เจอ ‘หมุด ส.ป.ก.’ อีก! ‘ชัยวัฒน์’ นําทีมลุยสอบ ส.ป.ก.รุกที่เขาใหญ่

1 มี.ค. 2567 - 09:30

  • ‘ขัยวัฒน์’ นําทีมลุยต่อ! ลงตรวจสอบ ส.ป.ก.รุกเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

  • พบหมุด 4 จุด ออกทับลำน้ำ-ถมหินสร้างเขื่อนเชื่อมโยงรีสอร์ทในพื้นที่

  • ยันไม่ต้องการเอาชนะใคร แค่ต้องการความถูกต้องเท่านั้น

Chaiwat-leads-the-team-to-investigate-case-of-encroachment-on-Khao-Yai-area-SPACEBAR-Hero.jpg

เรียกได้ว่า เดินหน้าอย่างเข้มข้นสำหรับการตรวจสอบปมที่ดิน ส.ป.ก.รุกลํ้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

โดยวันนี้ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วย ชีวะภาพ ชีวะธรรม ห้วหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) ตลอดจนเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อีกครั้ง

เพื่อตรวจสอบให้เห็นว่า พื้นที่ที่เกิดข้อพิพาทอยู่ตอนนี้ ทาง ส.ป.ก.มีการบุกรุกเข้ามาในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จริงหรือไม่ และเพื่อให้สังคมได้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีการไปจับมือกับนายทุนเพื่อออกที่ดิน ส.ป.ก. จํานวน 8 แปลง รวม 29 ไร่

ก่อนหน้านี้ ก็มีโทรศัพท์ติดต่อมาหาผม บอกจะมีการจบเรื่องด้วยการคืนพื้นที่ให้ทั้งหมด รวมถึงพื้นที่ที่ซ้อนทับก็จะจบแบบไม่มีปัญหา แต่พอมีการออกมาแถลงว่า กรมแผนที่ทหารยืนยันแล้วว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นของ ส.ป.ก. ผมจึงขอยืนยันว่า จะไม่ยอมอย่างแน่นอน และต้องได้ที่คืนทั้งหมด

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

ชัยวัฒน์ ได้นําทีมเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาท พร้อมเดินตรวจสอบจุดที่มีการปักหมุดของ ส.ป.ก. รวม 4 หมุด โดยพบว่า เป็นการปักหมุดข้ามเส้นทางของแม่นํ้าลําตะคอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทําได้ อีกทั้งยังพบว่า มีการใช้เครื่องจักรในการขุดแนวดิน และนําหินมาทิ้งในแม่นํ้า เพื่อกั้นเป็นแนวเขื่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่พบเส้นทางที่เชื่อมต่อกับโรงแรม หรือรีสอร์ทในพื้นที่ดังกล่าว จึงตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการใช้ประโยชน์ด้านธุรกิจ รวมถึงมีการพ่นสีสเปรย์ เป็นลูกศรสีแดง คาดว่าเป็นสัญลักษณ์ในการชี้บอกจุดปักหมุด

ด้าน ชีวะภาพ ห้วหน้าผู้ตรวจราชการ ทส. เน้นย้ำว่า พื้นที่ ส.ป.ก. มีไว้เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย การจะออกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องออกให้เกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้จริงๆ ซึ่งมีเงื่อนไขคือ ที่ดินนั้นต้องเป็นพื้นที่ป่ารกร้าง ไม่สุ่มเสี่ยง หรือเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และต้องมีความลาดชันไม่เกิน 45 องศา ซึ่งจุดที่ตรวจสอบ มองด้วยตาเปล่าก็รู้ว่า เป็นภูเขาที่ไม่สามารถทําการเกษตรได้

หมุดทั้งหมดที่เจอนั้น เบื้องต้น เจ้าหน้าที่จะเก็บรวบรวมเป็นพยานหลักฐาน เพราะถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการยึดถือและครอบครองพื้นที่ป่า เพราะเชื่อว่าเป็นการกระทําที่ไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย โดยยืนยันว่าการลงพื้นที่ในวันนี้ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่เท่านั้น

ชีวะภาพ ชีวะธรรม

ชัยวัฒน์ ยังระบุถึงกรณีผู้ใหญ่บ้านและลูกเขย ซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาท ถูกต่อว่าเรื่องที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบในวันนี้ พร้อมชี้แจงว่า ทั้งคู่ไม่ใช่คนร้องเรียน แต่เจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลมาจากคนภายในของ ส.ป.ก.นครราชสีมา ในเรื่องการออกแปลงที่ดินโดยมิชอบ

ผมมาปฏิบัติตามหน้าที่ และยืนยันว่าไม่ต้องการเอาชนะใคร ต้องการแค่ความถูกต้องเท่านั้น

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

Chaiwat-leads-the-team-to-investigate-case-of-encroachment-on-Khao-Yai-area-SPACEBAR-Photo01.jpg

‘กรมอุทยานฯ’ ออกแถลงการณ์เคลียร์ปมพิพาทแผนที่แนวเขต ‘เขาใหญ่’

อีกด้าน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกแถลงการณ์เรื่อง “การจัดทำแผนที่แสดงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ” เนื้อหาระบุว่า 

การกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 หรือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2505 (เดิม) โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและมีแผนที่แสดงแนวเขตแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2505 มีแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายฯ มาตราส่วน 1 : 250,000 ที่ได้มีการสำรวจรังวัดแนวเขต มาตั้งแต่ปี 2502 และได้นำผลการสำรวจรังวัดมาประกอบกับสภาพข้อเท็จจริง แล้วจึงขึ้นรูปเป็นแผนที่ในมาตราส่วนที่เหมาะสมจัดทำเป็นแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา

ต่อมากรมอุทยานฯ ได้ถ่ายทอดเส้นแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ลงบนแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1 : 50,000 ของกรมแผนที่ทหาร ในระบบเชิงเลข (Digital Map) และจัดแนวเขตอุทยานแห่งชาติในรูปแบบดิจิตอล (Shape files) เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน แก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ปัญหาข้อพิพาทที่ดินและพื้นที่ทับซ้อนต่างๆ โดยการจัดทำแนวเขตดังกล่าว เป็นไปตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมาตรฐานระวางแผนที่และแผนที่รูปแปลงที่ดินในที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2550 รวมทั้งได้มีการถ่ายทอดแนวเขตอุทยานแห่งชาติตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาลงในแผนที่มาตราส่วน 1 : 4,000 และแผนที่ระวาง มาตราส่วน 1 : 50,000 ตามที่ระเบียบกำหนดครบทุกแห่งแล้ว

โดยแผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ที่ได้จัดทำขึ้น ได้ส่งให้คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One Map) เป็นแผนที่รัฐ ในการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) ซึ่งในคราวประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2565 ที่ประชุมมติเห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิสระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ และเลย ตามที่กรมอุทยานฯ เสนอ

แต่เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (ส.ป.ก.) ได้รับเรื่องร้องเรียนแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทับซ้อนกับที่เอกชน (เป็นกรณีบริษัท ภูพบฟ้า จำกัด ไม่เกี่ยวกับข้องกับกรณีแปลง ส.ป.ก.) ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ฯ (One Map) กลุ่มที่ 3 ยกเว้นกรณีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมาและปราจีนบุรี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการ

กรณีปัญหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณที่มีการออกเอกสาร ส.ป.ก. ในท้องที่บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ไม่สอดคล้องตรงกันกับแนวเขตของกรมแผนที่ทหาร เห็นควรให้คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พิจารณาตามหลักเกณฑ์การพิจารณา One Map ให้ได้ข้อยุติและถูกต้องตามข้อเท็จจริงต่อไป

View post on Facebook

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์