หลังจากมาตรการของรัฐบาลไทย ที่ตัดกระแสไฟฟ้า และห้ามส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปฝั่งประเทศเมียนมา โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเมียวดีในเขตอิทธิพลของทหารกะเหรี่ยง 2 กลุ่ม ตั้งแต่พื้นที่ตรงข้าม อ.แม่ระมาด ลงไปจนถึงด้าน อ.พบพระ จ.ตาก เพื่อจัดการกับขบวนการกลุ่มสแกมเมอร์ออนไลน์ ที่ร่วมกันทำคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงชาวโลก ทำให้ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์สั่นสะเทือนได้รับผลกระทบ ประกอบกับฝ่ายกะเหรี่ยงเอง ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่คือ กะเหรี่ยงพุทธ หรือ กะเหรี่ยงดีเคบีเอ. และกองกำลังกะเหรี่ยงพิทักษ์ชายแดน (บีจีเอฟ.) ประกาศขจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่ของตนเองเช่นกัน โดยมีการปล่อยเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับมาแล้วหลายครั้ง
ครั้งแรกมีฝ่ายกะเหรี่ยงบีจีเอฟ.มอบให้ฝ่ายไทย จำนวน 61 คน โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ไปรับที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย เมียนมา แห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลท่าสายลวด และครั้งใหญ่ที่สุด คือ ที่บริเวณท่าขนส่งสินค้า ท่า 28 บ้านช่องแคบ ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จำนวน 260 คน โดยมีพันเอกณัฐกร เรือนติ๊บ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจราชมนู อ.แม่สอดไปรับตัว
นายสุไลมาน อายุ 22 ปี สัญชาติปากีสถาน 1 ในเหยื่อสแกมเมอร์ออนไลน์จาก 260 ชีวิต ที่ถูกส่งตัวกลับมายังเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เปิดใจถึงชีวิตที่ถูกหลอกไปเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่า ก่อนหน้านี้เคยทำงานอยู่ที่ทวาย ประเทศเมียนมา กระทั่ง 6 เดือนก่อน ได้รู้จักชาวจีนคนหนึ่ง ชวนไปทำงานที่ อ.แม่สอด จ.ตาก บอกว่าเป็นงานอเมซอน มีสวัสดิการดี สิ่งแวดล้อมก็ดี งานดีจะได้รับเงินเดือนละ 1,500 เหรียญสหรัฐ เงินไทยประมาณ 50,000 กว่าบาท จึงให้ความสนใจ และไปสอบจนผ่านการคัดเลือก
หลังจากนั้นชาวจีนได้พามายังประเทศไทย ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ มีคนจีนมารับที่สนามบิน และพาเดินทางต่อไปที่ อ.แม่สอด ที่ตอนนั้นเขาไม่รู้ว่ามันคือที่ใด เมื่อมาถึง อ.แม่สอด ต้องผ่านการตรวจของตรวจคนเข้าเมือง จ.ตาก ตามขั้นตอน และไปพักโรงแรมในแม่สอดที่มีชาวจีนจำนวนมาก
สุไลมาน เล่าต่อว่า นอนรอที่โรงแรมได้ 1 คืน เช้าวันต่อมา ก็ถูกพาตัวไปที่ชายแดนไทย-เมียนมา เบื้องหน้าคือแม่น้ำเมย ที่เขาไม่คุ้นตา ก่อนจะถูกพาข้ามฝั่งไปเมียนมา ตลอดเส้นทางนั้น เขาไม่รู้เลยว่า ที่ไหนคือแม่สอด และที่ไหน คือเมียนมา
เมื่อขึ้นไปถึงชายแดนอีกฝั่ง เขาก็เจอกับทหารที่แต่งเครื่องแบบ พร้อมอาวุธครบมือ (ดีเคบีเอ.) ก็ตกใจกลัว และได้ถามชาวจีนที่มาส่งว่า ทำไปเป็นฝั่งเมียนมา ไม่ใช่แม่สอด แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ หันมาขอดูหนังสือเดินทาง กับโทรศัพท์ 2 เครื่อง ก่อนจะยึดไว้ทั้งหมดและข่มขู่ ให้ต้องทำงานสแกมเมอร์ออนไลน์
สุไลมาน บอกอีกว่า เมื่อปฏิเสธไปว่า จะขอไปทำงานที่แม่สอด ประเทศไทย ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ก็โดนทุบตีอย่างหนัก และถูกทรมานทันที เขาถูกช็อตด้วยไฟฟ้า จนต้องอยู่ในสภาพจำยอมไป ในระหว่างการทำงานถูกตีทุกวัน แม้จะพยายามทำดีที่สุดแล้ว
“บอสชาวจีนคนหนึ่งมาเสนอว่า ถ้าอยากกลับไปต้องจ่ายเงิน 1,200 เหรียญสหรัฐ จึงพยายามขอติดต่อกับครอบครัว โดยทางครอบครัวตกลงยอมจ่ายเงิน พอส่งเงิน 1,200 เหรียญตามที่ตกลงกันไว้ก็ไม่ยอมปล่อยจะขออีก 500 เหรียญ จึงคิดว่าถ้าจ่ายอีกคงไม่ปล่อย จึงต้องอยู่ทำงานต่อไป”
สุไลมาน
สุไลมาน เล่าว่า ทำงานวันละ 18-20 ชั่วโมง อย่างโหดร้ายมาก พยายามที่จะหนีหลายครั้ง แต่ก็หนียาก มีทั้งทหาร และยามเฝ้าดูตลอด
“ขณะนี้ที่สามารถออกมาได้นั้น ยังมีคนต่างชาติอีกจำนวนมากติดค้างอยู่ พวกเขาใช้รถยนต์หลายคันมารับจากกรุงเทพฯ และเปลี่ยนคนบ่อยๆ คนพวกนี้ โหดร้ายมาก การออกมาได้ถือว่า โชคดีที่สุด จะได้ไปพบกับครอบครัว และขอขอบคุณทหารไทย รัฐบาลไทย รวมทั้งฝ่ายเมียนมาที่ให้ความช่วยเหลือจนกลับมาได้อย่างปลอดภัย”
สุไลมาน
สำหรับเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวต่างชาติ 260 คน ที่ได้รับการช่วยเหลือกลับมานั้น มีทั้งหมด 20 สัญชาติ มีชาวปากีสถาน 12 คน จากการที่ทางการไทยนำบุคคลต่างชาติมาร่วมคัดกรอง และตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อยืนยันสัญชาติ และจำนวน ภายในที่ว่าการอำเภอพบพระ ร่วมกับ ตม.จว.ตาก และ พมจ.จว.ตก. ประกอบด้วย
สัญชาติ ฟิลิปปินส์ จำนวน 16 ราย
สัญชาติ เคนยา จำนวน 23 ราย
สัญชาติ แทนซาเนีย จำนวน 1 ราย
สัญชาติ บลาซิล จำนวน 2 ราย
สัญชาติ เอธิโอเปีย จำนวน 138 ราย
สัญชาติ ปากีสถาน จำนวน 12 ราย
สัญชาติ บังกลาเทศ จำนวน 2 ราย
สัญชาติ เนปาล จำนวน 7 ราย
สัญชาติ กัมพูชา จำนวน 1 ราย
สัญชาติ ศรีลังกา จำนวน 1 ราย
สัญชาติ ยูกันดา จำนวน 6 ราย
สัญชาติ ไต้หวัน จำนวน 7 ราย
สัญชาติ ลาว จำนวน 6 ราย
สัญชาติ อินโดเนเซีย จำนวน 8 ราย
สัญชาติ บุรุนดี จำนวน 2 ราย
สัญชาติ ไนจีเรีย จำนวน 1 ราย
สัญชาติ กานา จำนวน 1 ราย
สัญชาติ อินเดีย จำนวน 1 ราย
สัญชาติ มาเลเซีย จำนวน 15 ราย
สัญชาติ จีน จำนวน 10 ราย