หมอก ควัน ไฟป่า ปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2568 นี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้ออกประกาศงดการเผาอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 พร้อมทั้งมีมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดการเผาที่ไม่จำเป็น ซึ่งได้รณรงค์ผลักดันไม่เผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ตอซังข้าว ฟางข้าว ต้นข้าวโพด โดยหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อทำลายเศษวัสดุทางการเกษตรเหล่านี้ ให้ชาวบ้านไม่ต้องใช้วิธีเผาเช่นที่เคยทำมา
จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหานี้ โดยร่วมกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมรับซื้อใบไม้แห้ง ‘แลกใบไม้เป็นเงิน’ เป็นการรับซื้อเศษใบไม้จากคนในชุมชนในราคากิโลกรัมละ 1 บาท เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก พร้อมทั้งต่อยอดให้ความรู้กับคนในชุมชนได้เรียนรู้วิธีการทำปุ๋ยหมัก เพื่อเสริมสร้างรายได้ ทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการเพาะปลูกพืชผักอีกด้วย
ทีมข่าว Spacebar Big City ลงพื้นที่สถานที่รับซื้อใบไม้แห้งภายในบ้านหนองปลามัน หมู่ที่ 2 ต.ห้วยทราย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พบว่ามีชาวบ้านที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุนำใบไม้แห้งใส่กระสอบมาขายให้กับผู้รับซื้อกันอย่างคึกคัก บ้างก็ใส่รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง บ้างก็เดินเท้าเข็นรถเข็นที่มีใบไม้แห้งอยู่เต็มคันรถมาต่อคิวชั่งน้ำหนักขาย ได้เงินตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อยบาท


จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่นำใบไม้แห้งมาขาย บอกว่า “แม้เงินที่ได้มาจะไม่ได้มากอะไร แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยกันสร้างอากาศสะอาด” หากถามว่าเหนื่อยไหมการเก็บใบไม้มาขาย เพราะกว่าจะได้แต่ละบาทนั้นต้องเก็บจำนวนมาก ก็ไม่ได้เหนื่อยอะไร เป็นการทำความสะอาดพื้นที่ของแต่ละคน และยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย



รัฐธีร์ ศิริกุลวิธิษณ์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองปลามัน หมู่ที่ 2 ต.ห้วยทราย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บอกว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากทางภาคเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ชาวบ้านให้ความสนใจกันทั้งหมู่บ้าน โดยในปี 2568 นี้ เป็น ปีที่ 2 ของโครงการแล้ว ปีที่ผ่านมามีคนสามารถทำเงินจากการขายใบไม้แห้งสูงสุดอยู่ที่ 4,517 บาท หรือคิดเป็นน้ำหนักใบไม้แห้งมากกว่า 4,500 กิโลกรัม
ผู้ใหญ่รัฐธีร์ กล่าวว่า ภายในหมู่บ้านมี 513 ครัวเรือน ทุกคนให้ความร่วมมือในการไม่เผาเป็นอย่างดี ส่วนสำคัญมาจากการมีโครงการรับซื้อใบไม้แห้งเข้ามา ปีที่ผ่านหมู่บ้านของตนเองมีสถิติไม่เผา 100% ตลอดช่วงประกาศห้ามเผา หรือ ช่วงฤดูฝุ่น และปีนี้ก็ตั้งเป้าที่จะรักษามาตรฐานนี้ไว้ให้ได้
สำหรับใบไม้แห้งส่วนใหญ่ที่นำมาขายจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่ 1 คือใบไม้ในบริเวณบ้านหรือไร่สวนของชาวบ้าน ส่วนที่ 2 เป็นใบไม้จากพื้นที่เขตป่าชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นใบไม้แห้งจากต้นใบตองตึง หรือต้นพลวง
“หากย้อนไปก่อนหน้านี้ชาวบ้านประสบปัญหาไม่มีที่ทิ้งใบไม้แห้ง เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และยังเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับเขตป่าชุมชน จึงเล็งเห็นว่าการเผาส่งผลกระทบทางสุขภาพ เสี่ยงเกิดไฟป่า จึงได้เข้าไปพูดคุยกับบริษัทเอกชนจนทำให้เกิดโครงการการนี้ขึ้นมา และอยากเห็นชุมชนอื่นๆ มีภาคเอกชนเข้ามาทำกิจกรรมในลักษณะนี้เพิ่มขึ้น”
รัฐธีร์ ศิริกุลวิธิษณ์

ธัญยธรณ์ ศิริกุลวิธิษณ์ หนึ่งในคณะกรรมการหมู่บ้าน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านร่วมมือร่วมใจกันไม่เผา 100% มาจากความต้องการที่จะมีอากาศสะอาดภายในชุมชน และลดอันตรายจากไฟ รวมถึงได้มีพื้นที่ในการจัดเก็บ และทำประโยชน์จากใบไม้แห้ง
“ส่วนเรื่องของเงินที่ได้จากการขายใบไม้แห้งนั้นเป็นเพียงประเด็นรอง แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ที่ดีเพราะอย่างน้อย ชาวบ้านก็มีเงินไปใช้จ่ายซื้อของภายในครอบครัว แม้บางคนจะได้เพียงหลักร้อยบาท แต่ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนนั้น และคนในชุมชน ที่ช่วยกันทำให้ภายในหมู่บ้านมีอากาศที่ดีขึ้นและปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางการ”

ธัญยธรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความตั้งใจของชาวบ้านเพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอ จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนหรือภาครัฐ ในการเป็นผู้จัดหาสถานที่ในการจัดเก็บและเงินทุนในการรับซื้อใบไม้แห้ง พร้อมกับต่อยอดสร้างองค์ความรู้ในการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์จากใบไม้เหล่านี้ให้กับชาวบ้าน

นที กำแพงแก้ว กรรมการบริหารบริษัทพอใจดี เปิดเผยว่า “ได้เข้าร่วมโครงการเป็นปีที่ 2 แล้ว อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดมลภาวะทางอากาศ” ซึ่งสิ่งที่เรารับซื้อ คือ ใบไม้แห้ง หรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์ และนำปุ๋ยไปใส่ให้กับผักอินทรีย์หลากหลายชนิด
“สิ่งที่ทำให้โครงการนี้ดำเนินการได้อย่างราบรื่นก็คือความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน หลังจากนี้อยากให้บริษัทเอกชนอีกหลายๆ แห่งได้เห็น และหวังว่าจะได้เข้ามาช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ หากมองในเชิงธุรกิจก็มองได้เพราะสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหมัก หรือพืชผลทางการเกษตรที่ได้จากปุ๋ยหมัก”
นที กำแพงแก้ว
ขณะที่ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจัดการเชื้อเพลิง โดยไม่ต้องเผาเปลี่ยนเศษวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ปุ๋ยหมัก

“วิธีการที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในครั้งนี้ อย่างการรับซื้อใบไม้แห้งแลกใบไม้เป็นเงิน ถือว่าดี และน่าสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ได้ช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยังได้เงินจากเศษใบไม้แห้งที่ทุกคนเคยมองข้าม เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ส่งผลดี และเป็นส่วนช่วยลดการเผาในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน”
“หลังจากนี้ทางจังหวัดจะเชิญชวน ภาคธุรกิจท่องเที่ยว บริการ ที่ได้ประโยชน์จากการที่มีอากาศสะอาด ให้ยื่นมือออกมาเป็นส่วนหนึ่งในการรับซื้อใบไม้แห้งจากทุกๆพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ติดเขตป่า หรือ อุทยาน หน่วยป้องกันไฟป่า เพื่อที่จะเน้นพื้นที่ใกล้ป่าจะได้ลดการเผาภายในป่าเนื่องจาก หากสามารถนำเอาเชื้อเพลิงที่อยู่ในป่าออกมาได้ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้ไฟลามเข้าชุมชน หรือไฟจากชุมชนเข้าไปในป่า”