จากกรณีกรมทางหลวงดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบพัฒนาทางหลวงหมายเลข 1004 ตอน ห้วยแก้ว – พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง รองรับปริมาณจราจรและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยมีแผนขยายถนนจาก 2-3 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร พร้อมเพิ่มเลนจักรยาน ทางเท้า จุดพักรถ และจุดชมวิว รวมระยะทางประมาณ 16.277 กิโลเมตร
การดำเนินโครงการเป็นความร่วมมือระหว่างกรมทางหลวง โดยสำนักสำรวจและออกแบบ ซึ่งได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัท ทีอีซี คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ธาราไลน์ จำกัด ให้ทำหน้าที่สำรวจและออกแบบรายละเอียดของเส้นทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพถนนสายสำคัญที่รองรับนักท่องเที่ยวและประชาชนจำนวนมาก
ถนนเดิมในโครงการมีลักษณะเป็นถนน 2-3 ช่องจราจร โดยจะมีการออกแบบเพิ่มเติมทางเดินเท้าและช่องทางจักรยาน เพื่อรองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม รวมถึงการสร้างความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่ใช้เส้นทางนี้เดินทางขึ้นไปยังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์


ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า หากขยายถนน 4 เลนขึ้นดอยสุเทพ แล้วต้องไปรบกวนพื้นที่ป่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อันนี้ไม่เห็นด้วย ซึ่งถนนปัจจุบัน มี 3 เลน นั้นก็สะดวกพอสมควร เพราะแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยความศรัทธา และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรจะทำให้การเดินทางนั้นสะดวกเกินไป
“หากมองเรื่องของความศรัทธานั้น มีความเหมาะสมแล้วในเรื่องของถนนปัจจุบัน ซึ่งการจะขึ้นไปสักการะ กราบไหว้บูชา ก็ต้องขึ้นไปด้วยแรงศรัทธา ที่คนจะขึ้นไปนั้นก็มีความพยายามอยู่แล้ว เช่นเดียวกับการทำกระเช้าขึ้นไปที่มีกระแสคัดค้านไปแล้วก่อนหน้านี้”
“แต่ถ้าจะปรับให้มีความสะดวกในเรื่องของทางเดิน ทางวิ่ง และเลนจักรยาน อันนี้เห็นด้วย โดยที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม นั่นหมายความว่าจะต้องมีการแบ่งถนนเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 เลน มาทำสำหรับทางเดินและทางจักรยาน เพราะตลอดเส้นทางขึ้นดอยสุเทพในช่วงเช้าเราจะเห็นทั้งคนเดิน วิ่ง ปั่นจักรยานขึ้นไปบนดอยสุเทพ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะต้องทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความปลอดภัย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่นั้นไม่ควรที่จะต้องมีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่ม ซึ่งควรจะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากกว่า”

ด้าน พัลลภ แซ่จิว รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในถนนห้วยแก้วขึ้นดอยดอยสุเทพ ความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า รูปแบบการเดินออกกำลังกายในเชิงผจญภัย ในช่วงที่จะขึ้นจากตีนดอยสุเทพ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปถึงวัดผาลาด เป็นที่นิยมของทั้งคนไทยและคนต่างชาติ หลายคนเดินขึ้นทางเส้นนี้ แต่จะเดินลงบนถนนสายหลักเส้นห้วยแก้ว-ดอยสุเทพ ซึ่งมองว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
“หากจะมีการสร้างทางเท้าขึ้นมาอีกนิด ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่จะมีการออกแบบอย่างไรให้เหมาะสมและไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนปลอดภัยและไม่ขยายถนนจนมากเกินไป ซึ่งจะต้องรับฟังความคิดเห็น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการออกแบบอย่างไร ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับการขยายถนนให้กลายเป็น 4 เลน ซึ่งอาจจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง”
“แต่ถ้าทำให้มีทางเดินให้คนสะดวกสบายมากขึ้นอันนี้น่าสนใจ ส่วนเลนจักรยาน ที่ความกว้างไม่เกิน 2 เมตร ให้จักรยาน ขึ้นลงได้สะดวกก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเส้นทางขึ้นดอยสุเทพถือว่าเป็นเส้นทางที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย เพราะถ้าหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนถนนเส้นนี้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เสียหายและส่งผลกับภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวได้เช่นกัน” ประธานหอการค้าเชียงใหม่ กล่าว


ขณะที่ ธีระวัฒน์ จันทร์แว่น ชาวเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การขยายถนน 4 เลน ขึ้นดอยสุดเทพ เพื่อประโยชน์ในการสัญจร ล้วนเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีดอยสุเทพเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่อาจจะนับได้ว่าเป็นภาพจำของจังหวัด ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซัน จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปท่องเที่ยวจำนวนมาก ฉะนั้นหากจะมีการปรับปรุง ขยายช่องทางจราจร ก็ย่อมเกิดผลดี
ส่วนหากไม่ขยายถนน แต่เพิ่มเลนจักรยาน รวมถึงฟุตบาต ให้คนเดินด้วย จะดีหรือไม่ ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ในฐานะคนปั่นจักรยาน มองว่าเป็นเรื่องดี เพราะช่วงเช้ามืดของทุกวัน ไปจนถึงช่วงสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช้าวันหยุด ดอยสุเทพเป็นเป้าหมายหนึ่งของผู้คนทุกช่วงวัยที่จะมาออกกำลังกายทั้งเดิน วิ่ง และปั่นจักรยาน แม้ปัจจุบันช่องจราจรขาขึ้นจะมี 2 ช่อง แต่ถนนก็ยังไม่มีไหล่ทางสำหรับรถจักรยานยนต์หรือจักรยาน ก็นับว่าเป็นความอันตรายอย่างหนึ่ง

“หากมีการสร้างช่องจราจรสำหรับจักรยาน รวมถึงฟุตบาตก็จะมีความเป็นสัดส่วนในการจัดการ การใช้พื้นที่ถนน และเมื่อส่งเสริมพื้นที่ให้คนออกกำลังกายอย่างปลอดภัยมากขึ้น สุขภาพพลเมืองก็ดีขึ้น การเจ็บป่วยในบางโรคอาจจะลดลง งบประมาณของรัฐในส่วนนี้ก็ถูกใช้น้อยลง จะได้นำไปพัฒนาในส่วนอื่นต่อไป”
“การขยายถนน หรือ เพิ่มเลนจักรยาน เพิ่มฟุตบาต ต้องแลกมาด้วยการตัดไม้ ล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าเพิ่ม ส่วนตัวมองว่า การอนุรักษ์พื้นที่ป่าเป็นสิ่งที่ดี แต่การพัฒนาเพื่อความสะดวกในการสัญจรก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะต้องเสียพื้นที่ป่าไปบ้าง แต่เมื่อชั่งน้ำหนักสัดส่วนพื้นที่ที่จะถูกนำไปสร้างถนน กับประโยชน์ที่จะได้รับกับผู้คน เมือง และจังหวัด ก็เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป” ธีระวัฒน์ กล่าว


