ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ สำนักงานเขตจตุจักร ที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดการสถานการณ์อาคารก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่ถล่มลงมา หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตและเก็บกู้ซากอาคารได้เสร็จสิ้นลงแล้ว
ภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการเกตุการณ์ฯ ระบุว่า ศูนย์ฯ ได้ปฏิบัติการมาเป็นเวลา 48 วัน และจะประกาศปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พ.ค. เวลา 16.00 น. หลังเสร็จสิ้นการขนย้ายซากคอนกรีตและการค้นหาผู้รอดชีวิต
จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ถนนกำแพงเพชร 2 ในช่วงวันที่ 13-15 พ.ค. อาจพิจารณาหลีกเลี่ยงเส้นทาง เนื่องจากมีการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์และเครื่องจักรหนักออกจากพื้นที่จะทำให้การสัญจรไม่สะดวก พร้อมกันนี้ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมปฏิบัติภารกิจจนลุล่วง
-3.jpg&w=3840&q=75)
ขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า หลังจากนี้จะมีการส่งหนังสือแจ้งปิดภารกิจไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ กทม. ได้ขอความร่วมมือ และแจ้งคณะกรรมการสอบสวนทางคดีว่าภารกิจหลักของ กทม. สิ้นสุดลงแล้ว
ด้าน พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง (พฐก.) เปิดเผยความคืบหน้าด้านการพิสูจน์หลักฐานว่า สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ได้รับร่างผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 89 ราย (80 ที่เป็นสภาพร่างและ เป็นอวัยวะอีก 9 ราย) สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้แล้ว 72 ราย และจะมีการส่งคืนร่างผู้เสียชีวิต 86 ราย ในวันนี้เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป
ส่วนที่เหลือเป็นชิ้นส่วนที่ยังระบุตัวตนไม่ได้ และบางรายครอบครัวอยู่ต่างประเทศ (เมียนมา) ยังไม่สามารถส่ง DNA มาเปรียบเทียบได้
ในส่วนของวัตถุพยาน ผบก.พฐก. ระบุว่า ได้เก็บตัวอย่างเหล็ก 366 เส้น และคอนกรีตกว่า 200 ชิ้นจากอาคารที่ถล่ม รวมถึงแท่งคอนกรีตจากส่วนที่ไม่ถล่ม เช่น โถงทางเดิน ลิฟต์ และบันไดหนีไฟ

โดยหลังวันที่ 15 พ.ค. สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำการอายัดสถานที่เกิดเหตุ 2 ส่วน คือ พื้นที่อาคารที่ถล่มจะอายัดถึงวันที่ 31 พ.ค.2568) และกองซากอาคารเเละ พัสดุของอาคาร สตง.ด้านหลังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะอายัดถึงวันที่ 20 พ.ค. 2568 เพื่อให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นคณะทำงานที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น สามารถเก็บพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อสืบสวนสาเหตุการถล่มต่อไป จากนี้การเข้าพื้นที่ในช่วงอายัดจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ
ขณะที่ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุถึงการช่วยเหลือประชาชนว่า ได้ปิดรับการร้องขอความช่วยเหลือจาก 50 เขตแล้วเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม โดยมีผู้ยื่นเรื่องประมาณ 40,000 ราย ส่วนใหญ่ขอรับเงินเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือน ยอดการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่ที่ 176 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน เช่น ค่าน้ำมันเครื่องจักรในพื้นที่อาคารถล่ม อยู่ที่ประมาณ 3,000 ลิตรต่อวัน โดยเฉพาะรถเครนมีค่าใช้จ่ายน้ำมันวันละประมาณ 200,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ยังไม่รวมค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์ที่เสียหายระหว่างปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ กทม. ได้ทำเรื่องขอสนับสนุนค่าจ้างผู้ประกอบการเอกชน และขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสองฝั่งถนนที่เกิดเหตุแล้ว ในแต่ละวันมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในส่วนอาคารถล่มประมาณ 600-800 คน และหากรวมพื้นที่โดยรอบจะมีเจ้าหน้าที่นับพันคน ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือร่วมใจที่เข้มแข็งของทุกฝ่าย
จากนั้น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวทิ้งท้าย ว่า วันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ได้มี การ กำหนดระยะเบื้องต้น คาด การณ์ 1-2 เดือน ของภารกิจทั้งหมด ซึ่งถือว่า เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมระยะ เวลา กว่า 1 เดือนครึ่งมีเจ้าหน้าที่ เข้าปฏิบัติงานกว่า กว่า1,200 คน ต่อวัน
-2.jpg&w=3840&q=75)