เชียงราย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดภาคเหนือ ที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างหนัก ในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ริมน้ำสาย อำเภอแม่สาย เขตเศรษฐกิจการค้าชายแดนสำคัญของจังหวัดเชียงราย ถือว่าหนักที่สุดในรอบ 100 ปี จากการสำรวจโดยนักวิชาการไทยพบว่า ปัจจุบันพื้นที่ต้นน้ำแม่สายได้เปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ศักยภาพของป่าไม้ในอุ้มน้ำกักเก็บน้ำลดลง ส่งผลกระทบทำให้ดินพังถล่มหลายจุด เกิดน้ำท่วมหนัก และเกิดดินโคลนตะกอนสะสมจำนวนมาก


ชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยถึงการเตรียมแผนรับมือสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือว่า แผนเร่งด่วนในการรับมือกับอุทกภัย ไทยและเมียนมา ได้เริ่มมีการขุดลอกลำน้ำแม่น้ำสาย และแม่น้ำรวกให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2568 ส่วนแผนระยะยาวรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศมีแผนจะทำแนวป้องกันตลิ่งแม่น้ำสาย แต่ประเด็นสำคัญ คือ การเวนคืนที่ดิน ทางออกจะต้องมีการเจรจากับทุกฝ่ายให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
ล่าสุด กรมการทหารช่างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงระดมกำลังขุดลอกแม่น้ำรวกซึ่งอยู่ใต้แม่น้ำสายลงไปอย่างต่อเนื่อง ตามแผนที่ได้ตกลงกับเมียนมาว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 20 มิถุนายน 2568 นี้ เพื่อทันรองรับฤดูฝน ป้องกันน้ำท่วมที่เคยเกิดขึ้นครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2567 และเร่งก่อสร้างพนังกั้นริมฝั่งแม่น้ำสายฝั่ง อำเภอแม่สาย เพื่อป้องกันน้ำท่วม เนื่องจากปัจจุบัน แม่น้ำสายมีความแคบและตื้นเขินจากตะกอนดินโคลนที่มากับน้ำท่วมใหญ่ 2567 แม้ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จะมีฝนตกลงมาเล็กน้อย ก็เกิดน้ำท่วมท่วมพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนทั้ง ไทย และ เมียนมา
“แม้การวางแนวพนังกั้นน้ำให้สูงกว่าระดับน้ำท่วมเดิมถือว่าเพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์ได้ แต่จะมีการขุดลอกแม่น้ำสายควบคู่กันไปด้วย ซึ่งตามข้อตกลงเป็นหน้าที่ของฝ่ายประเทศเมียนมา แต่จนถึงวันนี้เมียนมายังคงไม่มีการขุดลอก ดังนั้นจึงได้ประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้แจ้งฝ่ายเมียนมาเร่งดำเนินการให้สมบูรณ์โดยเร็ว”


ขณะที่ ชาวบ้านชุมชสายลมจอย อ.แม่สาย บอกว่า ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา แม้มีฝนตกเล็กน้อย น้ำก็เอ่อล้นเข้าท่วมชุมชน โดยเฉพาะชุมชนเกาะทราย ไม้ลุงขน และชุมชนสายลมจอย จึงต้องเร่งขนของขึ้นที่สูง แต่ปริมาณน้ำได้ลดลงอย่างรวดเร็ว และท่วมเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น จึงกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

“ส่วนตัวมองว่า มวลน้ำที่ท่วมในครั้งนี้เกิดจากฝนตกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงมีความกังวลเป็นอย่างมากหากมีฝนตกหนักมากกว่านี้ในช่วงฤดูฝน ว่าจะรับมือได้อย่างไร และจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนปลายปีที่ผ่านมาหรือไม่ ซึ่งไม่มีความมั่นใจในการอยู่ในพื้นที่เลย และครั้งที่ผ่านมาน้ำท่วมจนทำให้ทรัพย์สินในบ้านเสียหายทั้งหมด จึงมีความกังวลเป็นอย่างมาก”
“อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการขุดลอก และทำผนังกั้นน้ำให้มีความแข็งแรงทนทาน ไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมชุมชนอีก เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้อยากให้มีระบบเตือนภัยที่ดีที่ให้ชาวบ้านได้มีเวลาอพยพและขนเข้าของได้ทันท่วงที”

ด้าน รศ.ชูโชค อายุรพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วมเชียงราย โดยเพาะพื้นที่อำเภอแม่สาย พบว่าเวลาที่ฝนตกและน้ำในแม่น้ำไหลมาเร็วและแรง ก็จะนำเอาหน้าดินที่มีการเปิดเอาไว้ในลุ่มแม่น้ำสายที่อยู่ฝั่งของประเทศเมียนมา ซึ่งในบริเวณนั้นมีการทำพืชเชิงเดี่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องทำการเปิดหน้าดินอยู่ตลอด
“เมื่อน้ำหลากก็นำเอาตะกอน ดินและทรายมาพร้อมกับมวลน้ำจำนวนมหาศาล น้ำไหลไปไหน สิ่งเหล่านี้ก็จะไหลตามไปด้วย ซึ่งในปีนี้ ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เนื่องจากหากยังมีการเปิดผิวดินเพื่อทำการเกษตรเชิงเดียวอยู่”

หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ มช. กล่าวอีกว่า ปัญหาหลักในตอนนี้ ลำน้ำสายถูกขวางอยู่ จากสิ่งปลูกสร้าง ทั้งฝั่งของไทยและฝั่งของเมียนมา หากเป็นแบบนี้ต่อไปในอนาคตน้ำก็จะท่วมหนักและท่วมถี่มากยิ่งขึ้น เพราะพื้นที่ลำน้ำถูกบีบเข้ามากว่า ร้อยละ70 ของ พื้นที่หน้ากว้าง ซึ่งจะต้องมีการขอคืนพื้นที่ ปัญหาตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่ระดับประเทศ เนื่องจากต้องมีการพูดคุยกับฝั่งของประเทศเมียนมา หากทำไม่พร้อมกันทั้งประเทศก็จะมีปัญหาตามมาในภายหลังได้
ซึ่งที่ผ่านมามีแผนของกรมโยธาธิการและผังเมือง จะได้มีการขอคืนพื้นที่รุกล้ำลำน้ำสาย แต่แผนนี้จะใช้งบประมาณจำนวนมาก และใช้เวลา แต่รัฐบาลควรแอ็คชั่นแพลน ตั้งเป้ากรอบระยะเวลา และแบ่งเป็นโซนทำเพื่อโยกย้ายประชาชน ค่อยๆ ทำไปทีละโซน ถ้าแบ่งแบบนี้จะใช้เวลาไม่นาน เพราะส่วนใหญ่พื้นที่ริมน้ำสายนั้นเป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือพื้นที่บุกรุกทั้งหมด เพราะว่าลำน้ำสายเดิม นั้นมีความกว้างประมาณ 100 เมตร ปัจจุบันเหลือประมาณ 40 เมตร 30 เมตร และบางพื้นที่เหลือเพียง 20 เมตรเท่านั้น
“เห็นชัดเจนเลยว่าเป็นพื้นที่คอขวดจึงทำให้ระดับน้ำนั้นยกขึ้นสูง ทำให้น้ำท่วมทุกปี ปีละหลายครั้ง และมีการรุกล้ำลำน้ำทั้งสองฝั่ง การแก้ไขไม่มีวิธีอื่นและไม่มีทางบายพาสลำน้ำได้ เนื่องจากเป็นช่วงหุบเขา ลงมาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเลย มีน้ำลงมาอย่างรวดเร็ว แนวทางแก้ไขคือต้องคืนพื้นที่ลำน้ำให้มีหน้าตัด หน้ากว้างเท่าเดิม 100 เมตร และขุดลอกเอาดินตะกอนออก”
“ขณะที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการทำผนังกั้นน้ำทั้งทั้งสองฝั่งจะไม่เกิดประโยชน์ ในกรณีที่มีปริมาณน้ำระดับกลางหรือระดับมาก ก็จะทำให้น้ำท่วมและอาจจะหนักกว่าเดิม ขณะเดียวกันฝั่ง เมียนมา นั้นทำผนังกั้นน้ำเสร็จแล้ว แต่ฝั่งไทยยังไม่เสร็จถ้าหากนำมาเราก็จะได้รับผลกระทบ และการทำผนังกั้นน้ำ ที่ไม่ได้อยู่บนตลิ่ง ไปถึงแนวสะพาน อาจจะทำให้มีผลกระทบมากขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาทางเดียวคือการคืนพื้นที่รุกล้ำลำน้ำ” หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ มช. กล่าว

