‘กทม.’ เร่งกู้ภัยตึกถล่ม ลุยตรวจสอบอาคาร 700 เคส

29 มี.ค. 2568 - 04:09

  • ‘ชัชชาติ’ สั่งเดินหน้าลุย 2 ภารกิจด่วน สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

  • เร่งกู้ภัยตึกถล่ม พร้อมระดมวิศวกรตรวจสอบความปลอดภัยอาคาร 700 เคส

  • เผยยังเปิดสวนสาธารณะต่อตลอด 24 ชั่วโมง

  • เตรียมจัด ‘ดนตรีในสวน’ สร้างความผ่อนคลาย

Chadchart-Bangkok-on-2-missions-rescue-collapsed-buildings-inspect-700-buildings-SPACEBAR-Hero.jpg

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์และภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในวันนี้ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหววานนี้ (28 มี.ค. 2568) ว่า ภารกิจเร่งด่วนมี 2 เรื่อง คือ หนึ่งเรื่องการกู้ภัยอาคารถล่มที่เขตจตุจักร สั่งการเดินหน้าเต็มที่ ไม่มีการยกเลิกใด ๆ ทั้งสิ้น และมีการปรับยุทธวิธีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ คือ มีการนำเครื่องมือหนักเข้าไปเพื่อนำชั้นที่ถล่มลงออกมาเข้าไปหาคนที่รอดชีวิตอยู่ด้านใน 

ทั้งนี้ เมื่อคืนมีการใช้เครื่องมือของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในการสแกนพบสัญญาณชีพอยู่ 15 ราย

เดินหน้าเต็มที่ ห้ามหยุด ห้ามช้า เพื่อช่วยชีวิตคนให้ได้มากที่สุด

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ส่วนภารกิจที่ 2 คือ อาคารส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่ประชาชนอาจจะยังกังวล หน้าที่เราคือต้องสร้างความมั่นใจว่าอาคารมีความปลอดภัย ซึ่งจะมีการส่งวิศวกรอาสาที่มีอยู่ประมาณ 130 คน เข้าไปตรวจอาคารเหล่านี้ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ถ้าเป็นของอาคารภาครัฐ อาคารหน่วยงานราชการ ทางอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองจะเป็นผู้รับผิดชอบ ในการส่งเจ้าหน้าที่ไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี (อนุทิน ชาญวีรกูล) ส่วนอาคารเอกชน, กทม. กับวิศวกรอาสาจะเข้าไปดูแล

โดยใน Traffy fondue มีประชาชนแจ้งเรื่องรอยแตกร้าว ประมาณ 2,000 ราย  มีหน่วยวิศวกรนั่งตรวจสอบ ซึ่งมีอาคารประมาณ 700 แห่ง ที่ต้องลงไปดูละเอียดในวันนี้ เขตที่แจ้งเข้ามามากที่สุดจะเป็นแถวในชั้นในเนื่องจากมีตึกสูง ส่วนเขตรอบนอกแทบไม่มีเลย พร้อมคาดว่าสถานการณ์น่าจะค่อย ๆ คลี่คลายลง

สำหรับประชาชนที่ยังมีความกังวลกับการทำงานในตึกสูงวันจันทร์นี้ ต้องเร่งตรวจสอบให้มั่นใจว่าปลอดภัยแล้วค่อยเปิด ซึ่ง 2 วันนี้ เป็นช่วงเวลาที่จะต้องเร่งดำเนินการ จากนี้จะออกคำสั่งให้อาคารสูงขนาดใหญ่ซึ่งต้องมีผู้ตรวจสอบอาคารออกมาตรวจสอบอาคารอีกครั้ง แต่เชื่อว่าทุกคนต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก

2 วันนี้ จะมีการระดมสรรพกําลังลงไปตรวจสอบให้มากที่สุด โดยวิศวกรอาสาประมาณ 100 คน กับเคสที่มีการคัดกรองกว่า 700 เคสอาคาร ก็จะเดินหน้าตรวจโดยจัดลำดับความสำคัญ พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนตามหลักวิทยาศาสตร์และให้ตั้งสติ เพราะภาพตึกที่พังถล่มเป็นเพียงตึกเดียวและเป็นตึกที่มีการก่อสร้าง ซึ่งมีหลายปัจจัยให้มีการถล่ม

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

แต่ในข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี เพราะนอกจากนี้ อาคารทั้งหมดไม่มีการพังทลาย และกฎหมายควบคุมอาคารเราก็มีการกําหนดให้ออกแบบรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว

ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการจราจรขณะนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ย่านดินแดง ทั้งขาเข้า-ขาออก ซึ่งเป็นการจัดการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ต้องไปคุยกับทางผู้รับเหมาของอาคาร ก็ต้องขอเร่งรัดผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะ กทม. เราจัดการเองไม่ได้

ส่วนเรื่องรถไฟฟ้าใต้ดิน BTS เปิดให้บริการตามปกติเรียบร้อยแล้ว การจราจรน่าจะบรรเทาลงไปได้

สำหรับสวนสาธารณะที่เปิดให้เข้าใช้ได้ตลอดเมื่อคืน มีผู้ใช้บริการประมาณ 700 คน ซึ่งเป็นผู้ที่กังวลจากเหตุการณ์ต่าง ๆ โดย กทม. และภาคเอกชนได้ร่วมจัดน้ำและอาหารแจก นี่คือจุดแข็งของคนไทยเมือเกิดวิกฤติเราจะช่วยเหลือกัน โดยวันนี้ยังเปิดสวนต่อตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้คนที่ยังไม่สบายใจมาใช้บริการได้ โดย 2 วันนี้ จะจัดให้มีดนตรีในสวนเพิ่มเติมให้ประชาชนที่อยากอยู่ในที่โล่ง มีความสบายใจและผ่อนคลายจิตใจมากยิ่งขึ้น รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ต้องบอกว่า สถานการณ์ทั่วไปเริ่มคลี่คลายขึ้นแล้ว เป็นหน้าที่ของเราพยายามนำความเชื่อมั่นกลับมา ต้องยืนยันว่า เมื่อวานแผ่นดินไหวรุนแรงมาก ในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมา แต่ว่าอาคารที่พังทลายมีอยู่แค่ 1 อาคาร และเป็นอาคารที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ อาคารที่เหลือ 100% ไม่มีการพังทลาย ขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนก สถานการณ์จะค่อย ๆ คลี่คลาย อาฟเตอร์ช็อกมีจำนวนน้อยและเบาลง สภาพการจราจรเช้านี้ก็ยังดีอยู่ คนเริ่มปรับการเรื่องเดินทางและเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย ขณะนี้จุดกังวลอย่างเดียวคือ เร่งเปิดทางด่วน โดยพยายามประสานกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้เสร็จสิ้นทันวันจันทร์ที่จะถึงแน่นอน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์