ทลายแก๊งค้าน้ำมันเถื่อน ของกลางกว่า 23 ล้านลิตร

24 พ.ย. 2566 - 04:46

  • ตำรวจสอบสวนกลาง ทลายเครือข่ายลักลอบค้า ‘น้ำมันดีเซล’ หรือ ‘น้ำมันเขียว’ ผิดกฎหมาย กว่า 23 ล้านลิตร คิดค่าปรับสูงกว่า 2,700 ล้านบาท

cib-arrests-illegal-oil-trading-gang-more-than-23-million-liters-of-products-seized-SPACEBAR-Hero.jpg

วันนี้ (24 พ.ย.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แถลงผลการดำเนินคดีกับ กลุ่มเครือข่ายลักลอบขนถ่าย ‘น้ำมันดีเซล’ หรือ ‘น้ำมันเขียว’ ไปจำหน่ายนอกราชอาณาจักร

สำหรับของกลางในคดีนี้ พบ ‘น้ำมันเขียว’ กว่า 23 ล้านลิตร และหากคิดค่าปรับตามฐานความผิด ‘ร่วมกันขนถ่ายสินค้าในเขตต่อเนื่องโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ’ อันเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของรวมอากร ในคดีนี้มีค่าปรับสูงกว่า 2,700 ล้านบาท

ส่วนสถานที่ที่ตรวจพบการกระทำผิด คือ บริเวณเขตน่านน้ำ ภายในทะเลอาณาเขต และเขตต่อเนื่องฝั่งอ่าวไทย โดยเจ้าหน้าที่เริ่มสืบสวนคดีนี้ เมื่อช่วงกลางปี 2565 และได้รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ จนนำมาสู่การจับกุมในวันนี้

CIB.png
Photo: ภาพปฏิบัติการทลายแก๊งค้าน้ำมันเถื่อน

โดยพฤติการณ์ของผู้ต้องหากลุ่มนี้ สืบเนื่องจากโครงการจำหน่ายน้ำมันเขียว หรือการจำหน่ายน้ำมันดีเซลให้กับชาวประมงในราคาถูก โดยเป็นน้ำมันดีเซลที่ผลิตมาจากโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตและเงินนำส่งกองทุนต่างๆ ของกระทรวงพลังงาน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 ซึ่งจะทำให้น้ำมันเขียวที่ขายกันอยู่กลางทะเล ( ในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ) มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลที่ขายอยู่บนบก เพื่อให้ต้นทุนการทำประมงถูกลง และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ 

แต่เนื่องจากเกิดปัญหาร้องเรียนว่า มีขบวนการลักลอบนำน้ำมันเขียวที่ได้รับยกเว้นภาษีกลับเข้ามาขนถ่ายและขายในเขตน่านน้ำภายในทะเล อาณาเขตฝั่งอ่าวไทย รวมถึงแอบขนถ่ายให้กับเรือโดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ และเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้น้ำมันบนฝั่งซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นภาษี 

อีกทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มพี่น้องเรือประมงที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ไม่มีน้ำมันเขียวเพียงพอที่จะเติมได้ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จึงได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสวนคดีดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และกรมสรรพสามิต จนสามารถจับกลุ่มเครือข่ายนี้ได้ 

เบื้องต้นจากสอบถามคำให้การผู้ต้องหา ผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่ให้การรับสารภาพ แต่ยังมีบางส่วนที่ให้การปฏิเสธ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์