ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุม กมธ. เมื่อวันที่ 24 เม.ย. กรณีการเข้ามาของทุนจีนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ว่า จากที่ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง มีเพียง เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาชี้แจง โดยในที่ประชุมได้พูดถึงการลงทุนศูนย์เหรียญในประเทศไทยโดยเฉพาะใน จ.ระยองเป็นหลัก เพราะเกี่ยวข้องกับธุรกิจศูนย์เหรียญที่กำลังเป็นผลกระทบอยู่ ทั้งการจ้าง การผลิตสินค้าไม่ได้คุณภาพ ส่วนเรื่องกากสารเคมีที่มีการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ มาไว้ใน จ.ระยอง ซึ่งเราได้ถามไปว่ามีการลักลอบจริงหรือไม่ รวมถึงกรณีโรงงาน ซินเคอหยวน ที่ไปพบว่ามีการขนฝุ่นแดงออกมาจากโรงงาน ซึ่งทางรัฐมนตรีได้ส่งทีมไปตรวจสอบ โดยรัฐมนตรี แจ้งว่าต่อให้คำนวณอย่างไรก็ตาม ถ้าเอาฝุ่นแดงทั้งหมดที่มีการผลิต ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่ถูกคำสั่งปิดโรงงาน อย่างไรก็ไม่เกิน 50,000 ตัน แต่ปรากฏว่า ฝุ่นแดงที่เก็บไว้ และสำแดงว่ามีตามเอกสารคือ 2,000 ตัน ปรากฏว่าพบจริง มีจำนวนถึง 60,000 ตัน จึงมีข้อสงสัยว่า มีการลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงมาเก็บหรือไม่
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แจ้งให้กรรมาธิการช่วยตรวจสอบว่า การลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงมีอยู่ตรงจุดไหนบ้าง ซึ่งทางกรรมาธิการก็รับไว้ อย่างไรก็ตาม ในตัวฝุ่นแดงมีข้อสันนิษฐานว่า ราคาต่อตันสูงมาก จึงมีการนำมาใช้มาเป็นหน่วยการแลกเปลี่ยน ในการซื้อขายสินค้าอะไรบางอย่างหรือไม่ ซึ่งทางกรรมาธิการก็ติดตามในประเด็นนี้
ชุติพงศ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการส่งเสริมการลงทุน ที่ทางบีโอไอเปิดให้นักลงทุนประเทศอื่นๆเข้ามานั้น ทางกรรมาธิการได้สอบถามว่ามีความยากแค่ไหนที่จะยกเลิกกับนักลงทุนที่ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนด ซึ่งทางบีโอไอแจ้งว่าการยกเลิก บีโอไอต้องให้หน่วยงานเสนอการยกเลิกมาจากหน่วยงานต้นทาง ถ้าเป็นปัญหาเรื่องการละเมิดสิ่งแวดล้อมก็ต้องให้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งมา ว่ามีการละเมิดกฎหมาย หรือถ้ามีการละเมิดมาตรฐานอุตสาหกรรม ก็ให้กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งมา ซึ่งในกรรมาธิการได้สอบถามว่า นอกจากเชิญมาลงทุนแล้วได้มีการตรวจสอบส่วนอื่นหรือไม่ ทางบีโอไอ ยืนยันว่าได้มีการตรวจสอบ แต่ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากบีโอไอเกี่ยวกับการตรวจสอบบ่อยแค่ไหน
ส่วนเรื่องการยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของโรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า การยกเลิก มอก. ของโรงงานจีนที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่ใช่เรื่องที่ยาก หากพบความผิดจริงก็ไม่มีการละเว้นและจะมีการดำเนินคดีทางปกครองและอาญา นอกจากนั้น สส. ระยอง ยังได้ฝาก เอกนัฏให้ดูเรื่องการเข้ามาของโรงงานจีน ซึ่งเอกนัฏได้ชี้แจงว่า จะส่งทีมสุดซอย ไปร่วมปฎิบัติงาน ซึ่งล่าสุดจะมีการเชิญทีมของรัฐมนตรีไปร่วมลงพื้นที่ ที่จ.ระยองในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ โดยจะลงพื้นที่ร่วมกับ กมธ.ความมั่นคงฯ โดยจะมีการไปดูการก่อสร้าง โรงงานซินเคอหยวน สาขาที่สอง ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ที่เคยถูกระงับก่อสร้าง แต่มีการลักลอบสร้างจนเสร็จ ทั้งที่ทางจังหวัดไม่ได้อนุญาตดังนั้นเราจึงต้องเข้าไปตรวจสอบ นอกจากนั้น เอกนัฎ ยังขอให้กรรมาธิการช่วยผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. จัดการกากอุตสาหกรรม ที่จะเข้าสู่สภาฯ ด้วย
ชุติพงศ์ ยังกล่าวถึงข้อมูลการจัดหางานจังหวัดระยอง ตัวเลขการจ้างงานคนจีน ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่า แรงงานคนจีนในจังหวัดระยองและชลบุรี เบื้องต้นคาดว่ามีประมาณ 20,000 คน แต่การเข้ามาทำงานจะใช้ฟรีวีซ่าหรือวีซ่านักศึกษา แต่ตัวเลข จัดหางานพบว่า มีตัวเลขคนจีนทำงาน 3,367 คน โดยเข้ามาทำงานตามบีโอไอ มาตรา 62 ในการส่งเสริมการลงทุน
โดยมีคนจีน 1,380 คน ทำงานในส่วนจ้างเทคนิค ซึ่งถือว่ามีช่างเทคนิคเกินครึ่งของจำนวนผู้ทำงาน ไม่ใช่วีซ่าของผู้บริหารหรือวีซ่าของคนมีทักษะพิเศษ จึงแจ้งให้กรมจัดหางานจังหวัดระยอง แจ้งข้อมูลว่ามีการมอบวีซ่าในการจัดจ้างงานช่างฝีมือเทคนิคโดยสาเหตุอะไรให้กับโรงงานอะไรบ้าง
“การที่อยู่ๆ จ้างงานคนจีนในฐานะช่างเทคนิค มันอาจจะไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบีโอไอ ที่มีความตั้งใจให้การลงทุนต้องจ้างคนไทยและส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ ถ้าหากการจ้างงานคนไทยเกิดขึ้นน้อย สุดท้ายกลายเป็นจ้างคนจีนเยอะ อย่างเช่นโรงงานซินเคอหยวน ที่มีการสั่งปิดไป มีการจ้างงานคนไทยรวม 2 สาขาแค่ 9.4 % ที่เหลือเป็นแรงงานเอ็มโอยู เมียนมา กัมพูชา ลาว และจีน เยอะกว่าแรงงานคนไทย จึงเกิดคำถามว่า จังหวัดระยอง ได้อะไรจากการส่งเสริมการลงทุนแบบนี้ ได้อะไรจากการลงทุนที่สุดท้ายไม่เห็นการจ้างงานคนไทย เพราะเคสเครนถล่มของซินเคอหยวน ก็ชัดเจนว่าบุคคลที่เสียชีวิต 1 ใน 7 คน เป็นคนจีนเป็นบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมเข้ามาทำงาน มาทำงานฐานะแรงงานทักษะพิเศษ คำถามว่าคนขับเครนขาดแคลนแรงงานในประเทศไทยตั้งแต่ตอนไหน”
ชุติพงษ์ กล่าว
ชุติพงศ์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะติดตามเรื่องการอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย แต่ไม่สมเหตุสมผล และการปล่อยให้บุคคลที่มีวีซ่านักท่องเที่ยว แต่ไม่มีเอกสารการทำงานหรือวีซ่ายังถูกกฎหมายยังคงทำงานอยู่เพราะกระทบเศรษฐกิจประเทศไทย และจะมีการเปิดเผยถึงข้อมูลว่า ขณะนี้มีหลายโรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง มีการประกอบกิจการและผลิต โดยไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงงาน แต่จดทะเบียนเป็นโกดัง จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งเป็นโรงงานข้ามชาติจากจีน
ชุติพงศ์ กล่าวถึงข้อมูลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงต่อกรรมาธิการว่า มีการตรวจเหล็กเส้นที่เก็บมาจากอาคาร สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ซึ่งเหล็กเส้นของบริษัทซินเคอหยวน เป็นเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มิลลิเมตร SD-40T หลังจากมีการตรวจครั้งแรก รัฐมนตรียืนยันว่ากระบวนการตรวจถูกต้องมีมาตรฐาน รวมถึงการสอบถามยกเลิกใช้เตา IF ที่เตาเหล็กไม่ได้มาตรฐาน และเพิกถอนไม่ให้ มอก. ทำให้โรงงานผลิตเตาดังกล่าวต้องย้ายฐานผลิตออกไปทั้งหมด ซึ่งกรรมาธิการไม่ได้ติดขัดในเรื่องนี้ และต้องจับตาดูว่าจะมีการดำเนินการจริงหรือไม่ ซึ่งจะทำให้โรงงานอย่างบริษัทซินเคอหยวน ที่มีมลพิษเยอะ ผลิตเหล็กที่คุมคุณภาพค่อนข้างยาก จะได้ยกเลิกประกอบกิจการหรือปรับไปใช้เตา EAF แทน