สามล้อถีบเชียงใหม่ อาชีพที่ใกล้วันอำลา

18 พ.ค. 2568 - 01:12

  • สามล้อถีบรับจ้างในจังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งอาชีพสำคัญที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน

  • ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขนส่ง ผู้คนมีทางเลือกมากขึ้น ทำให้ “สามล้อถีบรับจ้าง” ถูกกลืนหาย และกำลังจะจบลงในอีกไม่นาน

สามล้อถีบรับจ้าง อีกหนึ่งอาชีพสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เริ่มจะหายไป จากที่เคยรุ่งเรืองในอดีตมีสามล้อรับจ้างมากกว่า 300 คันทั่วเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 30 คัน เท่านั้น

 

อาชีพนี้ คนถีบสามล้อรับจ้างส่วนใหญ่ จะเป็นวัยสูงอายุ ปั่นสามล้อถีบออกมาคอยให้บริการตามจุดต่างๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่ และตามตลาด คอยให้บริการรับส่งผู้คน พ่อค้า-แม่ค้า หรือลูกค้าประจำที่เคยใช้บริการ แต่ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีการขนส่งพัฒนา มีความสะดวกสบาย รวดเร็วมากขึ้น และยังมีทางเลือกพาหนะที่บรรทุกของได้มากขึ้น ทำให้ไม่มีคนใช้บริการสามล้อถีบมากนัก ประกอบกับสามล้อถีบไร้คนสืบทอด ทำให้อาชีพสามล้อถีบที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาในช่วงเวลาหนึ่ง เริ่มถูกลืมเลือน และกำลังจะสูญหายไป


Chiang Mai-rickshaw-drivers-a-hired-occupation-that-is-nearing-its-end-SPACEBAR-Photo02.jpg

 

โอภาส ตันสูงเนิน คนปั่นสามล้อถีบ บอกเล่าว่า เริ่มอาชีพปั่นสามล้อถีบรับจ้าง ตั้งแต่อายุ 16 ปี อยู่ในอาชีพนี้มานานกว่า 30 ปี โดยก่อนหน้านี้ มีเพื่อนร่วมอาชีพ จำนวนมาก 200-300 คันได้ แต่ปัจจุบัน คนทำอาชีพนี้เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันน่าจะเหลือไม่เกิน 30 คน และอู่ซ่อมรถก็อยู่ที่ร้านจงเจริญเหลือเพียงแห่งเดียว เหลือช่างซ่อมเพียงคนเดียวเท่านั้น

 

“เหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลิกอาชีพนี้ไปเพราะไม่มีคนสืบทอด ประกอบกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้คนไม่นิยมนั่งรถสามล้อถีบแล้ว เพราะมีขนส่งอื่นที่ขนของได้ในปริมาณที่มากกว่าสะดวกกว่า รวดเร็วกว่า”

 

โอภาส บอกว่า ในทุกวันจะนำสามล้อออกมารอลูกค้าที่หน้าตลาด ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ถึงประมาณ 11.00 น. เพราะหลังจากนี้จะไม่มีแม่ค้าหรือผู้คนมาใช้บริการแล้ว จากอดีตที่เคยปั่นสามล้อถีบส่งลูกค้า ได้เงินเฉลี่ย วันละ 200- 300 บาท ถือว่าอยู่ได้ในยุคที่ราคา ค่าครองชีพไม่สูงมากนัก แม้ปัจจุบันจะเริ่มต้นที่ราคา 30 บาท แต่บางวันก็ไม่มีคนใช้บริการเลย ทำให้ไม่มีรายได้ บางวันได้เพียงหนึ่งรอบหรือ 30 บาทเท่านั้น ถ้าดีหน่อยมีคนใช้บริการ 3 รอบเฉลี่ยแล้วก็ได้ประมาณ 100 บาท หากมองในยุคปัจจุบันก็ไม่เพียงพอสำหรับค่าครองชีพ


Chiang Mai-rickshaw-drivers-a-hired-occupation-that-is-nearing-its-end-SPACEBAR-Photo07.jpg

 

“ส่วนตัวมองว่าในเวลาอันใกล้นี้ จะไม่มีสามล้อถีบให้เห็นแล้ว เพราะไม่มีคนสานต่อและไม่สามารถสร้างรายได้เหมือนในอดีต แต่หากมองในด้านการท่องเที่ยว แต่สามล้อถีบถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่มาตั้งแต่ยุคล้านนาในอดีต ซึ่งยังสามารถต่อยอดในด้านการท่องเที่ยวได้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการรวมกลุ่มสามล้อถีบ เพื่อพัฒนาเป็นระบบขนส่งในด้านการท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมองว่าเป็นไปได้ และจะช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี”


Chiang Mai-rickshaw-drivers-a-hired-occupation-that-is-nearing-its-end-SPACEBAR-Photo01.jpg

 

ด้าน วัลลภ นามวงศ์พรหม รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในอดีตในยุคที่ไม่มีความเจริญทางด้านการคมนาคม ในเขตชุมชนเมือง หรือในเขตชนบท มีความต้องการใช้บริการรถสามล้อถีบ และถือว่ามีความจำเป็นมากโดยเฉพาะการค้าขายในตลาดสด สามล้อถีบจะเป็นตัวเลือกแรกของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในการรับส่งเดินทาง และขนส่งขนส่งสินค้า

 

แต่ปัจจัยที่ทำให้สามล้อถีบลดลงก็คือ การพัฒนาระบบขนส่งที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทั้งสี่ล้อแดง สี่ล้อเหลือง และสามล้อตุ๊กตุ๊ก ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ที่มีความรวดเร็วและราคาไม่ต่างกันมาก ปัจจัยที่สองความนิยมของผู้คนที่ใช้บริการสามล้อถีบก็ลดลง เพราะถือว่ามีความอันตรายในช่วงเช้ามืดรถที่สัญจรบนถนนมักจะขับรถเร็วมีความเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และปัจจัยสำคัญก็คือผู้คนที่ประกอบอาชีพสามล้อถีบนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ทำให้มีผู้ ใช้บริการลดลงก็ทำให้บทบาทของสามล้อถีบลดลงไปด้วย หลงเหลือเฉพาะเพียงเอกลักษณ์ ตามตลาดที่คนนิยมใช้อยู่บ้าง


Chiang Mai-rickshaw-drivers-a-hired-occupation-that-is-nearing-its-end-SPACEBAR-Photo04.jpg

 

“สำหรับสามล้อถีบนั้นสืบทอดมานับ 100 ปีที่มีอิทธิพลมาจากคนจีนเข้ามาค้าขายในประเทศไทยรวมถึงหัวเมืองล้านนาอย่างจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เดินทางไปตลาด และใช้เดินทางไปกลับโรงเรียนของนักเรียนในอดีต ส่วนตัวยังมองว่ามีความสำคัญในด้านการท่องเที่ยว เพราะสามล้อถีบยังคงมีอัตลักษณ์ของเมืองอยู่”

“หากเราพัฒนาเป็นระบบขนส่งมวลชนด้านการท่องเที่ยว เชื่อว่าจะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี แต่สิ่งสำคัญก็คือการพัฒนาเลนสำหรับจักรยานในพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามทำเลนสำหรับจักรยานหรือสามล้อถีบแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร”


Chiang Mai-rickshaw-drivers-a-hired-occupation-that-is-nearing-its-end-SPACEBAR-Photo03.jpg

 

ขณะที่ แก้วดี วงศ์กุณา ชาวจังหวัดเชียงใหม่ อายุ 77 ปี อดีตแม่ค้าในตลาดเมืองใหม่ เล่าว่า ในอดีตนั้นสามล้อถีบมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะตนเองเข้าไปขายของในตัวเมือง จะต้องใช้บริการสามล้อถีบทุกวัน เพื่อที่จะเดินทางจากตลาด มายังจุดจอดรถโดยสารประจำทาง เพื่อเดินทางกลับบ้านตามอำเภอรอบนอก

 

ซึ่งในอดีตนั้นก็เริ่มต้นที่หลัก 5 บาท 10 บาท มาจนถึง 20 บาท แล้วแต่ระยะทาง และสินค้าที่เรานำขึ้นรถมาด้วย ในยุคนั้นสามล้อถีบ ถือว่ามีความสะดวกสบายในการเดินทางขนส่งสัญจรเพราะยังไม่มีสี่ล้อแดงคอยให้บริการแม้จะมีรถขนส่งอื่นอยู่บ้างแต่บางรายก็ไม่รับขนส่งสินค้าด้วยจึงทำให้สามล้อถีบเป็นตัวเลือกแรก

 

“ในปัจจุบันในยุคที่ขนส่งมวลชนพัฒนาขึ้น มีตัวเลือกที่หลากหลาย ก็เป็นที่น่าเสียดายที่รถสามล้อถีบ จะต้องหยุดให้บริการ จึงทำให้ภาพในอดีต ที่มีสามล้อถีบอยู่เต็มเมือง จะไม่เห็นแบบนั้นอีกแล้ว หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะอนุรักษ์ไว้ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะยังมีคนที่ชื่นชอบในการนั่งรถสามล้อถีบชมเมืองในช่วงเช้า ถือว่าเป็นจุดหนึ่ง ถ้าหากนำมาบริการนักท่องเที่ยวในความที่เป็นสามล้อถีบ ทำให้เราเห็นความสวยงามของเมืองเชียงใหม่ ได้มากขึ้นเพราะไม่เร็วมาก และยังคงเป็นเอกลักษณ์”


Chiang Mai-rickshaw-drivers-a-hired-occupation-that-is-nearing-its-end-SPACEBAR-Photo05.jpg


Chiang Mai-rickshaw-drivers-a-hired-occupation-that-is-nearing-its-end-SPACEBAR-Photo08.jpg


Chiang Mai-rickshaw-drivers-a-hired-occupation-that-is-nearing-its-end-SPACEBAR-Photo06.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์