‘ทุนจีน’ รุกเชียงใหม่! แชร์ส่วนแบ่งการตลาดร้านอาหาร

15 มี.ค. 2568 - 02:00

  • เชียงใหม่นับเป็นจังหวัดอันดับ 3 รองจากกรุงเทพมหานคร และชลบุรี ที่มีกลุ่มธุรกิจร้านอาหารจีนเข้ามาลงทุนมากที่สุด

  • ผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างมองว่า ‘ธุรกิจทุนจีน’ ที่เข้ามาส่งผลกระทบกับส่วนแบ่งทางการตลาดของร้านอาหารท้องถิ่น

  • ขอทางการเน้นย้ำเรื่องของการควบคุมให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย พึงระวังธุรกิจรูปแบบ 'นอมินี'

Chinese_restaurant_business_invades_Chiang_Mai_SPACEBAR_Hero_c64d88e0dc.jpg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน ปี 2567 แนวโน้มต่างชาติสนใจลงทุนร้านอาหารในไทยเพิ่มต่อเนื่อง โดยนักลงทุนจากจีนมาเป็นอันดับ 1 มูลค่าทุนจดทะเบียนสะสมในกิจการร้านอาหารจากนักลงทุนจีนเพิ่มต่อเนื่องเกือบ 2,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 49 เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2566 

คาดการณ์ว่าปี 2568 นักลงทุนจีนยังคงลงทุนกิจการร้านอาหารในไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่สูงกว่า ร้อยละ 63 ส่วนพื้นที่รองลงมาได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุทรปราการ และ สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2568 ร้านอาหารจีนจะเปิดตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14 หรือมีจำนวน 1,600 ร้าน โดยมีแรงหนุนจากการร่วมลงทุนขยายสาขาในเขตเมืองหลัก โดยเน้นราคาอาหารที่เข้าถึงได้ง่าย

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ สำรวจตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และสถานที่ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางมาเที่ยว โดยเฉพาะย่านถนนนิมมานเหมินทร์ ถนนท่าแพ และหลายพื้นที่ในตัวเมืองเชียงใหม่ สังเกตได้ว่ามีร้านอาหารแบรนด์สัญชาติจีน และร้านอาหารจีน เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเน้นเป็นอาหารที่เข้าถึงง่าย และมีราคาถูก

Chinese_restaurant_business_invades_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo01_4ff6f6d8f9.jpg
Chinese_restaurant_business_invades_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo05_5cd3af0d8f.jpg

ชลิตา เหรียญประชา ผู้ประกอบการร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ การที่มีร้านอาหารจีนเข้ามาเปิดในจังหวัดเชียงใหม่จำนวนมาก เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น และจะมีเรื่องของค่าจ้างแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีผลกระทบกับธุรกิจร้านอาหารอย่างแน่นอน 

“เพราะคนจีนนั้นมีมูลค่าการลงทุนสูง สามารถโปรโมทและสร้างแคมเปญ ในการเรียกลูกค้า นอกจากนี้ วัตถุดิบในการปรุงอาหารจากบ้านเรานั้นมีราคาสูงขึ้น เมื่อเทียบกับทุนจีนที่นำเข้าวัตถุดิบเครื่องปรุงเข้ามาเอง ซึ่งมีราคาถูกกว่า ทำให้ขายได้ในราคาที่ต่ำกว่า”

Chinese_restaurant_business_invades_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo02_15dce77603.jpg
Chinese_restaurant_business_invades_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo03_e399a0f495.jpg

ด้าน ธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่  มองว่า การเข้ามาลงทุนร้านอาหารของคนจีนในจังหวัดเชียงใหม่มีหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นร้านอาหารสัญชาติจีนเลย ซึ่งร้านประเภทนี้ไม่ตอบโจทย์กับคนไทยมากนัก อีกประเภทจะเป็นร้านนอมินี ที่มีคนไทยเป็นผู้บริหาร 

ธนิต กล่าวต่อว่า ถ้าถามว่าร้านอาหารจีนจะมีบทบาทในทางแข่งขันการการค้า ส่วนตัวมองว่าไม่มากนัก เพราะธุรกิจร้านอาหารคนในพื้นที่เท่านั้นที่จะรู้ว่าอะไรตอบโจทย์ เพราะนักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวก็นิยมชมชอบในความเป็นอาหารพื้นถิ่นมากกว่า

ส่วนธุรกิจร้านอาหารขนาดใหญ่ที่เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอศครีม ที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีการจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่า แต่นั่นก็จะเป็นการแข่งขันของธุรกิจระหว่างแบรนด์ใหญ่ของต่างประเทศด้วยกัน ที่เข้ามาทำการค้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นอาหารในลักษณะเดียวกัน

Chinese_restaurant_business_invades_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo06_77057121f9.jpg

“แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังก็คือธุรกิจรูปแบบ ‘นอมินี’ ที่มีคนพื้นที่เข้ามาบริหาร ถ้าบริหารได้ดีตอบโจทย์ อยู่ถูกที่ถูกเวลา และมีทุนสูงในการลงทุน ก็ส่งผลกระทบกับร้านอาหารในพื้นที่อย่างแน่นอน แต่จะต้องมีการถูกตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกัน ว่าธุรกิจนี้เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่”

ธนิต ชุมแสง

ขณะที่ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center ( CIC ) รองคณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า เราจะเห็นธุรกิจสัญชาติจีน แบรนด์ใหญ่ที่ลงทุนในห้างในจังหวัดเชียงใหม่ มาเปิดพร้อมกัน 2 สาขา แต่เทียบกับกรุงเทพมหานคร และภูเก็ต อย่างละสาขาเท่านั้น มันสะท้อนให้เห็นว่า คนจีนเข้ามาพำนักระยะยาว ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จำนวนมาก และกว่าร้อยละ 80 ที่เข้าใช้บริการร้านอาหาร กลุ่มนี้จะเป็นลูกค้าชาวจีน ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้กล้าลงทุนเพราะมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว จึงทำให้ธุรกิจเดินได้ และกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นเป็นตัวเสริมเข้ามา 

ดร.ดนัยธัญ กล่าวต่อว่า และอีกแบบหนึ่งคือย่านท่องเที่ยว ก็จะมีร้านอาหารสัญชาติจีนเข้ามาเปิด ในลักษณะกลุ่มธุรกิจที่เล็กลง กลุ่มเหล่านี้จะเป็นกลุ่มชาวจีนที่พำนักระยะยาว และมาเปิดร้านอาหารรับนักท่องเที่ยว รวมถึงคนจีนที่พำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ และมีกลุ่มธุรกิจร้านอาหารจีนที่ขนาดเล็กลงอีก จะเป็นร้านอาหารประเภทฟาสฟู้ดของจีน และอาหารเสฉวน อาหารจีนยูนาน โดยรวมแล้วจะเน้นให้บริการกับคนจีนที่มาพำนักระยะยาว ซึ่งกลุ่มธุรกิจร้านอาหารเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นคู่แข่งทางการตลาดที่มีรสชาติดั้งเดิมเข้ามามากขึ้น จึงถือว่าเป็นการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด ทำให้คนจีนที่มาพำนักระยะยาวมีทางเลือกเพิ่ม

Chinese_restaurant_business_invades_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo07_e170617693.jpg

“แต่การที่คนจีนเค้ามาเปิดร้านอาหารในเชียงใหม่ ถ้าเปิดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แล้วใช้วัตถุดิบจากบ้านเราเป็นองค์ประกอบบางส่วน เช่น หมู ผัก และวัตถุดิบอื่นๆ ซึ่งถือว่าเราได้เกินร้อยละ 50 แน่นอน เพราะเขาไม่ได้นำเข้าทุกอย่างเข้ามา อาจจะมีเพียงเครื่องปรุงรส ที่ต้องนำเข้า”

“ขณะเดียวกันถ้าเราสามารถทำให้กลุ่มร้านค้าเหล่านี้ อยู่ในกฎระเบียบที่เราควบคุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมาตรฐาน สุขอนามัย และพ่อครัวที่เดินทางเข้ามา จะต้องมีการขอวีซ่าอย่างถูกต้อง ร้านอาหารต้องเปิดเป็นรูปแบบที่มีการจัดเก็บภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นเรื่องเสียหายอะไรที่จะมีลักษณะเป็นคู่แข่งของร้านอาหารเพิ่มขึ้น เพราะร้านเหล่านี้ยังเป็นเพียงทางเลือกเท่านั้นไม่ใช่ตัวหลักเดียวในการแย่งลูกค้าของร้านอาหารท้องถิ่น” ดร.ดนัยธัญ กล่าว

Chinese_restaurant_business_invades_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo04_0f8d0b7941.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์