






'สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์' นำโดย 'ดร.วิเชียร ชุบไธสง' นายกสภาทนายความ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกับ ต้นตอของการระบาด 'ปลาหมอคางดำ' ในประเทศไทย โดยเปิดเผยว่า ได้ตั้งประธานสภาทนายความทนายความจังหวัดรวม 17 จังหวัด เป็นผู้แทนเพื่อร่วมประชุมกับส่วนราชการ กำหนดวิธีแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน
"การนำเข้าครั้งนี้มันมีหลักฐานว่ามีบริษัทใดที่นำเข้าปลามาตั้งแต่เมื่อไหร่ หลังจากนั้นมันมีการระบาด ทั้งในบ่อเลี้ยงกุ้งบ่อเลี้ยงปลาและแหล่งน้ำธรรมชาติ ดังนั้นบริษัทผู้นำเข้าต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ เพราะถือเป็นผู้ก่อมลพิษ และทำให้สัตว์น้ำต่างถิ่นระบาดส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และระบบเศรษฐกิจให้กับชาวประมงพื้นบ้าน"
วิเชียร ชุบไธสง กล่าว
ทั้งนี้ ได้พิจารณาบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ก่อให้เกิด หรือเป็นต้นเหตุของการระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นจากกรณีดังกล่าว โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความและคณะกรรมการสำนักงานคดีปกครอง จึงกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในสองแนวทาง
-
การดำเนินคดีแพ่งกับผู้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย โดยดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ของชาวประมง และเรียกค่าเสียหายจากการที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ตามหลัก 'ผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย'
-
การดำเนินคดีปกครองกับหน่วยงานอนุญาตที่ละเลย ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นการทำละเมิดทางปกครองและให้หน่วยงานอนุญาตขจัดการแพร่ระบาดและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป 'โดยให้เรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากผู้ก่อให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ' รวมทั้งค่าเสียหายจากการที่ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
โดยรูปแบบการฟ้องร้องทั้ง 2 คดี ทางสภาทนายความได้วางกรอบเวลาไว้ว่า จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล (ฟ้องร้อง) ภายในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมความเสียหายของประชาชน ที่อาจตกหล่นอยู่ในอีกหลายพื้นที่ ซึ่งลักษณะการฟ้องในคดีสิ่งแวดล้อม จะใช้วิธีการฟ้องแบบ 'ตัวแทนกลุ่ม' ซึ่งน้ำหนักที่จะยื่นฟ้อง ทั้งข้อมูลและเอกสาร ยืนยันว่า ตอนนี้มีหลักฐานเพียงพอในการฟ้องเอกชนผู้เป็นต้นเหตุ แต่เมื่อทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล เบื้องต้นคาดว่า คดีในลักษณะดังกล่าวอาจต้องมีระยะเวลาการต่อสู้นานกว่าคดีทั่วไป
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางในการพิสูจน์ว่า สุดท้ายต้นตอมาจากผู้นำเข้า (ที่มีเพียงรายเดียว) หรือไม่ ‘สมชาย อามีน’ ประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ กล่าวว่า แม้การต่อจิ๊กซอร์จะสามารถต่อได้เพียงบางส่วน แต่จิ๊กซอร์คือการนำเข้าปลาหมอคางดำ ที่ได้รับใบอนุญาติถูกต้องมีเพียงรายเดียว
ส่วนจะมีการลักลอบหรือไม่ก็ต้องไปว่ากันตามข้อเท็จจริง และเมื่อมีการนำเข้าเพื่อศึกษาและเพาะเลี้ยง ทางบริษัทก็ไม่ได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรมประมง ในการตัดครีบปลา - หลักฐานการตายของปลา ที่ถูกนำส่งให้ราชการ รวมถึงข้อมูลที่ชี้ชัดว่า มีการระบาดเกิดขึ้นพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์วิจัยของบริษัทเอกชน ซึ่งตามหลักวิชาการยืนยันว่า ปลาหมอคางดำที่ระบาดมีพันธุกรรมเดียวกันกับบ่อเลี้ยงข้อเท็จจริงเหล่านี้ คือจิ๊กซอร์ที่เราจะต่อกันให้ได้ แล้วคนที่จะวินิจฉัยว่า สิ่งที่เรานำเสนอถูกต้องหรือไม่คือผู้พิพากษา
อย่างไรก็ดี ในงานแถลงข่าววันนี้มีกลุ่มตัวแทนจากเครือข่ายชาวบ้าน 17 จังหวัดเข้าร่วมสังเกตการณ์ และเปิดเผยถึงปัญหาการทำกินในท้องถิ่น ในช่วงระหว่างที่ปลาหมอคางดำระบาดด้วย โดยทุกคนคาดหวังให้เกิดการผลักดัน ให้ผู้เป็นสารตั้งต้นของปัญหาออกมารับชอบต่อความสูญเสียทั้งในระดับชาวประมงท้องถิ่นเป็นรายคน และการชดใช้ค่าเสียหายที่ภาครัฐใช้จ่ายทั้งหมด