จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ได้แก่
พ.ร.ฎ.กำหนดระยะเวลา เริ่มดำเนินการ จัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบทุนกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ.... โดยกำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2568 เป็นต้นไป
ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ.... ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2568 เป็นต้นไป โดยกำหนดอัตราเงินสะสมจากลูกจ้างและเงินสมทบจากนายจ้างที่แต่ละฝ่าย จะต้องนำส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ดังนี้
- ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2568 - 30 ก.ย.2573 ลูกจ้างและนายจ้าง ต้องนำส่ง เข้ากองทุนฯ ในอัตราร้อยละ 0.25 ของค่าจ้าง
- ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2573 เป็นต้นไปลูกจ้างและนายจ้าง ต้องนำส่งเข้ากองทุน ในอัตราร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ.... ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่ได้จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และไม่ได้จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง นายจ้างต้องจัดให้มีการส่งของลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ในร่างกฎกระทรวงนี้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2568 เป็นต้นไป
เนื่องด้วย เศรษฐกิจปัจจุบัน มีความไม่แน่นอน ส่งผลให้สถานประกอบกิจการหลายแห่ง มีการเลิกจ้างลูกจ้าง ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และเป็นหลักประกันในการทำงานให้กับลูกจ้างกรณีต้องออกจากงานหรือตาย จึงต้องมีการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบ เพื่อเป็นเงินสงเคราะห์ลูกจ้างในกรณีดังกล่าว โดยกำหนดให้นายจ้าง หักค่าจ้างลูกจ้าง เพื่อเป็นเงินสะสม และให้นายจ้าง จ่ายเงินสมทบตามอัตรา ที่นายจ้างและลูกจ้างถูกลงทุนไว้ โดยเมื่อลูกจ้างลาออกหรือเกษียณอายุ หรือตกลงเลิกสัญญา ให้นายจ้าง มีหน้าที่คืนเงินสะสม และเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้าง
จิรายุ ห่วงทรัพย์