จังหวัดตรังเป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ที่หน่วยงานภาครัฐจัดงบประมาณสำหรับการก่อสร้าง พบการทิ้งงานจากผู้รับจ้างที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ เป็นจำนวนถึง 23 โครงการ วงเงินงบประมาณ 2,496 ล้านบาท

บัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จังหวัดตรัง มีโครงการทิ้งร้างทั้งหมดจำนวน 23 โครงการ วงเงินงบประมาณ 2,496 ล้านบาท ป.ป.ช.ลงพื้นที่และดูข้อมูลว่าพื้นที่ใดใครเป็นคนรับผิดชอบ และดำเนินการอย่างไร หากตรวจพบความผิดปกติในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
กรณีที่ ป.ป.ช.พบว่ามีการทิ้งร้าง หรือกรณีใดที่ไม่อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช.ก็จะประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปดำเนินการ เพื่อให้ใช้งานได้ ถ้าโครงการใดปรากฏว่าทุจริต การแสวงหาประโยชน์ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย ใน 23 โครงการนี้ ตอนนี้ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ทุจริต
— บัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง

ขณะนี้เรากำลังหาสาเหตุว่า ทำไมถึงใช้ประโยชน์ไม่ได้ และปล่อยให้มีการทิ้งร้าง ที่เป็นแนวทางเริ่มต้นที่ต้องทำอยู่ อย่างไรก็ตาม แนวทางของเรามีอยู่ว่า หากพบมีการทิ้งร้าง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหา ใช้ประโยชน์ได้ ก็ถือว่าจบในส่วนของเรา หากกรณีใดเป็นการทุจริตก็จะเข้าไปดำเนินการ กรณีเรื่องของการรับเหมาช่วง จะนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในทางพิจารณาคดีด้วย แต่ไม่ได้บอกว่ามีการทุจริต
— บัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง

ซึ่งจะเห็นได้ว่า 23 โครงการนี้ เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ จะต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด เช่น ศึกษาความเป็นไปได้ สร้างขึ้นมาแล้วได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ ได้พบปะกับหน่วยงานราชการต่างๆ ก็พูดกันเช่นนี้ ต่างมีความเห็นว่า ทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาเช่นนี้อีก เพราะจังหวัดตรังถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีโครงการทิ้งร้างเป็นจำนวนมาก
— บัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง

ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง กล่าวอีกว่า กรณีทิ้งงานโครงการก่อสร้างอาคารสนามบินตรัง ป.ป.ช.ได้ลงพื้นที่ไปหลายครั้ง ซึ่งได้ข้อมูลในขณะนั้นว่า ผู้รับจ้างขาดสภาพคล่อง อยู่ระหว่างกู้ยืมเงินเพื่อมาดำเนินการให้แล้วเสร็จ และได้ทราบภายหลังว่ากู้ยืมเงินไม่ผ่าน ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการหาผู้รับจ้างใหม่
ทุกโครงการ ป.ป.ช.ได้สอบสวนเพื่อหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับประโยชน์หรือไม่ แต่ยังหาหลักฐานไม่ได้ และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐาน แต่ตามแนวทางงานป้องกัน ก็ติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งให้ความสำคัญหมดทุกโครงการ ไม่ว่างบประมาณจะมากจะน้อยก็ถือว่าเป็นงบประมาณแผ่นดินที่เราต้องรักษา
— บัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง

ส่วนประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีช่องโหว่ของระบบ e-bidding บริษัทที่ติดแบล็คลิสต์ (Blacklist) มีการเปลี่ยนชื่อห้างหรือเปลี่ยนชื่อบริษัท เรื่องนี้มีภาคประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับ ป.ป.ช.ตรัง เป็นอย่างมาก
ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง กล่าวอีกว่า นอกจากโครงการที่ทิ้งร้าง ตอนนี้ยังมีข้อมูลว่าโรงเรียนเอกชนบางแห่ง มีการยักยอกเงินของรัฐทำให้รัฐเสียหาย ป.ป.ช.ตรัง อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ที่ผ่านมานัดประชุมโดยมีศึกษาธิการจังหวัดตรังและโรงเรียนเอกชนร่วมด้วย ซึ่งได้กำชับและให้แนวทางการดำเนินการไปแล้ว
โครงการที่ตรวจสอบ คือ ท่าเรือบ้านนาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง, ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด กิจ หลีกภัย นายก อบจ.ตรัง ขณะนั้นไปแล้ว ในกรณีซื้อที่ดินแพง

ขณะที่ จิระศักดิ์ ควนจันทร์ เลขานุการเครือข่ายชมรมเสียงประชาชน กล่าวว่า จะแยกโครงการสร้างหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดตรัง ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรกทิ้งงาน กลุ่มสองงานล่าช้า ทั้ง 2 กลุ่มสร้างความเสียหายต่อรัฐและประชาชนผู้ใช้บริการเป็นอันมาก
โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลตรัง ได้รับงบประมาณเมื่อปี 2555 จำนวน 418 ล้านบาท ซึ่ง 13 ปีแล้วยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ถือว่าเป็นปัญหามาก ซึ่งอาคารผู้ป่วยนอกหลังปัจจุบัน รองรับได้ผู้ป่วยวันละ 500 คน แต่ทุกวันนี้ มีผู้ป่วยเข้าใช้บริการวันละ 2,000-3,000 คน มีความแออัดเป็นอย่างมาก การบริการทางสาธารณสุขที่ไม่มีคุณภาพเป็นความเสี่ยงให้ผู้ป่วยเสียชีวิต และเสียสุขภาพจิตสูงมาก

เครือข่ายชุมนุมเสียงประชาชน ติดตามเรื่องนี้อย่างเข้มข้น สอบถามไปยังผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง เพื่อขอข้อมูล และได้เดินทางไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ข้อมูลว่าโครงการก่อสร้างโรงพยาบาล 13 ปีแล้วยังไม่แล้วเสร็จ มีผู้รับเหมาทิ้งงานไป 3 รายแล้วและรัฐมนตรีได้แจ้งให้โรงพยาบาลตรังดำเนินการต่อ
สุดท้ายได้ประกาศจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินงบประมาณ จำนวน 285 ล้านบาท แต่ได้ผู้รับเหมาเป็นบริษัทกิจการร่วมค้า เอ็มดีเอส จำกัด ประมูลไปในงบประมาณ 279 ล้านบาท ซึ่งเป็นผู้รับเหมาที่เสนอราคาต่ำสุด คาดว่าจะทำสัญญาภายในวันที่ 30 ธันวาคมนี้
อยากให้ประชาชนช่วยกันติดตามเรื่องนี้ เพราะหากสร้างไม่เสร็จอีก รายนี้ก็จะกลายเป็นผู้รับเหมารายที่ 4 แล้ว ซึ่งได้คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ท่านบอกว่าหากรอบที่ 4 นี้ยังไม่แล้วเสร็จอีก ก็จะปรึกษากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดซื้อจัดจ้างเป็นกรณีพิเศษ หาผู้รับจ้างที่มีความพร้อมมีทุน ซึ่งหากสร้างเสร็จในรอบที่ 4 นี้จะดีมาก
— จิระศักดิ์ ควนจันทร์ เลขานุการเครือข่ายชมรมเสียงประชาชน

ส่วนอีกโครงการก่อสร้าง คือ อาคารเรียนของโรงเรียนเทศบาล 2 (วัดกะพังสุรินทร์) งบประมาณจำนวน 72 ล้านบาท จิระศักดิ์ ระบุว่า โครงการนี้ผู้รับเหมาทิ้งงานตั้งแต่งวดแรกๆ ซึ่งจริงๆแล้วโครงการนี้สร้างเมื่อปี 2564 จะแล้วเสร็จปี 2565 แต่จนถึงปัจจุบันนี้อาคารยังถูกทิ้งร้าง
โครงการนี้กระทบกับนักเรียนโรงเรียน จะขยายชั้นเรียนก็ทำไม่ได้ จะเพิ่มนักเรียนในพื้นที่บริการเทศบาลนครตรังก็ทำไม่ได้ เพราะอาคารเรียนยังสร้างไม่แล้วเสร็จ วงเงิน 72 ล้านบาท ไม่ใช่น้อยๆ เราอยากให้นายกเทศมนตรีนครตรัง ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มาก เนื่องจากการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคน ซึ่งเมืองไหนที่เน้นแต่พัฒนาสิ่งปลูกสร้าง ไม่พัฒนาคน ก็จะเป็นเมืองที่หายนะในที่สุด
— จิระศักดิ์ ควนจันทร์ เลขานุการเครือข่ายชมรมเสียงประชาชน

เลขานุการเครือข่ายชมรมเสียงประชาชน ยังบอกอีกว่า ในส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเทศบาลนครตรัง ถนนรักษ์จันทร์ ก็มีการทิ้งงานในวงเงินงบประมาณ 34 ล้านบาท โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพฯสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เพื่อลดความแออัดที่โรงพยาบาลตรัง ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครตรัง ต้องไปใช้บริการที่โรงพยาบาลตรังซึ่งก็แออัดอยู่แล้ว

นอกจากนี้ เครือข่ายเสียงประชาชน เห็นว่าโครงการสนามบินตรัง วงเงินจ้างเหมาก่อสร้าง 1,068 ล้านบาท โดยบริษัทพอร์ตแอนด์มารีน ประมูลทำการก่อสร้างมา 58 งวดงาน ก็จะครบสัญญาปรากฏว่าบริษัทมาทิ้งงานในงวดที่ 58 มีวงเงินเหลือเพียงแค่ 34 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งมองว่าวงเงินพันกว่าล้านงานเหลือเงิน 34 ล้านบาท น่าจะเป็นเรื่องที่มีปัญหา ทางชมรมจึงเดินทางไปยื่นเรื่องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
เราได้ยื่นข้อเสนอไป 3 ข้อ คือ 1.ให้ยกเลิกสัญญาโดยทันที, 2.ต้องมีการตรวจสอบการตรวจรับงานทั้ง 57 งวด ที่ผ่านมาว่าถูกต้องโปร่งใสหรือไม่, 3.เร่งรัดให้มีการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งเครือข่ายได้พูดคุยกับวิศวะและสถาปนิกของเครือข่าย ซึ่งระบุว่ามีความผิดปกติ แสดงให้เห็นว่า เทคนิคในการตรวจรับที่ผ่านมาไม่ปกติ ทางเครือข่ายได้พูดกับรัฐมนตรีว่า หากล่าช้าจะเกิดปัญหาทรัพย์สินสูญหายแน่นอน แล้วเรื่องก็เกิดขึ้นจริง โจรเข้าไปลักทรัพย์ในอาคาร น่าจะเพื่อเป็นการทำลายหลักฐาน เชื่อว่ามีกระบวนการทำให้ของสูญหาย
— จิระศักดิ์ ควนจันทร์ เลขานุการเครือข่ายชมรมเสียงประชาชน

ในการตรวจรับงานผิดปกติ ไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น ต้องมีการซ่อนอะไรบางอย่างไว้ ที่เป็นก็สงสัยของเครือข่ายเสียงประชาชน ไม่ได้เป็นการกล่าวหาแต่อย่างใด อีกอย่างหนึ่งที่ผิดปกติคือปล่อยให้มีค่าปรับเกิดขึ้นเกือบ 200 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าหลักประกันที่มีอยู่ 50 ล้านบาท แล้วยังมีการแถลงข่าวกันว่า ได้ประสานผู้รับเหมาแล้วว่า จะมีการมาก่อสร้างต่อ อันนี้จึงเป็นจริงได้ยาก ซึ่งหากทำต่อเขาจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท นอกจากนี้แล้ว บริษัทยังมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่องด้วย จึงขอเสนอให้ยกเลิกสัญญาในทันทีเพื่อให้โครงการได้เดินหน้าต่อ
— จิระศักดิ์ ควนจันทร์ เลขานุการเครือข่ายชมรมเสียงประชาชน
จิระศักดิ์ ปิดท้ายอีกว่า โครงการก่อสร้างจตุรัสเมืองตรัง บริเวณหอนาฬิกา ชมรมเครือข่ายเสียงประชาชนเป็นห่วงตั้งแต่เริ่มโครงการ เพราะเห็นว่างบประมาณ 43 ล้านบาท และทำสัญญาจ้าง 700 วัน เท่ากับวงเงินกว่า 678 ล้านบาท ของโครงการก่อสร้างสนามบินตรัง คือ ลานจอดเครื่องบินสามารถจอดเครื่องบินโบอิ้ง 10 ลำพร้อมกัน
ตอนนี้ลานจอดก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่จัตุรัสเมืองตรัง ยังสร้างไม่เสร็จ ครบสัญญาไปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่มีการขยายสัญญาไปอีก 121 วัน โดยจะแล้วเสร็จในวันที่ 28 มีนาคม 2568 ถือเป็นโครงการก่อสร้างที่ล่าช้ามาก และกังวลว่าไม่น่าจะแล้วเสร็จตามกำหนด