สะท้อนภาพอุปถัมภ์ 'ธุรกิจแชร์ลูกโซ่' ใต้ปีก ‘เทวดาการเมือง’

17 ต.ค. 2567 - 11:22

  • ถอดรหัส ‘คลิปเสียงเทวดา’ ผ่านกลไกการต่อรองที่มี ‘คนการเมือง - นักธุรกิจ - ข้าราชการ’ เข้ามามีส่วนพัวพัน เพื่อเปิดทางให้ ‘เครือข่ายแชร์ลูกโซ่’ เติบโต กับ ‘วีรพัฒน์ ปริยวงศ์’ นักวิชาการด้านกฎหมาย

Behind-the-Chain-Sharing-Business-Icon-Group-SPACEBAR-Hero.jpg

ในภาวะที่สังคมกำลังจับตากระบวนการยุติธรรม ที่กำลังดำเนินควบคู่ไปกับการเอาผิดผู้ต้องหา ‘คดีดิไอคอนกรุ๊ป’ ขณะเดียวกันสิ่งที่มาควบควบคู่กับประเด็นเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนคือ กรณี ‘คลิปเสียง’ การต่อรองผลประโยชน์ ระหว่าง ‘บอสพอล’ กับ ‘บุคคลปริศนา’ จนเป็นที่มาของนิยามว่า ‘เทวดา สคบ.’

สะท้อนภาพการอุปถัมภ์ - ฉ้อราษฎร์ ผ่านกลไกการต่อรองที่มี ‘คนการเมือง - นักธุรกิจ - ข้าราชการ’ เข้ามามีส่วนพัวพัน เพื่อเปิดทางให้ ‘เครือข่ายแชร์ลูกโซ่’ ดำเนินหลอกลวง ‘เหยื่อ’ กระทั้งมูลค่าความเสียหายพุ่งสูงกว่าหลายร้อยล้านบาท  

ในมุมมองของ ‘วีรพัฒน์ ปริยวงศ์’ นักกฎหมาย และ ที่ปรึกษาคณะกรรมธาธิการ การเงิน การคลังฯ สภาผู้แทนราษฎร ผู้ก่อตั้งสำนักกฎหมาย VLA ซึ่งทำคดีเรียกค่าเสียหายกรณี คดีหุ้นสตาร์ค และ คดีซิปเม็กซ์ ซึ่งมีประชาชนผู้เสียหายหลายหมื่นราย มูลค่าความเสียหายรวมหลักหมื่นล้านบาท มองกรณีที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า กฎหมายที่พร้อมใช้บังคับมีอยู่แล้ว (พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดตรง พ.ศ. 2545) ซึ่งมีการจัดตั้งโครงสร้างคณะกรรมการนายทะเบียนให้มาตรวจสอบ แต่ปรากฎว่ากฎหมายไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างถูกต้อง จนมีการปล่อยปละละเลย นำไปสู่ปัญหาวันนี้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องตั้งคำถามกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ถึงช่องโหว่วที่ทำให้ขั้นตอนความเข้มงวดถูกละเลย 

หากมีการอธิบายว่า ยังไม่สามารถหาพยานหลักฐาน หรือเจอว่ามีการทำผิดกฎหมาย ก็ต้องตั้งคำถามกลับว่า เหตุไฉนจึงมีผู้เสียหายออกมาแสดงตัวเป็นจำนวนมาก หรือเป็นเพราะระบบปล่อยให้หน่วยงานมีข้ออ้างมากไปหรือไม่ ที่สำคัญกรณีการ ‘เช็กบิล’ กับคนที่ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้น จะสามารถย้อนเอาผิดได้หรือไม่ อย่างคณะกรรมการ ที่อาจต้องมีการเอาผิดย้อนหลัง อย่างน้อยๆ ต้องบันทึกเป็นประวัติการทำงาน เพื่อกันให้บุคคลที่มีส่วนเชื่อมโยง ไปข้องเกี่ยวกับองคาพยพส่วนอื่น ซึ่งหลังหากมีการจัดการกับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา จะเป็นบรรทัดฐานให้ทุกหน่วยงาน คำนึงถึงหน้าที่ - ไม่ใส่เกียร์ว่าง และเมื่อทุกหน่วยงานทำตามอำนาจหน้าที่ ย่อมทำให้ปัญหาการฉ้อโกง - หลอกลวง ลดลงแม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม

แต่ต้องคำนึงถึงเหรียญอีกด้าน เพราะเมื่อนายทะเบียนสำนักงาน ปฏิบัติอย่างกวดขันตามกฎหมาย ก็จะมีคนอีกกลุ่มที่เอาใจใส่มากเกินไป จนเกิดกระบวนการรีดไถ หรืออาจเกิดในลักษณะที่มีทั้งผู้รีดผู้ประสาน เฉกเช่นเดียวกันกับคลิปเสียงที่มีการปล่อยออกมา ดังนั้นหน่วยงานโดยเฉพาะราชการ ต้องกล้ารับรองสวัสดิภาพให้ประชาชน ในการเปิดโอกาสให้สามารถเปิดโปงเครือข่ายเหล่านี้ เพื่อให้เบาะแสในการเอาผิดผู้กระทำ โดยต้องมาพร้อมการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ตกทุกข์ด้วย

“เราต้องปรับแก้กฎหมาย กรณีที่หน่วยงานภาครัฐเรียกหาประโยชน์ หรือมีผู้ประสานเพื่อหาประโยชน์ แต่หากเหยื่อหลวมตัว หรือมีความจำเป็นจนเกิดการจ่ายเงินไปแล้ว เราไปลงโทษแล้วใครจะมาบอก บางคนกลัวถูกรังแกจึงจำยอมจ่ายไป ดังนั้นเราอาจต้องอะลุ่มอล่วยกับเหยื่อบางกลุ่มเพื่อให้ได้มาซึ่งเบาะแสอันเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา”

วีรพัฒน์ กล่าว

วีรพัฒน์ ยกตัวอย่างอำนาจของ ‘เทวดา’ ในระบบรัฐราชการไทย ว่า เวลาประชาชนติดต่อเพื่ออนุญาตที่เขตแห่งหนึ่ง อาจต้องใช้เวลารอนานหลายชั่วโมง แต่เมื่อรู้จักกับบุคคลในระดับผู้อำนวยการเขต หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจ เพียงแค่เอาขนมไปฝาก หรือมีการมอบซองแต๊ะเอียให้ตามเทศกาล การอำนวยความสะดวกก็จะเกิดขึ้น กรณีของดิไอคอนกรุ๊ปก็เช่นการ ที่จำเป็นต้องพึ่ง ‘คนใหญ่โต’

หากเจาะลึกถึงบทสนทนาในคลิปเสียง มีความเชื่อว่าอาจมี ‘คนการเมือง’ เข้ามาพัวพันด้วย เพราะลำพังยังไม่เชื่อว่าบารมีส่วนตัว อาจไม่เพียงพอต่อการสั่งให้ข้าราชการหน่วยงานรัฐ ทำตามความประสงค์ได้ หรืออีกนัยอาจมีการเดินตาม ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ แล้วอวดอ้างอำนาจเพื่อให้เกิดความเกรงอกเกรงใจ ดังนั้นกรณีดิไอคอนกรุ๊ป จะต้องเป็นอีกกรณีที่จะต้องปฏิรูประบบการเปิดเผยอำนาจของผู้ที่ถูกกล่าวหา ว่ามีการดำรงตำแหน่งใดบ้าง

“มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นคนใกล้ชิดกับข้าราชการหรือสส. ดังนั้นอาจจำเป็นต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เพื่อหาเบาะแสว่ามีการได้เสียผลประโยชน์กับดิไอคอนกรุ๊ปหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นจริงตามกระแสข่าว เชื่อว่ากระบวนการนี้อาจมีข้าราชการประจำ และคนใหญ่โตของบ้านเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย”

วีรพัฒน์ กล่าว

วีรพัฒน์ มองว่า ที่ผ่านมาการถูกรีดไถ หรือการเรียกรับเงินโดยหน่วยงานหรือคนมุมมืด มีให้เห็นในสังคมไทยมาโดยตลอด ในทุกๆ วงการ แต่เมื่อเกิดกับคดีที่มีดาราเข้าไปเกี่ยวข้อง และมีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ย่อมเป็นที่ถูกจับตามากกว่าเรื่องอื่นๆ 

ส่วนจะมีการตั้งข้อสังเกตว่าการเดินหน้าเปิดโปง ‘เทวดา’ จะเป็นประเด็นเพื่อการโจมตีทางการเมืองหรือไม่ คิดว่าแล้วมุมมองของสังคม ส่วนตัวไม่ทราบว่าใครหรือฝ่ายไหน คือต้นตอของการปล่อยคลิปเสียง แต่ในมิติการเมืองห้วงหลัง ต้องยอมรับว่าเป็นการชิงไหวชิงพริบ ผ่านการใช้กระบวนการที่ไม่ถูกต้อง อาทิ การยื่นคำร้องให้ยุบพรรคการเมือง

แต่สิ่งที่พูดได้และควรจะเป็นคำถามใหญ่ที่ปรากฎอยู่ในคลิปเสียง คือผู้เรียกรับเงินสามารถทำได้คนเดียวได้จริงหรือ เพราะที่ผ่านมากรณีที่มีการตั้งขอสังเกตในลักษณะเดียวกัน คนการเมืองล้วนหวังประโยชน์จากการใช้อำนาจผ่านความสัมพันธ์ ระหว่างผู้มีบารมีและหน่วยงานรัฐราชการเสมอ ซึ่งหากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องจริง พรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ต้องขับออก ดังนั้นต้องกลับไปถามฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องด้วย

ท้ายที่สุด วีรพัฒน์ ฝากข้อคิดว่า ดิไอคอนกรุ๊ป ที่เอาดารามาเปิดเสื้อโชว์กล้าม เอารถหรูมาโฆษณา เป็นการแสดงให้เห็นว่าสภาพสังคมบางส่วน ยึดติดกับเรื่องวัตถุ ความร่ำรวย รูปร่างหน้าตา โดยไม่ได้สนใจว่าศิลปินเหล่านี้จะมีความวิริยะอุตสาหะ คุณธรรม และหลักการลุงทุนเช่นไร ซึ่งผู้คนมักมองข้ามคุณภาพของสินค้าและแผนการตลาด มองแต่เรื่อง ‘รวยทางลัด’ จนถูกหลอกลวงในที่สุด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์