หลังกรมทางหลวงชนบท เดินหน้า โครงการ สำรวจออกแบบถนนสายแยก ทล.1001 – ทล.1006 หรือถนนวงแหวนรอบ 4 ตอนบน จังหวัดเชียงใหม่
ล่าสุด สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท ร่วมกับแขวงทางหลวงชนบทเชียงใหม่ ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อในวันอังคารที่ 4 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อให้ ประชาชน รับทราบข้อมูลและ รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียในเพื่อให้มีความสมบูรณ์ และนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


ศิวกร บัวป้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ด้วยการเติบโตอย่างต่อเนื่องทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ส่งผลให้เขตชุมชนเมืองที่เป็นย่านการค้าและที่พักอาศัย เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น นำมาสู่ปัญหาการจราจรติดขัดหลายแห่ง
“สาเหตุหลักเกิดจากเส้นทางคมนาคมขนส่งที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวก และความล่าช้าในการเดินทางเกิดปัญหาการจราจรติดขัดและคับคั่งในช่วงเวลาเร่งด่วน ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทาง การขนส่งสินค้า รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน กรมทางหลวงชนบท จึงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการสำรวจออกแบบถนนสายแยก ทล.1001 - ทล.1006 จังหวัดเชียงใหม่ ถนนวงแหวนเชียงใหม่รอบ 4 ตอนบน เพื่อเป็นแนวเส้นทางใหม่ ในการช่วยบรรเทาการจราจรบริเวณเมืองเชียงใหม่และพื้นที่โดยรอบ”
“นอกจากนี้ยังต้องใช้ถนนวงแหวนรอบ 4 เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต การส่งเสริมการท่องเที่ยว และด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งภายใน 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า จะต้องรองรับการจราจรที่เติบโตในอนาคตได้”



สำหรับโครงการถนนวงแหวนรอบ 4 ตอนบน มีจุดเริ่มต้น ที่ อำเภอแม่ริม ผ่านอำเภอสันทราย และ จบที่ อำเภอดอยสะเก็ด ส่วนโครงการถนนวงแหวนรอบ 4 ตอนล่าง เริ่มต้นที่ อำเภอหางดง ผ่านอำเภอสารภี และ จบที่อำเภอสันกำแพง เชื่อมกับ ตอนบนที่อำเภอดอยสะเก็ด รวมระยะทาง 50 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณ 5000 ล้านบาท ล่าสุดยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน



ผศ.ปรีดา พิชยาพันธ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า สภาพการจราจรของจังหวัดเชียงใหม่จะมีรถวิ่งเข้า- ออก จากอำเภอรอบนอกเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ผ่านถนนสายหลัก และมีถนนวงแหวนทั้งหมด 3 รอบ ส่วนจุดตัดระหว่างถนนวงแหวนเข้าถนนสายหลัก ปัจจุบันควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจร และมีการปรับปรุงทางแยก สร้างทางต่างระดับบางส่วนแล้ว แต่ในชั่วโมงเร่งด่วนก็ยังคงมีการจราจรติดขัดในช่วงทางแยกที่เป็นสัญญาณไฟจราจรอยู่
โดยปัจจุบันปริมาณรถยนต์ส่วนตัวก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในชั่วโมงเร่งด่วนที่ปริมาณรถเยอะก็จะเกินความสามารถของทางแยก จึงทำให้การจราจรติดขัด เราก็จะเห็นปัญหารถติดของจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะติดบริเวณทางแยก
“จริงๆ เราจะเห็นว่าจังหวัดเชียงใหม่มีถนนวงแหวน ทั้งหมด 3 รอบ ก็จะเป็นการบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด ในเส้นทางที่อ้อมเมืองไม่ใช่เส้นทางที่เข้าเมืองโดยตรง แต่รัศมีของวงแหวน จะช่วยแบ่งเบารถที่แออัดในเส้นทางหลักได้ ส่วนถนนวงแหวนรอบ 4 ของกรมทางหลวงชนบท เราจะเห็นว่า จะเป็นการลดปริมาณ รถยนต์ เข้า อำเภอโดยรอบก่อน เช่นอำเภอแม่ริม ย่านเทศบาลเมืองแม่โจ้ จะเลี่ยงปริมาณรถออกก็อาจจะช่วยได้”
“แต่ในอนาคต ปริมาณรถยนต์ที่อยู่อำเภอโดยรอบก็จะยังเพิ่มขึ้น ถ้าหากเรายังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ หรือระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ สถานการณ์การจราจรติดขัดก็จะลามไปถึงอำเภอโดยรอบด้วย ซึ่งขนส่งสาธารณะ ระบบขนส่งมวลชน จะช่วยแนวทางการเคลื่อนที่ของรถยนต์เข้า-ออก เมืองได้ดีกว่าการขยาย หรือ สร้างถนนเพิ่ม”

ด้านเพ็ญวลี ทองเหลือ ชาวบ้าน ตำบลตลาดขวัญ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในพื้นที่ที่จะมีถนนวงแหวนรอบ 4 ตัดผ่าน มองว่า แม้จะมีความเจริญเข้ามาในพื้นที่ เนื่องจากมีการขยายถนน ทำให้การจราจรนั้นมีความสะดวกสบายขึ้น แต่มองอีกด้านหนึ่ง ก็กังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงเวลาการก่อสร้าง ที่จะต้องใช้เวลานาน และถนนวงแหวนรอบ 4 อาจจะเป็นถนนเส้นใหญ่ ที่ทำให้รถผ่านอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดเสียงดัง รบกวนคนในพื้นที่
“จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มีการวางแผนอย่างรอบคอบ เช่นแผนผังด้านผังเมือง จะต้องมีแผนการระบายน้ำที่ดีในอนาคตเพราะที่ผ่านมา สาเหตุจากการเกิดน้ำท่วมก็มาจากถนนสายหลักที่น้ำไม่สามารถผ่านไปได้ ก็มีให้เห็น”
“นอกจากนี้ ในเรื่องของการเวนคืนที่ดิน ที่จะสร้างถนน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรง มีความจริงใจและซื่อสัตย์ต่อชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมา เราจะเห็นข่าวเจ้าหน้าที่ทางหลวงแห่งหนึ่ง มีการทุจริต โดยการเรียกรับเงินค่าเวนคืนที่ดินจากชาวบ้านในอำเภอเชียงดาว ซึ่งถือว่าเป็นข่าวโด่งดัง ก็สร้างความกังวลให้กับชาวบ้านไม่น้อย”

