‘ยิ่งชีพ’ iLaw อ่านปรากฏการณ์ ‘ยกเลิกแปรอักษร’

21 พฤศจิกายน 2566 - 02:20

Chaturamit-Football-Drama-card-stunt-SPACEBAR-Hero.jpg
  • SPACEBAR ชวน ‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ ผู้จัดการ iLaw ในฐานะ ‘ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย’ รุ่น 122 สังเคราะห์ประเด็น ‘ยกเลิกแปรอักษร’ จากความทรงจำบนอัฒจันทร์ ‘จตุรมิตร’ ในวันวาน

แม้ในเชิงพิธีการ กิจกรรมแข่งขันฟุตบอลประเพณี 4 โรงเรียนชายล้วน  ‘จตุรมิตรสามัคคี ประจำปี 2566’ จะจบสิ้นไปอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ยังมีประเด็นส่งท้าย เป็นควันหลงอบอวลอยู่ในสังคมต่อเนื่อง จากกระแส ‘ยกเลิกบังคับแปรอักษร’ ซึ่งกลายเป็นข้อถกเถียง ชนิดยอมความกันไม่ได้ ดูวุ่นวายพอๆ กับเกมฟุตบอล ที่หลายครั้ง ‘ผู้เล่น’ และ ‘โค้ชนอกสนาม’ เกิดวิวาทะเรื่องแท็กติกเกมรุก - รับ  

เพื่อประชันแนวคิดอย่างทัดเทียม SPACEBAR จึงชวน ‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ ผู้จัดการ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) ในฐานะ 'ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย' รุ่น 122 มาสังเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในแง่มุมของ ‘รุ่นพี่’ และ 'นักสิทธิมนุษยชน' เพื่อเปิดผนึกความคิด สู่หนทางขจัดปัญหาที่เกิดขึ้น โดยตั้งต้นจากเรื่องราววันวานในวัยขาสั้น

Chaturamit-Football-Drama-card-stunt-SPACEBAR-Photo07.jpg

ตอนเรียนสวนกุหลาบฯ คุณเคยร่วมแปรอักษรไหม

ผมเป็นเด็ก ส.ก. ทำไมจะไม่เคยละครับ (หัวเราะ) ผมเข้าเรียน ม.1 เมื่อปี 2541 และเริ่มขึ้นสแตนด์จริงๆ ช่วง ม.2 จำได้คร่าวๆ ว่ากระบวนการมันไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก เริ่มจากหาคนเข้าร่วมกิจกรรม และซ้อมกันต่อเนื่อง จนกระทั่งวันแข่งจริง 

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า คุณเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างไร แล้วมีกระบวนการในการคัดเลือกแบบไหน

พอขึ้น ม.2 ก็จะมีรุ่นพี่คอยประชาสัมพันธ์เรื่องแปรอักษรให้เราได้ยินตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะพูดเชิญชวนตอนเข้าแถวหน้าเสาธง หรือสอดแทรกแฝงอยู่ตามกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในรั้วโรงเรียน 

ส่วนการที่นักเรียนจะเข้าร่วมหรือไม่ ต้องวิเคราะห์กันถึงเรื่องช่วงวัย อย่างผมอายุประมาณ 13 - 14 ปี ตอนนั้นเรายังไม่ใช่เด็กโตพอ ที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองได้ทุกเรื่อง ดังนั้นเมื่อมีการป่าวประกาศชักชวน ก็ทำๆ ไป จนเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการไปแบบไม่รู้ตัว  

จะเรียกว่า ‘บังคับ’ ก็ไม่ถูก มันเหมือน ‘แกมบังคับ’ มากกว่า แต่ส่วนตัวไม่ได้มองว่า ระบบการคัดเลือกไม่ดี และผมกลับมองว่ามันโอเคด้วยซ้ำ สำหรับเด็กที่ยังไม่โต เพราะมันทำให้เรามาโรงเรียนแล้วมีอะไรทำ นอกจากนั่งท่องตำรา 

มองอีกมุมอาจเป็นการส่งเสริมให้เข้าสู่กระบวนการทางสังคมอย่างหนึ่ง ผ่านการหว่านล้อม และชักชวนให้เห็นคุณค่าเรื่องความเก่าแก่ ทุกอย่างทำไปเพื่อให้รุ่นน้องอยากร่วมกิจกรรม ซึ่งบางคนอาจมองต่างว่า เป็นขั้นตอนการล้างสมองก็ได้ไม่ผิด  

ซ้อมสแตนด์แปรอักษรหนักแบบที่เขาว่าไหม

เรามักใช้ช่วงก่อนเรียนหรือหลังเลิกเรียนทำกิจกรรม เวลาก็ประมาณ 2 คาบ ถามว่าหนักไหม จำได้คร่าวๆ ว่าเคยซ้อมกันกลางแจ้ง ตากแดดอยู่ประมาณ 2 - 3 ครั้ง มีรุ่นพี่ (ลักษณะพี่ว๊าก) คอยกระตุ้นด้วยวาจาปลุกพลัง ให้รุ่นน้องสามารถทนทานกับสภาพอากาศร้อนอยู่ตลอด แต่ก็มีการทำกิจกรรมในหอประชุมด้วยเหมือนกัน ซึ่งนักเรียนก็จะเฮฮาเป็นพิเศษ ไม่ตึงเครียดแบบอยู่กลางแจ้ง เพราะไม่ต้องทนร้อน 

มีการ ‘โดดซ้อม’ ของนักเรียนที่ไม่สมัครใจร่วมกิจกรรมแต่แรก บ้างหรือเปล่า

มันเป็นเรื่องธรรมดามาก สำหรับกิจกรรมลักษณะนี้ มีทั้งคนโดด และคนซ้อม คนที่อยู่ประจำบ้างก็อยู่ เพราะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำกิจกรรมของสถาบัน ขณะที่คนอื่นไม่ทำ 

แต่ใครจะโดด ก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีใครไปตาม หรือคอยเดินหักคะแนน จะมีก็แค่รุ่นพี่ที่มักกระตุ้นกับน้องๆ ที่เข้าร่วม ให้ชวนเพื่อนมาเพราะกลัวคนขาด กรณีสแตนด์เชียร์ดูโล่ง ไม่เต็มอัตราก็เท่านั้น 

แต่สุดท้ายใกล้ถึงเวลาแข่งจริง มันก็มีคนโดดหายตัวไปอยู่ดี เก้าอี้มันก็ว่าง จนรุ่นพี่ต้องอาสาเข้ามานั่งแปรอักษรแทน (หัวเราะ)

Chaturamit-Football-Drama-card-stunt-SPACEBAR-Photo01.jpg

เห็นว่าคุณก็เป็นตัวแทนนักเรียนในการแปรอักษรถึง 2 ครั้ง ?

ใช่ครับก่อนจบ ม.6 คนขาด ผมเลยอาสาขึ้นสแตนด์อีกรอบ จริงๆ สำหรับวัยรุ่นก่อนเข้ามหาวิทยาลัย มันก็ดีนะที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ซึ่งหากเราลองวิเคราะห์ดู เด็กอายุประมาณ 16 - 17 ปี หากไม่มีกิจกรรมอะไรนอกจากการเรียน ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไร ในช่วงเวลาที่คนอื่นเตรียมงานจตุรมิตร

คือจะบอกว่าเด็กผู้ชายอายุเท่านั้น การรวมกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเป็นวัยที่ต้องการใช้แรงกาย - พลังเสียงด้วยแล้ว การตะโกนหรือการซ้อมเชียร์ ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ตอบโจทย์มาก 

คุณลองนึกภาพ เด็กชายเหล่านี้ได้ตะโกนแหกปากเชียร์ หรือได้ทำสิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกน้องๆ ทั้ง ตีเส้นสแตนด์ ยกของ ยกเพรท มันตอบสนองพละกำลังที่เขาต้องการใช้ทั้งหมด 

กลับกันหากเด็ก ม.ปลายคนไหนไม่มีงาน หรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมจตุรมิตร พวกเขาจะทำอะไร ที่จะตอบสนองความต้องการส่วนนี้ได้ ผมว่ามันเป็นพื้นที่ให้เขาได้ปลดปล่อยตัวเองดีที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งดีกว่าไปทำสิ่งนอกลู่นอกทาง อย่างการรวมตัวทำสิ่งไม่ดี ไม่ว่าจะ ขับรถซิ่ง หรือยกพวกตีกัน แบบวัยรุ่นเลือดร้อนที่เป็นข่าวบ่อยๆ

คุณจะบอกว่านี่คือข้อดีของการร่วมกิจกรรม แบบ ‘แกมบังคับ’ ใช่ไหม

อย่างที่ผมบอกมันเป็นกิจกรรมที่ดี เพราะทำให้เด็กวัยรุ่นได้ใช้กำลังในแบบที่ถูกต้อง  และข้อดีในแบบแกมบังคับที่ว่า มันไม่ได้บังคับแบบชี้นิ้วสั่ง แต่เป็นการบังคับทางสังคม เพื่อนไปกันหมดเราจะอยากอยู่คนเดียวหรือ ? 

อีกอย่างมันทำให้เด็ก ในช่วงวัยที่ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเอง ได้ลองทำก่อน ถึงเวลาเขาจะชอบไม่ชอบ ม.ปลายก็เลือกเองได้ จะไปทำอย่างอื่นก็ไม่มีใครว่า  

ขอกลับไปที่ประเด็นช่วงแรกๆ ที่บอกว่าเด็กโดดซ้อมเยอะ แล้วมีบ้างไหมที่ออกมาต่อต้านการแปรอักษรแบบทุกวันนี้ ?

ต่อต้านนะหรือ มันมีอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา (ซึ่งตอนนั้นผมก็เฉยๆ มาก ไม่ได้มองว่าแย่) แต่ไม่ได้เกิดปรากฏการณ์แบบทุกวันนี้ 

ปรากฏการณ์ที่ว่าแตกต่างมันคืออะไร

จริงๆ จะว่าต่างมากก็มาก จะน้อยก็น้อย เพราะมันเป็นทุกๆ สมัย อย่างตอนผมเรียน บางคนก็เลือกที่คัดค้านไม่ร่วมกิจกรรม เหตุผลตอนนั้นมันง่ายๆ คือขี้เกียจ ไม่อยากตากแดด ไม่อยากซ้อมเชียร์ 

ขณะเดียวกันบางคนเลือกที่จะร่วม เพราะอยากทำกิจกรรมจริงๆ แต่ก็มีบางคนเลือกเข้ามาแปรอักษร เพราะไม่อยากดูแตกต่างจากเพื่อนๆ มันก็มีมาตลอด แต่ในรุ่นผม ต่อให้ไม่ไปแปรอักษร ก็ไม่ถูกแบนจากพี่น้องหรือเพื่อนฝูงขนาดนั้น จริงๆ เท่าที่สัมผัสไม่มีกรณีนี้เกิดขึ้นเลย

แต่ปรากฏการณ์ที่แตกต่างชัดเจนมันมีอยู่ 2 ประเด็น 1) เรื่องสิทธิเสรีภาพเริ่มเข้าสู่นักเรียนมากขึ้น กลุ่มผู้ที่ออกมาคัดค้าน จึงมีทั้งเด็กเนิร์ดหรือนักเรียนสายวิชาการ ส่วนกลุ่มเด็กขี้เกียจก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม 2) มีเสียงสะท้อนจากวงนอกของนักวิชาการเข้ามา ต่างจากยุคผมที่แทบไม่มี และส่วนใหญ่ถ้าจะมีก็แค่นักเรียน ที่ไม่อยากซ้อมออกโรงคัดค้านเองเท่านั้น

แต่อย่าถามนะว่าใครคือผู้ติดแผ่นป้ายให้ยกเลิกไปเลย เพราะเรื่องนี้ผมไม่ทราบจริงๆ

Chaturamit-Football-Drama-card-stunt-SPACEBAR-Photo04.jpg

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้บรรยากาศจตุรมิตรวันนี้ ดูวุ่นวายในสายตาคุณหรือเปล่า หรือวันนี้คุณมองภาพกิจกรรมเปลี่ยนไปแล้ว ?

ผมยังมองว่าเป็นธรรมดา สำหรับการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ทุกอย่างไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ไหลตามสายธารที่เปลี่ยนไป ทุกวันนี้ผมก็ยังแฮปปี้กับการมีจตุรมิตร และการคงอยู่ของกิจกรรมแปรอักษร แต่ผมก็เข้าใจโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า วิธีการคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน มันเริ่มแพร่หลายถึงวัยรุ่นมากกว่าอดีต  

ฉะนั้น กระบวนการในการบังคับเด็ก ม.2 ทำกิจกรรม อาจต้องปรับกันบ้าง แต่มันคงไม่ถึงกับต้องยกเลิกไปเลย ปรับง่ายๆ อย่างการประกาศหน้าแถวตอนเช้า อาจเพิ่มประโยคใดๆ เข้าไป เพื่อสื่อสารให้นักเรียนรุ่นน้องเข้าใจมากขึ้น ว่าไม่ได้บังคับ แต่อยากให้มาร่วมกิจกรรมของโรงเรียน เพิ่มมาสักประโยคหนึ่งให้ไม่ดูบังคับ ผมว่ามันก็ลดความตึงเครียดได้แล้ว 

ส่วนเรื่องการบังคับ ในลักษณะต้องเข้าไม่งั้นไม่ได้คะแนน - เพื่อนไม่คบ ประเด็นนี้ผมไม่เคยเห็นตอนเป็นนักเรียนอยู่ แต่ ณ วันนี้หากโรงเรียนไหนมีการบังคับเกณฑ์ หรือทำแบบสุดโต่งในเรื่องที่ไม่คำนึงถึงสิทธิ ผมก็ไม่เห็นด้วยครับ 

หรือจริงๆ แล้วการแสดงทัศนะให้ยกเลิกที่มาจากกลุ่มนักเรียนเลว หรือพรรคก้าวไกล อาจเป็นมุมคนนอกที่ไม่เข้าใจระบบบางอย่างของสถาบันการศึกษา ?

ผมไม่ทราบ และไม่รู้ว่าเขาเข้าใจแค่ไหน แต่ไม่เป็นไร เรื่องแบบนี้มันวิจารณ์ได้ และผมในฐานะศิษย์เก่าก็โอเค ในการที่จะถูกตั้งคำถามแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะจตุรมิตรจริงๆ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่แล้ว

อย่างเรื่องเด็กแปรอักษร สำหรับผมอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ ผมพูดในฐานะศิษย์เก่าและนักสิทธิมนุษยชน อยากให้แต่ละฝ่ายหันหน้าพูดคุยกันด้วยข้อมูล ผู้ที่อยากให้ยกเลิกก็ชี้แจงมารายละเอียดว่ามีอะไรบ้าง ส่วนโรงเรียนก็ต้องสามารถอธิบายได้ว่า อะไรคือกระบวนการในการนำเด็กขึ้นสแตนด์ คุณบังคับหรือเปล่า หรือมีการเกณฑ์เด็กจริงหรือไม่ หากมีการสำรวจแล้วพบ ว่ากระทบกับร่างกายหรือจิตใจเด็กจริง ก็ต้องแก้ไขกันไป 

เพราะสุดท้ายทุกปีมันมีเด็กเป็นลมจริงๆ บางคนผิวไหม้ บางคนไม่สบาย คุณต้องยอมรับว่ามีจริงๆ มันไม่ได้ผิดอะไรเลย แค่หาวิธีแก้ไขกันต่อไป เพื่อให้ปัญหาต่างๆ ลดลง จนหายไปในที่สุด  

ความเปลี่ยนผ่านที่ว่า มันชัดเจนและต่างจากรุ่นผมมากๆ อย่างเรื่องไม่สบายนี่ สมัยนั้นเราพูดกันเป็นเรื่องขำขัน พอใครเป็นอะไรมันก็ฮากัน แซวกัน ไอ้เหี้ยมึงเป็นลมเหรอวะ แล้วรุ่นพี่ก็หามลงไปต่อหน้าเรา (หัวเราะ) ถึงเวลาเขาก็เอาตัวสำรองขึ้นมานั่งแทน 

จึงแสดงให้เห็นว่า เด็กอายุ 13 ปี เมื่อ 20 กว่าปีก่อน มันไม่ได้คิดอะไรมากกว่านี้จริงๆ

Chaturamit-Football-Drama-card-stunt-SPACEBAR-Photo03.jpg

แล้วเรื่องที่ว่า ‘ใหญ่กว่า’ การยกเลิกแปรอักษร คือเรื่องอะไรครับ

อย่างที่ทุกคนรู้ มันคือ ประเด็นศักดิ์ศรี และคอนเน็คชันที่พ่วงจากสายเลือดสถาบัน ผมว่าอันนี้น่าจะร้ายแรงกว่า ประเด็นพิพาทเรื่องยกเลิกแปรอักษรเยอะ 

ท้ายที่สุด เมื่อวันเวลาของ ‘เด็กชายยิ่งชีพ’ ผ่านพ้นไปเกินกว่า 20 ปีแล้ว มีอะไรอยากบอกกับน้องๆ เพื่อเล่าสู่กันฟังบ้าง

อย่างที่บอก ข้อดีทั้งหมดที่ผมพูดมันก็ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ งานบอลประเพณีมีความจำเป็นต่อเด็กในโรงเรียนจตุรมิตร แต่หากวันหนึ่งมันต้องดับแสงด้วยสายธารแห่งความเปลี่ยนแปลง ในทางใดทางหนึ่ง ผู้ใหญ่ต้องหาแนวทางรองรับให้เด็กมีกิจกรรม ที่เขาสามารถใช้พละกำลัง และสติปัญญาได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับตัวนักเรียนและสังคม  

อีกอย่างที่อยากสะท้อนอีกครั้ง คือชีวิตหลังเรียนจบ ตามธรรมชาติ (โดยเฉพาะสวนกุหลาบฯ) นักเรียนครึ่งหนึ่งจะใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองเลือก 

แต่อีกครึ่งจะกลายเป็นผู้ยึดติดกับตัวสถาบันมากเกินไป ในลักษณะไม่ปล่อยวาง ยังคิดเสมอ ว่าฉันยังเป็นเด็กโรงเรียนนี้อยู่ ฉันต้องทำเพื่อโรงเรียนนี้ต่อไป 

ตรงนี้มันมีทั้งด้านดีและด้านเสีย ซึ่งล้วนส่งผลไปถึงสังคมการทำงานองค์กรต่างๆ ในอนาคต บางคนถึงกับตั้งนิยามว่า เป็นลักษณะอุปถัมภ์ค้ำจุน 

ผมว่าหากช่วยในเรื่องที่ถูกต้องก็ไม่เสียหาย แต่หากขัดต่อความถูกต้องในบางประเด็น เรื่องนี้คงต้องหยิบมาทบทวนกันใหม่ ขอย้ำอีกรอบว่า สิ่งนี้มันสำคัญมากจริงๆ 

ขอบคุณครับ

Chaturamit-Football-Drama-card-stunt-SPACEBAR-Photo02.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์