข้อพิพาท ‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’ ถูกหยิบมาเป็นประเด็นสนใจอีกครั้ง จนเกิดกระแสปกป้องผืนป่าผ่าน #Saveทับลาน กระทั้งเกิดการโต้แย้งในมุมนักสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิชุมชนที่ถูกริดลอนไป ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเข้ามาอาศัยอยู่ก่อน พื้นที่จะมีการประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ ทำให้ปรากฎการณ์ทับลาน กลายเป็นที่พูดถึงบนโลกโซเชียลแบบ 2 มิติ คือการตอบโต้ทางวิชาการจาก (ด้านอนุรักษ์ -ความเป็นมนุษย์) ขณะเดียวกันก็เกิดการมีส่วนร่วมของผู้คนทั่วไปทั้ง 2 ความคิดเห็นในลักษณะการวิจารณ์แบบ ‘ขาว - ดำ’ จนเกิดการตีตราความคิด ‘แบบแบ่งขั้ว’
เกิดความกังวลว่า ‘วาระสำคัญ’ ในการแก้ไขปัญหาอย่าง ‘ชาวบ้าน’ และ ‘ผืนป่า’ จะถูกลดทอนความคุณค่าลงไป ในมุมของ ‘ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน และติดตามความเคลื่อนไหววงการสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ให้ความเห็นในลักษณะการตกตะกอนปรากฏการณ์ ว่าเรื่องนี้เดิมทีมาจากอุดมการณ์ความเชื่อในลักษณะของ ‘การอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ’ และอุดมการณ์ที่มีต่อ ‘สิทธิมนุษย์และชุมชน’ ที่มีหลักการและเหตุผล แต่ถูกขยายความโดยมุมคิดทางการเมือง และความเห็นต่างในมิติการหา ‘ผู้ชนะ’ ซึ่งจะขยายขอบของปัญหา จากการที่ต่างฝ่ายต่างใช้ภาวะทางอารมณ์ นำหลักการและข้อเท็จจริงเข้าป้ายสีกัน
ยกตัวอย่าง ในมุมอนุรักษ์ (บางส่วน) ที่ออกมาคัดค้านการแปรที่ดินพิพาทเป็น ‘พื้นที่ ส.ป.ก.’ กลับถูกวิจารณ์โดยผู้สนับสนุนให้เพิกถอนพื้นที่ (บางคน) ว่า ‘อนุรักษ์ตกขอบ’ ซึ่งจริงๆ แนวคิดเหล่านี้เป็นผลพวงมาจาก ‘ภาพจำ’ ของคนกลุ่มหนึ่งที่ ติดภาพการเคลื่อนไหวของ ‘มูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ และเครือข่ายสิ่งแวดล้อม ต่อการคัดค้านโครงการก่อสร้าง ‘เขื่อนแม่วงก์’ ในยุคการบริหารของรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เมื่อหลายปีก่อน ว่าเป็นผู้ขัดขวางความเจริญ - รักษาผืนป่าแต่ไม่เห็นคุณค่าคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน
ยิ่งข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในทับลาน มีมิติทับซ้อนยุ่งเหยิงมากกว่าการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ อันเป็นลักษณะของการรักษาป่าที่เป็นป่าทางกายภาพจริงๆ ซึ่งต่างกับปัญหาความขัดแย้งเชิงพื้นที่ของทับลาน ที่ยังถกเถียงกันอยู่เรื่องการนิยามคำว่า ‘ป่า’ ในเชิงกายภาพที่ปัจจุบันเป็นแหล่งชุมชนแล้ว รวมถึงมีการโต้แย้งประเด็นทางกฎหมาย โดยเฉพาะปมการออกโฉนดและการถือกรรมสิทธิ์ของที่ดินระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชน
ผนวกกับที่ ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษา’ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ ออกมาร่วมผลักดันเรื่องนี้ ท่ามกลางภาพจำถึงกรณีการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเคยมีการตีความจากภาคประชาสังคม ว่าเป็นการบริหารพื้นที่อย่างไม่เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมด้วย ยิ่งทำให้ฝากฝั่งกลุ่มผู้คัดค้านอย่างนักอนุรักษ์ ถูกตีตราว่าเป็น ‘อนุรักษ์แบบตกขอบ’
ในขณะที่ความเห็นของกลุ่มผู้สนับสนุนปกป้องป่าทับลาน (บางส่วน) ก็พยายาม ‘เหมารวม’ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พิพาท หรือออกมาสนับหนุนให้ที่ดินได้รับการดูแลโดย ส.ป.ก. คือผู้ที่จ้องทำลายป่า ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งในข้อเท็จจริงอาจมีทั้งชาวบ้านที่ไม่สนใจกติกา และผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ภายใต้การเคารพกติกา ผ่านการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า อยู่ผสมสมปนเปด้วยกัน
ส่วนเรื่องความไว้วางใจจากภาคประชาชนบางกลุ่ม ที่มีต่อหน่วยงาน ภาครัฐ ในฝ่ายอนุรักษ์ก็จำเป็นต้องรับฟังและเข้าใจ เพราะในอดีตก็เคยปรากฏความผิดพลาดมาก่อน ว่าที่ดินอนุรักษ์ของหน่วยงานรัฐเองก็ถูกจัดสรรให้กับนายทุน หรืออนุญาตให้ผู้มีอำนาจเข้ามาใช้ประโยชน์ ผ่านโครงการขนาดใหญ่อย่างเขื่อนมาแล้ว ขณะเดียวกันในฝ่ายที่สนับสนุนเรื่องการให้สิทธิ์ ส.ป.ก. ก็ต้องให้ความสำคัญกับมุมมองที่กังวลต่อการเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ ที่จะขัดต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมด้วยเช่นกัน
“ไม่ว่าฝ่ายไหน ก็ไม่ควรถูกเหมารวม โดยจากประสบการณ์ที่เคยทำงานทั้งสิ่งแวดล้อมและชุมชน ผมมองว่าชาวบ้านที่เขารักษาป่ามันก็มี แบบที่เบียดเบียนธรรมชาติ มันก็มีผสมปนเปกันไป แต่จะยกให้ ส.ป.ก ทั้งผืนคงไม่ใช่ แต่ต้องจำแนกผู้อยู่อาศัยอย่างเป็นธรรม เรื่องสำคัญที่สุดคือ การแยกระหว่างชุมชนเดิมที่อยู่มาก่อนประกาศอุทยานฯ กับชุมชนที่บุกรุกเพิ่มเติมให้ชัดเจน”
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง กล่าว
ในภาวะที่เกิดสนามการปะทาคารมระหว่างนักอนุรักษ์ นักวิชาการ และภาคประชาชน ที่กำลังโต้เถียงกันอยู่ อย่างหาจุดบรรจบกันไม่ได้ เข็มทอง มองว่า เกิดจากการทีหน่วยงานที่ควรเคลื่อนไหว ในการแสดงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ผ่านการชี้แจงข้อมูลอย่างเป็นธรรม และเป็นกิจลักษณะ อย่าง ‘กรมอุทยานแห่งชาติฯ’ ต้องรีบออกมาเพื่อคลี่คลายความตึงเครียด ซึ่ง ณ วันนี้ยังเงียบอยู่ ซึ่งถือเป็นการปล่อยให้สังคมใช้สนามทางความคิดทะเลาะกันเอง จนไม่สามารถหาจุดร่วมในการแก้ไขปัญหาได้
ขณะเดียวกันในมิติเรื่องการในประเด็นทับลาน จะต้องให้ความเห็นทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเรื่องการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ หรือการให้สิทธิต่างๆ กับชุมชน เพื่อให้เกิดการรับทราบข้อมูลตามหลักวิชาการ นำไปสู่ปัญหาทั้ง 2 มิติได้ถูกนำมาตกตะกอน จนเกิดการสร้างความเป็นธรรมให้กับคนทั้ง 2 ชุดความคิดในที่สุด
“ผมมองว่าการหยิบยกข้อมูลโต้แย้งของทั้ง 2 ฝั่งมีทั้งด้านข้อเท็จจริงและอคติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายกรณี มันมาจากคนที่พูดด้วยหลักทางวิชาการ และคนที่พูดโดยเอาความสะใจเป็นตัวตั้ง ดังนั้นเราควรจะรับฟังคนที่อธิบายด้วยหลักการและเหตุผล มากกว่าคนที่ก่นด่าไปเรื่อย”
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง กล่าวทิ้งท้าย
ท้ายที่สุดการโต้เถียงเรื่องทับลาน เพื่อป้ายกลายเป็น ‘ขาว - ดำ’ อาจไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่สิ่งที่สำคัญ คือการจะทำอย่างไรให้โอกาสการแลกเปลี่ยน เรื่อง ‘ป่า’ และ ‘สิทธิชุมชน’ ถูกหยิบมาเป็นวาระสำคัญต่อการพัฒนาทางปัญญา และการหาจุดร่วมซึ่งกันและกัน ภายใต้หลักที่ต้องคืนความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม