บาดแผลของ ‘ผ้าขาว’ ที่ ‘สังคมเปราะบาง’ กำลังแต่งแต้ม

4 มิ.ย. 2567 - 10:26

  • สังเคราะห์มุมมองของสังคม ผ่านปรากฏการณ์ ‘น้องไนซ์ เชื่อมจิต’ ภาพฉายแห่งความ ‘เปราะบาง’ ที่กำลังแต่งแต้ม ‘บาดแผล’ ให้กับเด็กชาย วัย 8 ขวบ

Child-pressure-to-religious-beliefs-SPACEBAR-Hero.jpg

ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความคิดหลากหลาย และมากด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เว้นวัน เรื่องของ ‘น้องไนซ์’ หรือที่ผู้ศรัทธาเรียกขาน ‘อาจารย์น้องไนซ์ นิรมิตเทวจุติ’ เป็นประเด็นที่สังคมต่างเฝ้าจับตา แม้นเดิมทีจะเป็นเรื่องของศาสนา - ลัทธิ ที่เถียงกันอย่างไร คงหาทางบรรจบได้ยาก เพราะไม่มีใครวาดภาพ ‘ความเป็นกลาง’ เรื่อง ‘ความเชื่อ’ ได้อย่างสมบูรณ์ สอดคล้องกับคำบาลี ที่ติดปากพระสงฆ์องค์เจ้า ‘นานาจิตัง’ นำไปสู่สมรภูมิย่อมๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องระหว่าง ‘กลุ่มผู้ศรัทธา’ และ ‘กลุ่มผู้ไม่ศรัทธา’  

เห็นได้จากกรณีการฟ้องร้องระหว่าง 'ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง' กับ 'ผู้ปกครองน้องไนซ์' ที่เคยปะทะฝีปากบนหน้าสื่อหลายวาระ ผนวกกับเหตุการณ์ความวุ่นวาย ที่ สน.ทองหล่อ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน (ที่ผ่านมา) ซึ่งเป็นวันที่ 'ครอบครัวเชื่อมจิต' เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาทฯ โดยจังหวะตอนท้าย ปรากฏภาพมวลชนจำนวนหนึ่ง ตะโกนโห่ร้องขับไสน้องไนซ์ ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนเรื่องราวได้หลายมิติ 

ลองคิดสะระตะดู สิ่งที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องความถูกต้องตามหลักศาสนา หรือความศักดิ์สิทธิ์อำนาจพลังเชื่อมจิต ทว่าสิ่งที่ต้องพินิจดูต่อจากนี้ คือชีวิตของเด็กชายวัย 8 ขวบ ที่เปรียบดั่ง 'ผ้าขาว'  แล้วอย่างไรเล่าคนรอบข้าง สังคม หรืออีกนัยคือ ‘ผู้ใหญ่’ กลับแต่งแต้มเฉดสี ที่อาจเป็นการ ‘ทำร้าย’ และสร้างแรงตกกระทบให้เขา ที่จะส่งผลต่อทั้งในวันนี้และภายภาคหน้า ด้วยความสุขสมและสะใจ 

ว่ากันด้วยคำเปรียบเปรยโบราณอย่าง ‘เด็กบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาว’ จึงลองตั้งปุจฉากับ ‘รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปารี’ ผู้อำนวยศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็กและวัยรุ่น โดยยึดโยงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘น้องไนซ์’ ผ่านหลักทางการแพทย์มาวิเคราะห์ เพื่อเลี่ยงปัญหาที่ไร้ข้อยุติ 

สุริยเดว เริ่มอธิบายจากการถอดสมการที่เกิดขึ้นบนหน้าสื่อ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากประเด็นเด็ก 8 ขวบ เป็นส่วนหนึ่งของความชัดเจนในการพิสูจน์สังคมไทยว่า ‘เป็นสังคมที่เปราะบาง’ ซึ่งมาจากภาวะวิตกกังวล - ความตึงเครียดของผู้คน นำไปสู่การหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจรูปแบบต่างๆ โดยบางขณะอาจลืมพิจารณาข้อเท็จจริง ซึ่งปรากฏการณ์ในลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และดำเนินเรื่อยมายาวนานแล้ว  

หากวิเคราะห์ตามหลักการแพทย์ โดยธรรมชาติเด็กทุกคนล้วนมีพัฒนาการการเติบโตตามช่วงวัย ซึ่งจะสอดคล้องกับระดับทางความคิดและสติปัญญาด้วย ยกตัวอย่าง  อาจมีเด็กเล็กที่สามารถคำนวนผลทางคณิตศาสตร์ ได้เร็วกว่าการใช้เครื่องคิดเลข กระนั้นไม่ได้หมายความว่า เด็กที่ฉลาดจะเข้าใจเรื่องการอยู่ร่วมกับสังคมได้ โดยเฉพาะมิติการเอาตัวรอด - รู้เท่าทันทางความคิด แต่อยู่ในสถานะที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา 

สังเกตได้จากชุดความคิดของเด็กวัยเจริญเติบโต ช่วงอนุบาลจะอยู่ในห้วงแห่งจินตนาการ แต่เมื่อเข้าสู่วัยเรียนทั้งหมด (อายุ 6 - 12 ปี) โดยส่วนใหญ่ แบบการเรียนจะถูกปรับ จากนามปธรรมเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น แต่จะถามหาความเข้าใจโดยแก่นแท้จนสามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรม ภายใต้ศักยภาพของสมองเลยหรือไม่นั้น ‘ยังไปไม่ถึง’

“มีเหมือนกันที่เด็กจะมีความจีเนียสเกินวัย แต่ถ้าเราเอาเขาเข้าระบบที่ถูกต้องในการพัฒนาศักยภาพ โดยฉายภาพบนพื้นที่สาธารณะ เขาก็จะได้รับการเติมเต็มที่สมบูรณ์แบบ เราก็เคยเห็นเด็กต่างประเทศที่จบปริญญาเอกขณะที่อายุยังน้อย มันคือการพัฒนาตัวตนที่แข็งแกร่งขึ้นมา ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ ทำให้เด็ก 8 ขวบ อาจต้องเสียโอกาสที่เขาควรได้รับ เพราะความที่เด็กไม่มีทางเลือก”

สุริยเดว ทรีปารี กล่าว

ในมิติของการ ‘มองเด็กเป็นผ้าขาว’ และผลกระทบจากข้อถกเถียงที่จะส่งผลต่อตัวเด็ก สุริยเดว ให้ความเห็นว่า แรงตกกระทบมีอยู่แล้วแน่นอน ในส่วนผู้ปกครองจำเป็นต้องตระหนักข้างต้นที่กล่าวไว้ คือพัฒนาเด็กผ่านกลไกที่เหมาะสม ไม่ใช่นำเข้าสู่โลกของโซเชียลมีเดีย 

เพราะเมื่อเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ หนทางการพัฒนาจะคับแคบลง จากสภาวะที่สังคมกำลังตั้งความคาดหวัง ทั้งจากกลุ่มผู้ศรัทธา และกลุ่มนอกศรัทธา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ จะสร้างแรงกดดันให้กับเด็ก ในวันที่เติบโต - มีแนวคิดในการดำเนินชีวิตของตนเอง กลับกันหากได้รับการศึกษาที่เป็นระบบ ก็จะสามารถเติมเต็มทักษะที่เด็กฉลาดมักบกพร่อง อาทิ ทักษะการใช้ชีวิต และการอยู่ร่วมกับสังคม  

กุมารแพทย์มองว่า หากเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม แล้วพบว่าบางวิชาไม่ถนัดและทำไม่ได้ ก็จะได้รับการพร่ำสอน ซึ่งเป็นผลดีกับต่อการแก้ไขปัญหา กลับกันในวันนี้ เด็กถูกนำเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ย่อมแบกรับความคิด และอาจถูกบูลลี่จากคนรอบข้างจนเกิด ‘บาดแผลทางใจ’ ได้  

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ปกครองของน้องไนซ์ต้องทำเป็นอันดับแรก คือการยุติบทบาทของเด็กบนโลกโซเชียล ส่วนผู้คนทั่วไป ซึ่งจะกลายเป็น ‘มือที่สาม’ ของการสร้างบาดแผล จำเป็นต้องมีวิจารณญาณในการรับสาร และตั้งสติตัวเอง ไม่ให้กระทำการ ‘ซ้ำเติม’ ปรากฏการณ์ให้บานปลาย เพราะสุดท้ายทุกอย่างจะกลายเป็น ‘รอยเท้า’ ที่คงอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตอีกนมนาน

“หากเด็กที่ฉลาดถูกพัฒนาในระบบที่ถูกต้อง ก็จะได้รับการเพิ่มพูนในจุดที่บกพร่องได้ อย่าง การเสริมสร้างทักษะการเอาตัวรอด และมิติการรู้เท่าทันทางความคิด ซึ่งจะง่ายกว่าการที่เติบโต ภายใต้ความคาดหวัง จากสังคม สุดท้ายก็ต้องบาดเจ็บ และกลายเป็นบาดแผลในอนาคตต่อไป”

สุริยเดว ทรีปารี กล่าวทิ้งท้าย

ท้ายที่สุด สุริยเดว มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อน ‘คุณภาพพลเมือง’ ซึ่งองค์กรภาครัฐ ที่กำกับดูแลเรื่องศาสนา และการศึกษา ต้องกลับทบทวนตัวเองว่าที่ผ่านมา ว่าทำหน้าที่ได้ครบถ้วนและมีส่วนช่วยในการพัฒนาภาวะทางจิตใจของสังคมได้มากน้อยเพียงใด 

โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเยาวชน ที่วันนี้ทำให้เห็นแล้วว่าการจัดการของภาครัฐอยู่ในระดับที่ ‘อ่อนแอมาก’ ไม่เคยมีแผนรองรับปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที รวมถึงสื่อมวลชนก็ควรจะตระหนักเรื่องการนำเสนอเนื้อหา แม้นจะมีหน้าที่บอกเล่าประเด็นสาธารณะ แต่ก็ไม่ควร ‘จุดไฟ’ ให้ ‘เพลิงลุกลาม’ จนกลายเป็นปัญหาไม่จบสิ้น 

น ตํ กมฺมํ กตํ สาธุ - สิ่งใดทำแล้วเดือดร้อนภายหลัง สิ่งนั้นย่อมไม่ดี

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์