เตือนภัยนมผงปลอม! เลี่ยนแบบยี่ห้อดัง พบนายจ้างเป็นคนจีน

19 พ.ย. 2567 - 05:08

  • CIB บุกจับเครือข่ายนมผงปลอม เลี่ยนแบบยี่ห้อดัง ‘Ensure Gold’

  • พบ ‘นายจ้างเป็นคนจีน’ หลอกขายผ่านออนไลน์ เปลี่ยนชื่อร้านไปเรื่อยๆ เลี่ยงโดนจับ

  • มีเหยื่อหลงเชื่อจำนวนมาก ตร.แนะซื้อจากแหล่งน่าเชื่อถือ เลี่ยงของถูกเกินจริง

anutin-19-nov-2024-SPACEBAR-Hero (1).jpg

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เปิดเผย ผลการปฏิบัติการทลายเครือข่ายผู้จำหน่ายนมผงยี่ห้อ Ensure gold ปลอม โดยตรวจยึดของกลางได้ จำนวน 13 รายการ รวม 5,370 กระป๋อง มูลค่าความเสียหาย 4,500,000 บาท

สืบเนื่องจากปัจจุบัน มีช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หลายช่องทาง เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย จนการแพร่ระบาดของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอมในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 

กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีมาตรการในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้รับการร้องเรียน และข้อมูลจาก บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายว่าพบการจำหน่าย ผลิตภัณฑ์อาหาร ยี่ห้อ Ensure gold ปลอม ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นจำนวนมาก

S__92733448.jpg
Photo: นมผงปลอม เลี่ยนแบบยี่ห้อ Ensure gold (ภาพการตรวจค้นของ CIB )

โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะหรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ สามารถใช้เป็นอาหารมื้อหลัก หรือเป็นอาหารมื้อเสริม หากซื้อผลิตภัณฑ์ปลอมไปบริโภค อาจทำให้ไม่ได้รับสารอาหารที่แท้จริงตามที่คาดหวัง ได้รับสารอาหารบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง จนส่งผลอันตรายต่อสุขภาพได้ 

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการตรวจสอบพบว่า มีการจําหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร ยี่ห้อ Ensure gold ปลอม กลิ่นวานิลลา บนแพลตฟอร์มออนไลน์โดยใช้ชื่อร้านภาษาจีน ซึ่งโฆษณาจำหน่าย ขนาด 850 กรัม ในราคา 690 บาท (จากราคาปกติจะขายในราคา 1,000 บาทขึ้นไป) จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

S__92733463.jpg
Photo: นมผงปลอม เลี่ยนแบบยี่ห้อ Ensure gold (ภาพการตรวจค้นของ CIB )

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ตํารวจได้นําหมายค้นของศาลจังหวัดนครปฐม เข้าตรวจค้น ในพื้นที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม จำนวน 2 จุด 

  1. สถานที่แพ็คสินค้า เป็นบ้านพักอาศัยใน ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ผลการตรวจค้น พบ นายมนพ(สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นเจ้าของสถานที่ดังกล่าว และ น.ส.วิริยา (สงวนนามสกุล) กำลังทำหน้าที่แพ็คสินค้าเพื่อส่งของให้ลูกค้า และพบผลิตภัณฑ์อาหาร ยี่ห้อ Ensure gold กลิ่น วานิลลา ขนาด 850 กรัมจำนวน 1,535 กระป๋อง และอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวม 9 รายการ 
  2. สถานที่จัดเก็บ เป็นบ้านพักอาศัยใน ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ผลการตรวจค้น พบ นายเฉิน (สัญชาติจีน) แสดงตัวเป็นเจ้าของสถานที่ดังกล่าว พบผลิตภัณฑ์อาหาร ยี่ห้อ Ensure gold กลิ่น วานิลลา ขนาด 850 กรัม จำนวน 3,840 กระป๋อง และอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวม 4 รายการ
S__92733450.jpg
Photo: ภาพการตรวจค้นของ CIB

รวมตรวจค้น 2 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์อาหาร ยี่ห้อ Ensure gold กลิ่น วานิลลาขนาด 850 กรัม จำนวน 5,375 กระป๋อง และอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวม 13 รายการ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 4,500,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี 

โดย น.ส.วิริยา (สงวนนามสกุล) ยอมรับว่า ได้รับการชักชวนให้ทำงาน แพ็ค บรรจุ สินค้า จากคนรู้จัก โดยมีบุคคลสัญชาติจีนชื่อนายหวังเป็นผู้จ้าง และจะโอนเงินค่าจ้างรายเดือน เดือนละ 16,000 บาท หลังจากตกลงทำงานแล้วจะมีผลิตภัณฑ์ Ensure gold ปริมาณหลายกระปุก พร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแพ็คและบรรจุสินค้า มาส่งที่บ้านที่พักอาศัย 

จากนั้น น.ส.วิริยา จะทำงานแพ็คและส่งผลิตภัณฑ์อาหาร Ensure gold ตามออร์เดอร์ที่ส่งมา และนำสินค้าส่งให้แก่ลูกค้า ผ่านบริษัทฯ ขนส่งเอกชน เป็นวันต่อวัน โดยมีวันหยุดทุกวันอาทิตย์รับจ้าง โดยทำมาประมาณ 15 วัน มียอดส่งสินค้าประมาณวันละ 100 – 200 ออร์เดอร์

จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มเครือข่ายดังกล่าวจะโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลอมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเปลี่ยนชื่อร้านไปเรื่อยๆ เพื่อหลบเลี่ยงจาการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ และพบว่ากลุ่มเครือข่ายผู้กระทำผิดมีการลักลอบจัดเก็บสินค้าปลอม กระจายไว้ตามบ้านพักอาศัยของประชาชน

S__92733457.jpg
Photo: ภาพการตรวจค้นของ CIB

โดยให้ชาวจีนที่อาศัยในพื้นที่ หรือมีกิจการในพื้นที่ ชักจูงใจคนในพื้นที่ ที่อยากมีรายได้ด้วยการทำงานที่บ้าน ลักษณะรับจ้างแพ็คสินค้าตามออร์เดอร์ โดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 – 30,000 บาท แล้วจัดส่งสินค้าทางขนส่งเอกชน ซึ่งหลอกหลวงว่าเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย 

อนึ่ง ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พนักงานสอบสวนจะส่งผลิตภัณฑ์ตรวจพิสูจน์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากพบสารต้องห้ามจะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.อาหาร ฐาน “จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 

  1. ฐานจำหน่ายอาหารปลอม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาท ถึงหนึ่งแสนบาท 
  2. ฐานจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
1.jpg
Photo: CIB เผยภาพการเปรียบเทียบของแท้กับของปลอม แนะข้อสังเกตุ ‘ของแท้’ คุณภาพการพิมพ์ของบรรจุภัณฑ์ ‘คมชัดกว่า’

พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. ยังฝากความห่วงใยมายังผู้บริโภค และมีข้อแนะนำว่า 

  • ควรใช้ความระมัดระวัง 
  • อย่าหลงซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านสื่ออนไลน์ เพียงเพราะเห็นแก่ราคาสินค้าที่ถูกกว่าท้องตลาด 
  • ควรเลือกซื้อ จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น อาหารเสริม และยา 
  • อย่าหลงเชื่อข้ออ้างว่า เป็นของแท้นําเข้าจากต่างประเทศ ไม่เสียภาษีจึงราคาถูก 
  • ระลึกไว้เสมอว่าท่านกําลังเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการโฆษณาและได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ
2.jpg
Photo: CIB เผยภาพการเปรียบเทียบของแท้กับของปลอม แนะข้อสังเกตุ ‘ของแท้’ คุณภาพการพิมพ์ของบรรจุภัณฑ์ ‘คมชัดกว่า’

พร้อม เน้นย้ำกับผู้จําหน่ายผลิตภัณฑ์ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ว่า อย่านําสินค้าที่ผิดกฎหมายมาจําหน่าย หรือ หลอกลวงผู้บริโภคโดยเด็ดขาด หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด 

และขอฝากเตือนภัยไปยังประชาชนที่มีผู้ติดต่อให้ทำการแพ็คส่งสินค้า ควรตรวจสอบความถูกต้องของผลิตภัณฑ์ที่ท่านจำหน่าย เพราะท่านอาจกลายเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายได้ 

ทั้งนี้ ผู้ที่พบเห็นการกระทําความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

3.jpg
Photo: CIB เผยภาพการเปรียบเทียบของแท้กับของปลอม แนะข้อสังเกตุ ‘ของแท้’ คุณภาพการพิมพ์ของบรรจุภัณฑ์ ‘คมชัดกว่า’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์