ความเป็นไปได้แก้โทษอาญาเยาวชน โยงคดีฆาตกรรม ‘ป้าบัวผัน’

17 ม.ค. 2567 - 08:48

  • เอฟเฟกต์คดี ‘ป้าบัวผัน’ อธิบดีกรมพินิจฯ ชี้แก้โทษในคดีอาญาของเยาวชนให้ต่ำลง ต้องประเมินผลกฎหมาย

  • เผย 70 % ของเด็กที่กระทำผิด ส่วนใหญ่เกิดจากครอบครัวแตกแยก

Auntie-Buapan-murder-case-and-juvenile-criminal-punishment-SPACEBAR-Hero.jpg

คดีแก๊งวัยรุ่น 5 คน ฆาตกรรม ‘ป้าบัวผัน’ ในเขตเทศบาลเมืองอรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่าวร้อนแรง โดยเฉพาะประเด็น ‘โทษอาญาเยาวชน’ ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งนับตั้งแต่เหตุกราดยิงสะเทือนขวัญ กลางศูนย์การค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อ 3 ต.ค. 2566 โดยฝีมือวัยรุ่นอายุ 14 ปี 

ในส่วนของคดีฆาตกรรม ‘ป้าบัวผัน’ จากฝีมือแก๊งวัยรุ่นนั้น โกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ชี้ให้เห็นว่า สถิติเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดส่วนใหญ่ เกิดจากครอบครัวแตกแยกกว่า 70% ส่วนอีก 30% ก็ไม่ใช่ครอบครัวที่อบอุ่น หรือได้ดูแลเด็กที่เหมาะสม

ดังนั้น ครอบครัวและชุมชนถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพขึ้นมา ครอบครัวต้องสอดส่องพฤติกรรมของเด็กที่ไม่เหมาะสม ใส่ใจการดูแลและการเลี้ยงดูบุตร มีการแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อย่าปล่อยให้เลยเถิดไปถึงการก่ออาชญากรรม

เด็กทั้ง 5 คน ในตอนนี้ ได้รับการควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสระแก้ว พนักงานคุมประพฤติกำลังประมวลข้อเท็จจริง และรายงานประวัติของเด็ก ทั้งพฤติกรรมส่วนตัว การศึกษา การประกอบอาชีพ รวมถึงพฤติการณ์เกี่ยวกับคดีเพื่อรายงานส่งศาลพิจารณาต่อไป

ส่วนกรณีที่มีเสียงเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือให้ขยายอายุการรับโทษทางอาญาให้ต่ำลงนั้น เดิมเด็กที่กระทำผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องอายุ 10-18 ปี ปีที่แล้ว 8 พ.ค.2566 ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับ 29 พ.ศ.2565 แก้ไขจากอายุ 10 ปี เป็น 12 ปี ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับใช้ หากจะมีการขอแก้ไข ต้องมีการประเมินผลกฎหมายไประยะหนึ่ง

เพราะจากการศึกษาทางการแพทย์มองว่าเด็กอายุ 7-12 ปี เป็นเด็กประถมศึกษา ยังไม่มีพัฒนาการด้านร่างกาย การคิดวิเคราะห์แยกแยะถูกผิด หรือควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ที่นำไปสู้การก่อความรุนแรงหรือกระทำความผิด ตรงนี้ กรมพินิจฯ จึงต้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 12 ปี หากกระทำผิดก็จะเข้าสู่กระบวนการแก้ไขฟื้นฟู ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์