‘ชง’แต่พอดี ชีวิตดีหาก‘ชง’เป็น - ว่าด้วยดราม่าปีชง

11 มกราคม 2567 - 08:36

chinese-zodiac-spiritual-anchor-personal-beliefs-mental-health-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ว่าด้วยดราม่า ‘ปีชง’ ที่ซ่อนปมความเชื่อในระดับจิตวิญญาณ ชวนคุยเรื่องนี้กับ ‘นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์’ โฆษกกรมสุขภาพจิต ที่มองว่า ไม่ว่าคุณจะเชื่ออะไร หากเชื่อแล้วไม่เดือดร้อนตัวเองหรือคนอื่นก็เชื่อไปเถอะ หากสิ่งนั้นจะทำให้ชีวิตของคุณดีขึ้น

เมื่อความเชื่อส่วนบุคคลเรื่อง ‘ปีชง’ กลายเป็นประเด็นดราม่าในสังคม แล้วมันผิดหรือที่มีความเชื่อแบบนี้? ส่วนคำตอบจะเป็นอย่างไรนั้น ผู้เขียนขอไม่ไปก้าวก่าย เพราะประเด็นหลักที่เราจะมาพูดถึงวันนี้ คือเรื่องของ ‘สุขภาพจิตวิญญาณ’ หนึ่งในมิติสุขภาพที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ เพราะเรื่องนี้เป็นหนึ่งในมิติการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Care)

พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เดิมเราอาจคุ้นชินแค่คำว่า สุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตใจเท่านั้น แต่ในทางการแพทย์การดูแลให้คนมีสุขภาพทางร่างกายและจิตใจที่ดีนั้น ต้องดูแลให้ครบทุกด้านของความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีทั้งหมด 4 ด้าน คือ 

  1. ด้านร่างกาย : การมีสุขภาพแข็งแรงและมีพลัง ไม่มีโรคภัยทางกาย 
  2. ด้านจิตใจ : การมีความสุข ปราศจากความเครียด 
  3. ด้านสังคม :  การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข สังคมมีความมีความเท่าเทียม มีระบบบริการที่ดีและทั่วถึง
  4. ด้านจิตวิญญาณ :  ความสุขที่เกิดจากความเข้าใจ ความเชื่อในสิ่งที่ต่างๆ ที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ เป็นความแข็งแกร่งจากภายใน หรืออาจหมายถึงการมีสิ่งยึดเหนี่ยวต่อสิ่งใดอย่างลึกซึ้ง
NEWS SPACEBAR.png
Photo: ‘นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์’ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น , โฆษกกรมสุขภาพจิต

ความเชื่อเรื่อง ‘ปีชง’ ที่เป็นเหมือน ‘สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ’ ในความเห็นของ ‘นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์’ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ซึ่งพ่วงตำแหน่งโฆษกกรมสุขภาพจิต จึงมองว่า ‘ปีชง’ เป็นเรื่องความเชื่อ ที่ทุกชาติต่างมีความเชื่อตามท้องถิ่นของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่คนเอเชียมีความเชื่อเรื่องวันมงคล ทิศมงคล มากกว่าชาติตะวันตก เป็นเรื่องปกติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะบ้านเราที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรม 

ความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนถึงความเปราะบางทางจิตใจแต่อย่างใด และเรื่องปีชงก็มีมุมที่ดีที่เป็นเหมือนกุศโลบายทำให้คนมีความระมัดระวังในการใช้ชีวิต ไม่มีอะไรที่เสียหายเลย ยกเว้นต้องเสียทรัพย์อย่างมาก เพื่อทำอะไรในการแก้ชงจนเป็นหนี้เป็นสิน แบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนับสนุน และไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นด้วย

“มันอาจไม่ดีที่มันไม่ได้เตือนทุกคน ทุกคนไม่ได้ชงหมด แต่ว่าคนที่เป็นปีชงก็อาจมีความพยายามที่จะทำให้ปีนี้เป็นปีที่ดีขึ้น พยายามช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น ผมมองว่าความจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ว่ามันเป็นกุศโลบายหนึ่งที่ทำให้คนใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น ยังไงก็เป็นผลลัพธ์เชิงบวกอยู่แล้ว”

นพ.วรตม์ กล่าว

แม้จะเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลแต่ ‘หมอวรตม์’ ได้ฝากข้อห่วงใยไว้ว่า การยึดมั่นถือมั่นอะไรที่มากเกินไปก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ความเชื่อควรอยู่บนหลักของความเชื่อ ไม่ใช่ความงมงาย บางคนต้องเสียโอกาสทางธุรกิจ ไม่กล้าเริ่มทำอะไรใหม่ๆ เพียงเพราะเป็นปีชง อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย หากเชื่อควรเชื่อในระดับหนึ่ง และพยายามมองหาแง่ดีเพื่อสนับสนุนชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น มองว่าตรงนี้อาจเป็นวัตถุประสงค์จริงๆ ของการที่ออกมาเตือนเรื่องปีชง

“คนเราไม่เชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ต้องไปเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่แล้ว เราเห็นเรื่องมงคล มูเตลูอื่นๆ มากมาย ผมว่าไม่ใช่สิ่งเสียหายเลย การมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่ยึดมั่นที่สุดอาจเป็นตัวเราเอง ถ้าเรายึดมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเองว่าเราทำได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งกำลังของคนอื่นมากนัก ผมเชื่อว่ามันว่าจะทำให้ชีวิตเราประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้นครับ”

นพ.วรตม์ กล่าว

ข้อมูลจากงานวิจัย ยังพบว่า ‘จิตวิญญาณ’ เป็นองค์ประกอบที่ฝังลึกภายในมนุษย์ เป็นแรงขับเคลื่อนให้บุคคลค้นหาความสุข ความสงบในชีวิต เกิดปัญญา ความก้าวพ้น เป็นประสบการณ์ของบุคคลในการแสดงออก ถึงความแข็งแกร่งจากภายใน และยังมีผลต่ออายุขัยหรือชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น เพราะมีความเครียดลดลง มองโลกในแง่บวกและมีความหวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น 

งานวิจัยบางเรื่องยังชี้ให้เห็นว่าคนที่มีระดับจิตวิญญาณที่ดีส่วนมากจะมีทัศนคติเชิงบวก และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีได้ สามารถมีความสุขท่ามกลางปัญหาได้ ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ แม้จะอยู่ในภาวะที่เจ็บป่วยก็ตาม 

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนมองว่าใครจะเชื่ออะไรถือว่าเป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคลตราบใดที่ความเชื่อนั้นไม่ได้ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น และการจะห้ามไม่ให้ใครเชื่อเรื่องดวงในบ้านเมืองเรา ก็คงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะตอนนี้เรื่องดวงสำหรับบางคนก็กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตไปซะแล้ว 

อีกทั้งตราบใดที่สื่อโทรทัศน์หรือสื่อโซเชียลต่างๆ ยังมีการนำเสนอเรื่องราวมูเตลูอยู่ การจะห้ามความเชื่อในศาสตร์นั้นๆ คงไม่สามารถทำได้ และหากในอนาคตจะมีความเชื่อลัทธิใหม่ๆ ปรากฎให้เราเห็นก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะช่องทางการสื่อสารปัจจุบันมีให้เลือกมากมายนับไม่ถ้วน และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรื่องราวเหล่านี้ มีจุดที่ดูเหมือนว่ามีผลประโยชน์ทับซ่อนซ้อนอยู่เพื่อรอหากินกับความเชื่อของคน การวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ก็ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

แม้ในภาษาจีนคำว่า ‘ชง (冲)’ จะมีความหมายว่า ‘ขัดกัน-ไม่เข้ากัน’ แต่คำว่า ‘ชง’ ในภาษาไทยแง่หนึ่งมีความหมายว่า ‘ทำให้เข้ากัน’ ดังนั้นสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อคือ หากเราเชื่อเรื่อง ‘ปีชง’ อย่างพอดี ชีวิตก็ดีได้หากเราเชื่ออย่างมีสติ 

อ้างอิงงานวิจัยและข้อมูลทางการแพทย์ : การวิเคราะห์มโนทัศน์จิตวิญญาณจิตวิญญาณในระบบสุขภาพสุขภาพจิตของคนไทย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์