‘วัดบางคลาน’ อวสานอย่างไร เมื่อ ‘กม.’ ปล่อยโจรครองวัด?

22 ก.ย. 2566 - 03:10

  • ย้อนชนวนเหตุมหากาพย์ ศึกชิง ‘วัดบางคลาน’ 10 ปี ตีกันเพราะอะไร เหตุใดเรื่องนี้ยังไม่จบทั้งที่ ‘ศาลฎีกา’ มีคำพิพากษาให้ ‘อดีตเจ้าอาวาส’ มอบทรัพย์สินของวัดให้ ‘เจ้าอาวาสองค์ใหม่’ แล้ว และห้าม ‘สว.กิตศักดิ์’ กับพวกยุ่งเกี่ยวกับวัดอีก

  • สงครามข้ามทศวรรษนี้จะจบลงอย่างไร สเปซบาร์ชวนหาคำตอบเชิงวิพากษ์จาก ‘จตุรงค์ จงอาษา’ นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา ที่วิพากษ์อย่างเผ็ดร้อนว่าเป็นเพราะ ‘ความไร้น้ำยาของการบังคับใช้กฎหมาย’ มอง ‘บิ๊กโจ๊ก’ ทำงานนี้ล้มเหลว!

conflict_at_bang_khlan_temple_jaturong_jongarsa_SPACEBAR_Hero_b2878772d3.jpg

มหากาพย์ศึกชิง ‘วัดบางคลาน’ ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 10 ปี กลับมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสังคมอีกครั้ง หลังปรากฎข่าว ‘สว.’ คนดัง ‘กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ’ ถูกศาลจังหวัดพิจิตออกหมายจับเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังพบว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มชายชุดดำที่บุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ‘พระและชาวบ้าน’ ภายในวัดบางคลาน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 66 จนนำมาสู่ศึกเดือดระลองใหม่ โจทย์ใหญ่ประเดิมฝีมือ ‘เจ๊แจ๋น พวงเพ็ชร’ รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ลั่นวาจา ‘ปัญหาวัดบางคลาน’ ต้องจบภายในรัฐบาลนี้

แต่ก่อนจะไปพูดถึงฉากทัศน์บทสุดท้ายของสงครามข้ามทศวรรษ กับนักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา ‘จตุรงค์ จงอาษา’ สเปซบาร์ขอย้อนไทม์ไลน์ชนวนเหตุของศึกนี้ให้คุณผู้อ่านได้ทำความเข้าใจสถานการณ์พร้อมกันอีกครั้ง แต่ถ้าใครมีพื้นฐานเรื่องนี้แล้ว ข้ามไปอ่านข้อเสนอของ ‘อ.จตุรงค์’ ได้เลย

‘วัดบางคลาน’ เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินอย่างไร?

‘วัดหิรัญญาราม’ หรือ ‘วัดบางคลาน’ หรือ ‘วัดหลวงพ่อเงิน’ เดิมมีชื่อว่า ‘วัดวังตะโก’ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บางคลาน อ.โพทะเล จ.พิจิตร ‘วัดบางคลาน’ นับเป็นวัดที่มีชื่อเสียงอย่างมาก โดยเฉพาะในวงการพระเครื่อง เนื่องจากในอดีตเคยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอย่าง ‘หลวงพ่อเงิน’ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำเอกของจังหวัดพิจิตร และเป็นหนึ่งในอาจารย์สำคัญของ ‘เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์’ เป็นเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้มาก่อน 

โดยชื่อเสียงด้านความขลังและพุทธคุณของพระเครื่องและวัตถุมงคลที่ถูกปลุกเสก ณ วัดบางคลาน ได้กลายเป็นแหล่งรายได้มหาศาลของวัดมาจวบจนถึงปัจจุบัน โดยแหล่งข่าวในวงการพระเครื่องเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในวัดบางคลาน ไม่ได้ส่งกระทบต่อราคาพระเครื่องในตลาดเลย โดยเฉพาะพระเครื่องรุ่นแรกที่ปลุกเสกในยุคของ ‘หลวงพ่อเงิน’ ที่ปัจจุบันราคายังคงสูงนับ 10 ล้านบาท

ขณะที่พระเครื่องที่ถูกปลุกเสกในยุคของอดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ ยังคงเป็นที่นิยมและมีราคาตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านบาท แต่พระเครื่องที่ถูกปลุกเสกในยุคของ ‘เจ้าอาวาส’ องค์ปัจจุบัน ไม่ค่อยมีใครเล่นกัน เพราะไม่มีพิธีพุทธาภิเษกอย่างเป็นทางการ อีกทั้งผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อเงิน ก็เดินทางมาวัดไม่สะดวก เนื่องจากวัดกำลังมีข้อพิพาทเรื่องพื้นที่

ชนวนเหตุศึกชิง ‘วัดบางคลาน’

ชนวนเหตุของศึกนี้ถูกจุดขึ้น เมื่อช่วงปี 2539 หลัง ‘พระครูพิบูลธรรมเวท’ หรือ ‘หลวงพ่อเปรื่อง’ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ผู้สร้างวัตถุมงคลจนโด่งดังหลายรุ่น ได้มรณภาพลง ต่อมาทางวัดได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ ‘พระครูวิสิฐสีลาภรณ์’ ขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสแทน นับจากนั้นความขัดแย้งของคนในพื้นที่ก็เริ่มเกิดขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปัญหากันมาก่อน 

ต่อมา ปี 2557 ‘ลุงเชวง’ และ ‘อาจารย์พร’ ซึ่งเป็นผู้ดูแลจัดการเงินของวัดมาตั้งแต่ยุคของ ‘หลวงพ่อเปรื่อง’ ได้ร้องเรียนให้ ‘เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ’ เข้ามาตรวจสอบพฤติกรรมของ ‘พระครูวิสิฐสีลาภรณ์’ หลังพบว่ามีพฤติกรรม ‘บริหารเงินไม่โปร่งใส’ หลายเรื่อง รวมถึง ‘พบความผิดปกติเรื่องการจัดสร้างวัตถุมงคล’ 

หลังคณะกรรมการสงฆ์ดำเนินการตรวจสอบแล้ว ได้มีคำสั่งปลด ‘พระครูวิสิฐสีลาภรณ์’ ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางคลาน พร้อมแต่งตั้งให้ ‘พระครูพิสุทธิวรากร’ ขึ้นมาเป็นรักษาการเจ้าอาวาส และมอบหมายให้เข้าไปตรวจสอบเงินบริจาคและศาสนสมบัติของวัดบางคลาน แต่ชาวบ้านเสียงแตก แบ่งความเห็นออกเป็น 2 ฝ่าย

ชาวบ้านกลุ่มแรกไม่ไว้ใจ ‘พระครูพิสุทธิวรากร’ ที่เป็นรักษาการเจ้าอาวาส เพราะเห็นว่ามีพฤติกรรมไม่โปร่งใส่เรื่องเงินเช่นกัน และต่อมาชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ดึง ‘กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ’ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้ามาร่วมกลุ่มด้วย ขณะที่ชาวบ้านอีกกลุ่มต้องการให้รักษาการเจ้าอาวาสเข้ามาตรวจสอบทรัพย์สินของวัด จนนำมาสู่การฟ้องร้องกันในชั้นศาลกว่า 40 คดี 

ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่บานปลายถึงขั้นที่ ‘สว.กิตติศักดิ์’ นำชาวบ้านกว่า 100 คนมาชุมนุมปิดวัด ไม่ยอมให้บุคคลอื่นเข้าออกพื้นที่โดยอิสระ ทั้งยึดครองควบคุมและกันพื้นที่บางส่วน เช่น กุฏิอดีตเจ้าอาวาส วิหารหลวงพ่อเงิน ในช่วงต้นเดือน ต.ค. 61 ซึ่งต่อมา ‘ศาลยุติธรรมจังหวัดพิจิตร’ มีคำพิพากษา ห้าม ‘สว.กิตติศักดิ์’ กับพวกรวม 11 คน ยุ่งเกี่ยวกับวัดบางคลาน ห้ามสั่งขนย้ายสิ่งของ-บริวาร และห้ามชุมนุมในวัด

วันที่ 27 พ.ย. ปี 2561 ศาลจังหวัดพิจิตร ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีแพ่งระหว่าง ‘พระครูพิสุทธิวรากร’ รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ที่เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ‘พระครูวิสิฐสีลาภรณ์’ อดีตเจ้าอาวาส พร้อมทั้งลูกศิษย์และอดีตกรรมการวัดรวมที่ต่อต้านและขัดขวาง ไม่ให้รักษาการเจ้าอาวาสเข้าตรวจสอบทรัพย์สิน และปฏิบัติหน้าที่ จนเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นภายในวัด

โดย ‘ศาลฎีกา’ มีคำสั่ง ห้ามอดีตเจ้าอาวาส , ไวยาวัจกร และคณะกรรมการวัดที่ถูกฟ้องในคดีนี้ ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของวัด ห้ามขัดขวางการดำเนินงานกิจการของวัด ห้ามเปิดตู้บริจาค รวมถึงต้องส่งมอบสมุดบัญชีรายรับ-รายจ่ายในวัดตามหลักวิธีปฏิบัติ แต่อดีตเจ้าอาวาสและพวกไม่ยอมปฏิบัติตาม

ปี 2565 มีการปิดล้อมยึดวัดบางคลานยาวนาน 3-4 เดือน กระทั้งวันที่ 24 มิ.ย.65 ‘พระครูวิสิฐสีลาภรณ์’ ได้มรณภาพลง 

วันที่ 22 ส.ค. 2566 ‘พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล’ หรือ ‘บิ๊กโจ๊ก’ รองผบ.ตร. นำคณะจากส่วนกลาง เข้าตรวจสอบทรัพย์สินวัดบางคลาน เพื่อเป็นสักขีพยานในการบังคับคดีตามคำสั่งศาลฎีกา ที่ให้อดีตเจ้าอาวาสที่มรณภาพไปแล้วกับพวก มอบทรัพย์สิน จำนวน 161 รายการ ให้กับทาง ‘พระครูพิสุทธิวรากรณ์’ เจ้าอาวาสวัดบางคลานองค์ปัจจุบัน โดยมี  ‘สว.กิตติศักดิ์’ ร่วมต้อนรับคณะของ ‘พล.ต.อ.สุรเชษฐ์’ ในวันนั้นด้วย 

แต่เรื่องยังไม่จบ ‘สว.กิตติศักดิ์’ และพวกยังคงยึดครองวัด และห้ามไม่ให้ ‘พระครูพิสุทธิวรากร’ เจ้าอาวาสวัดบางคลาน เข้ามาปฎิบัติหน้าที่ในวัด กระทั้งมีข่าวขึ้นมาอีกครั้งว่า ‘สว.กิตติศักดิ์’ ถูกศาลออกหมายจับเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังพบว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มชายชุดดำที่บุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ‘พระและชาวบ้าน’ ภายในวัดบางคลาน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 66 และล่าสุดมีการแชร์คลิปที่ ‘สว.กิตติศักดิ์’ กำลังยืนปะทะคารมกับ ‘พระครูพิสุทธิวรากร’ อยู่บริเวณหน้าวัดบางคลานอย่างดุเดือด เนื่องจาก  ‘สว.กิตติศักดิ์’ ไม่ต้องการให้ ‘พระครูพิสุทธิวรากร’ เข้าไปในวัด 

ปัญหา ‘วัดบางคลาน’ เป็นเรื่อง ‘ความไร้น้ำยาของการบังคับใช้กฎหมาย’ ?

ปัญหาที่เกิดขึ้น ‘จตุรงค์ จงอาษา’ นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา วิจารณ์เรื่องนี้ให้ผู้เขียนฟังอย่างเผ็ดร้อนว่า ตอนนี้ปัญหาของวัดบางคลานไม่ใช่เรื่องศาสนาอีกต่อไป แต่ปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องคนไม่เคารพคำสั่งศาล และปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง

“ มันมีคนบางกลุ่ม และคงไม่ต้องพูดถึงแล้วนะว่ามันคือ ‘สว.กิตติศักดิ์’ เป็นคนที่ละเมิดอำนาจศาล ไม่เคารพคำสั่งศาล ศาลสั่งห้ามยุ่งกับวัดก็ยังไปยุ่ง ศาลสั่งห้ามเข้าก็ยังจะเข้า ศาลสั่งให้นำพวกและบริวารออกก็ไม่ออก ศาลสั่งห้ามเจ้ากี้เจ้าการก็ไปล็อคประตูวัด ถามว่าคนพวกนี้เห็นศาลเป็นอะไร ” 

อีกปัญหาคือคนที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ก็ไม่ยอมบังคับใช้กฎหมาย และส่วนตัวรู้สึกผิดหวังกับการทำงานของ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ที่ทำงานนี้ล้มเหลว หลังปรากฎภาพว่าเขาไปเดินคู่กับ ‘สว.กิตติศักดิ์’ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่ศาลฎีกามีคำสั่งที่ชัดเจนอยู่แล้ว

“ ผมไม่เถียงนะว่า ‘บิ๊กโจ๊ก’ ทำคดีอื่นสุดยอด แต่คดีนี้ต้องยอมรับความจริงครับ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ล้มเหลว ‘บิ๊กโจ๊ก’ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามอำนาจศาลได้ ต้องถาม ‘บิ๊กโจ๊ก’ กลับว่า ‘บิ๊กโจ๊ก’ เห็นประธานศาลฎีกา เป็นหัวหลักหัวต่อเหรอ เห็นตุลาการเป็นหัวหลักหัวต่อเหรอ ในเมื่อมีคำสั่งออกมาแล้ว ‘บิ๊กโจ๊ก’ จัดการไม่ได้ ” 

รวมถึงไม่เชื่อว่า ‘พวงเพ็ชร ชุนละเอียด’ รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรีคนใหม่ ที่เข้ามากำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ เพราะถ้าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแก้ได้จริง คงแก้ได้ไปนานแล้ว 

“ ผมไม่เชื่อน้ำยารัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี ผม ปะ ฉะ ดะ กับรัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมาหลายคนแล้ว คนพวกนี้มาตามอำนาจการเมืองเสร็จแล้วก็ไป ไม่มีใครอยู่เพื่อมาช่วยดูแลพระจริงๆ พระต้องแก้ปัญหาตัวเอง นี่แหละปัญหา ”

ชู 3 โมเดลยุติสงครามบางคลาน

สำหรับทางออกของปัญหานี้ ‘จตุรงค์’ เสนอ 3 โมเดล ‘Endgame’ บางคลาน โมเดลที่ 1 ‘จิรภพโมเดล’ คือ ให้ ‘พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช’ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่เคยมีผลงานไปตามยึดเงิน จำนวน 63 ล้านบาท คืนให้ ‘หลวงพ่อพัฒน์’ เจ้าอาวาสวัดห้วยด้วน จ.นครสวรรค์ หลังถูกแก๊งไวยาวัจกรวัดยักย้ายเงินเข้าบัญชีตัวเอง 

โมเดลที่ 2 ‘แม่ทัพภาค 4 โมเดล’ คือ ให้ ‘แม่ทัพภาค 3’ ที่ดูแลพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด (รวมถึงจังหวัดพิจิตร) ไปดูแนวทางการทำงานของ ‘แม่ทัพภาค 4’ ที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้ ว่าปกป้องวัดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อย่างไร ไม่ให้โจรมายึดวัดได้ ดังนั้น ‘แม่ทัพภาค 3’ ที่มีหน้าที่สนองงานตุลาการควรไปศึกษาเรื่องนี้แล้วนำมาใช้แก้ปัญหาที่วัดบางคลาน เพื่อให้วัดกลับสู่ความปกติสุขได้ 

โมเดลที่ 3 ‘การปราบทุจริตด่านมอเตอร์เวย์ทับช้าง ช่วงปี 45’ สำหรับโมเดลนี้ เป็นการยกเหตุการณ์การทุจริตการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง บริเวณด่านมอเตอร์เวย์ทับช้าง ช่วงปี 45 โดยขณะนั้นแม้ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะนำคำสั่งศาลที่เป็นหมายไล่ ‘เจ้าหน้าที่’ ที่ทุจริตตรงด่านเก็บเงินให้ออกไป แต่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็ไม่ยอมออก เป็นเหตุให้กระทรวงคมนาคม ต้องไปสนธิกำลังกับกระทรวงกลาโหม เพื่อนำกำลังทหารมาเก็บเงินที่ด่านแทน พร้อมกับมีทหารอีก 1 คน มายืนคุมด่านแต่ละช่อง เพื่อพิสูจน์ว่าใน 1 เดือน เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้โกงเงินไปเท่าไหร่ 

บทสรุป ‘Endgame’ บางคลาน อวสานอย่างไร?

‘จตุรงค์’ ย้ำว่าในมุมมองของเขาฉากจบของปัญหาเรื่องนี้ คงเป็น 1 ใน 3 โมเดลข้างต้นเท่านั้น ที่สำคัญไม่ว่าจะจบอย่างไรก็ตาม ‘ต้องจบที่คนเคารพคำสั่งศาล’ และ ‘มีคนบังคับใช้กฎหมายให้ได้’ แต่ปัญหาตอนนี้ยังไม่มีใครบังคับใช้กฎหมายได้ พร้อมย้ำอีกครั้งว่าเรื่องนี้ไม่มีคำว่าสมานฉันท์กับโจร

ท้ายที่สุดแล้ว มหาศึกชิง ‘วัดบางคลาน’ จะจบลงอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป แต่สิ่งที่แน่ชัดตอนนี้ คือตลอดระยะกว่า 1 ทศวรรษที่วัดแห่งศรัทธา กลายเป็น ‘สนามรบ’ หากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจยังบังคับใช้กฎหมายกับคนผิดไม่ได้ ความยืดเยื้อที่เกิดขึ้น คงเรียกได้ว่าเป็นสงครามที่ไม่มีผู้ชนะ และคงมีแต่ผู้แพ้ด้วยกันทั้งสิ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์