ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในการอยู่เวรของครู จากการที่เป็นกระแสข่าวมาเมื่อเร็วๆ นี้ มีครูท่านหนึ่งอยู่เวรยามเฝ้าโรงเรียน แล้วมีคนร้ายเข้าไปทำร้าย นายกฯ รู้สึกเสียใจมาก ที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ถึงได้ปรารภต่อที่ประชุมว่า มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ที่ให้มีการมอบหมายเป็นภาระของครูในการเข้าเวรยาม เป็นมติที่ล้าหลัง ไม่ตรงกับยุคสมัย ซึ่งทุกวันนี้ ไม่จำเป็นจะต้องให้ครูไปเฝ้าเวรยาม เพราะปัจจุบันมีเครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยี รวมถึงบริษัทรักษาความปลอดภัย พร้อมกับมองว่าเป็นการใช้คนผิดประเภท ในการเอาครูไปเฝ้าเวรยาม นายกรัฐมนตรี
จึงขอให้ยกเลิกมติ ครม.ย้อนหลัง ซึ่งมตินั้น มีผลในทางกฎหมาย รวมถึงการอยู่เวรราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มีการจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว ต่อไปนี้ ถ้าจะให้ครูอยู่เวรเหล่านี้ นายกฯขอสั่งการให้ยกเลืก และที่ประชุม ครม.เห็นชอบ
‘รมว.ศึกษาธิการ’ ชงเพิ่ม ‘ภารโรง’ ทั่วประเทศ มอบ ‘มท.-ตร.-แรงงาน’ ดูแลความเรียบร้อย-หางานให้เด็กทำ หวังเพิ่มศักยภาพ
ขณะที่ คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้นำเรียนนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องกรณีคดีทำร้ายครูเวร ว่ามีความประสงค์ที่จะให้เพิ่มนักการภารโรง ประมาณ 19,000 ตำแหน่ง ใน 2,000 กว่าโรงเรียนทั่วประเทศ โดย รมว.ศึกษาฯ เห็นว่าอยากจะขอเป็นงบกลาง ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว แต่หากไม่ได้เป็นงบกลางจริงๆ จะมีเสนอเข้างบประมาณตามปกติ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง
พร้อมกันรนี้ นายกฯ ยังมีข้อสั่งการ เกี่ยวกับโรงเรียนอีกว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และเยาวชนที่มีอายุ 15-18 ปี มีการกระทำความผิดเยอะ ซึ่งเห็นว่าเด็กยังมีพละกำลังในการทำงานในขณะที่ยังเป็นเด็กและเยาวชนได้ ซึ่งจากเหตุการณ์ ‘คดีป้าบัวผัน’ ในจังหวัดสระแก้ว เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่นายกรัฐมนตรี เห็นว่า กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้มีแนวทางดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อย
โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงมหาดไทย และ ตร. ที่จะต้องดูแลเกี่ยวกับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน และได้สั่งการไปที่กระทรวงแรงงาน ให้หางานที่เด็กและเยาวชนจะสามารถทำได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้มีการมีงานทำ ซึ่งกระทรวงแรงงานก็สามารถจ้างงานเด็กที่มีอายุ 15-18 ปีได้ แต่หากต่ำกว่า 15 ปี จะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ไม่สามารถให้เกิดการจ้างงานได้