69 ปี หะยีสุหลง (ตอนที่ 3): “ข้าพเจ้าสุดที่จะอดทนต่อความเจ็บช้ำ” จดหมาย ‘ความในใจ’ ที่กลายเป็น ‘ข้อกล่าวหา’

4 ส.ค. 2566 - 09:18

  • หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 โดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ มีความพยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

  • ตนกูมูฮัยยิดดิน ลูกชายอดีตเจ้าเมืองปาตานี ได้รับเชิญมาร่วมเจรจากับรัฐบาลที่กรุงเทพฯ หะยีสุหลงจึงร่างจดหมายฉบับหนึ่งฝากไปถึงเขา

  • “ขอเรียนให้ท่านตนกูได้ทราบว่า ข้าพเจ้าสุดที่จะอดทนต่อความเจ็บช้ำ...” ข้อความในจดหมายเผยให้เห็นความในใจ แต่ไม่มีนัยใดบ่งชี้ถึงการแบ่งแยกดินแดน

contributor-bamboo-leaves-haji-sulong-03-SPACEBAR-Thumbnail
ตอนที่ผ่านมา (69 ปี หะยีสุหลง (ตอนที่ 2): ข้อเสนอ 7 ประการ ต้นตอการหายตัวของหะยีสุหลง) เป็นเรื่องราวของข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลง ที่ต่อมากลายเป็นข้อเรียกร้องที่ถูกกล่าวหาว่ามีเจตนาที่จะ 'แบ่งแยกดินแดน' จนนำไปสู่การดำเนินคดีหะยีสุหลงในเวลาต่อมา 

แต่ความเป็นจริงของบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีการค้นคว้าอย่างละเอียดในหนังสือชื่อ ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู ซึ่งเขียนโดยอารีฟีน บินจิ, อับดุลลอฮ และซูฮัยมีย์  อิสมาแอล มีความยาวเกือบ 600 หน้า กลับพบข้อมูลที่มากกว่านั้น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4HQ4Cv01MDVFtVsKk1n9dZ/535a5fa115d166a3933ec757eb653a59/contributor-bamboo-leaves-haji-sulong-03-SPACEBAR-Photo01
Photo: หนังสือ ‘ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู’
บันทึกประวัติศาสตร์ฉบับนี้ระบุว่า ข้อหาแบ่งแยกดินแดนของหะยีสุหลง เกิดจากความพยายามในการสร้างหลักฐานเพื่อเอาผิดหะยีสุหลง และมีการโยงใยให้เห็นว่า หะยีสุหลงมีความพยายามที่จะชักจูงให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ 

โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ บาร์บารา โจนส์  ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะ สเตรทไทม์ ในสิงคโปร์เดินทางเข้ามาทำข่าวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งครั้งนั้น บาร์บารา โจนส์ ได้ส่งโทรเลขถึงหะยีสุหลงขอให้เป็นผู้ไปรับเธอที่สถานีรถไฟโคกโพธิ์  จังหวัดปัตตานี โดยโจนส์ได้ตระเวณทำข่าวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ถึง 2 คืน และก่อนกลับก็ได้ขอบันทึกภาพร่วมกับหะยีสุหลงและพวกไว้เป็นที่ระลึก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1uP8P0jozW6h9zaHxWY6FD/b8dc9fed07929e2b74341e1dd8c774d0/contributor-bamboo-leaves-haji-sulong-03-SPACEBAR-Photo02
Photo: บทความของ บาร์บารา โจนส์ ในหนังสือพิมพ์ เดอะ สเตรทไทม์ สิงคโปร์
ต่อมาภาพถ่ายภาพนี้ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่ทางการอ้างว่าหะยีสุหลงติดต่อกับชาวต่างชาติ เพื่อร่วมกันเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทย ทั้งที่ในหนังสือ ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู ได้อ้างถึงหนังสือของนายเฉลิมเกียรติ  ขุนทองเพชร เรื่องการต่อต้านนโยบายรัฐบาลที่บันทึกการเดินทางเข้ามาทำข่าวของบาร์บารา โจนส์อย่างละเอียดว่า มีที่มาที่ไม่ได้เกิดจากการเชื้อเชิญ หรือจากเจตนารมณ์ของหะยีสุหลงแม้แต่น้อย 

ตรงกันข้าม บาร์บารา โจนส์ เดินทางมาทำข่าวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยการชักนำของตนกูมูฮัยยิดดิน ซึ่งเป็นบุตรของตนกู อับดุลกอเดร์ อดีตเจ้าเมืองปาตานี และมีความใฝ่ฝันตลอดเวลาว่า รัฐบาลอังกฤษจะสนับสนุนให้สืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองปาตานีเหมือนพ่อ และขณะนั้นตนกูมูฮัยยิดดินอาศัยอยู่ในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย 

ส่วนหะยีสุหลงไปต้อนรับ บาร์บารา โจนส์ ในฐานะเจ้าบ้าน และยังพยายามที่จะประสานให้โจนส์ได้พบกับนายวิเวก จันทวงศ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานีด้วยซ้ำ แต่นายวิเวกติดราชการ จึงทำให้คลาดกับบาร์บารา โจนส์ 

มูลเหตุสำคัญที่การเข้ามาของบาร์บารา โจนส์ สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลไทย ที่ต่อมากลายเป็นประเด็นที่หะยีสุหลงถูกตั้งข้อหาว่า พยายามแบ่งแยกดินแดน โดยร่วมมือกับต่างชาติ เกิดจากบทความของ บาร์บารา โจนส์ ที่ตีพิมพ์ต่อเนื่องกันถึง 3 วัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3lD0SdkrZaYvX2JbLKm2ET/06f7bc68b7bae1113d54437c1d1f139e/contributor-bamboo-leaves-haji-sulong-03-SPACEBAR-Photo03
Photo: หนังสือพิมพ์ เดอะ สเตรท ไทม์ สิงคโปร์ ฉบับวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2490 ในหน้า 8 ตีพิมพ์บทความของ บาร์บารา โจนส์ (eresources.nlb.gov.sg)
เริ่มจากวันที่ 3 พฤศจิกายน 2490 ในหนังสือพิมพ์ เดอะ สเตรทไทม์ สิงคโปร์ ซึ่งมุ่งเน้นการโจมตีข้าราชการไทยที่กดขี่ข่มเหงชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ และพยายามทำให้เห็นว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายที่กลืนชาติมลายู จนชาวปาตานีกำลังจะลุกขึ้นกอบกู้เอกราช ที่นำโดยตนกูมูฮัยยิดดิน 

ทั้งที่วัตถุประสงค์ในการติดต่อกันระหว่างหะยีสุหลง และตนกูมูฮัยยิดดินนั้น เป็นไปเพียงแค่หะยีสุหลงขอให้ตนกูมูฮัยยิดดินช่วยเป็นปากเป็นเสียงในการเรียกร้องความเป็นธรรม และเป็นตัวแทนในการเจรจาข้อเสนอ 7 ข้อกับรัฐบาลไทยเท่านั้น 

หลังการรัฐประหารโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมือง และข้าราชการในพื้นที่ปัตตานี และรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ในครั้งนั้นได้พยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเลือกที่จะเชิญตนกูมูฮัยยิดดินมาร่วมเจรจาที่กรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อหะยีสุหลงทราบข้อมูล จึงได้เดินทางไปพบกับตนกูมูฮัยยิดดินที่เมืองกลันตัน เพื่อขอการยืนยันว่า ตนกูมูฮัยยิดดินจะเดินทางไปพบกับตัวแทนของรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ จริง 

หลังได้รับการยืนยันจากตนกูมูฮัยยิดดิน หะยีสุหลงจึงกลับมาปัตตานี และร่างจดหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งลงวันที่ 5 มกราคม 2491 และมอบให้หะยีอับดุลเลาะ อาวัง เลขานุการกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดภาษามลายู เพื่อเตรียมมอบให้กับตนกูมูฮัยยิดดินไปเป็นตัวแทนเจรจากับรัฐบาลไทย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1Dlw39HnVR5iYr6jadk9Bg/355d2ccb7d024143e43ea30fc35c78a5/contributor-bamboo-leaves-haji-sulong-03-SPACEBAR-Photo04
Photo: หะยีสุหลง
หนังสือฉบับนี้แปลเป็นภาษาไทยว่า... 

“ข้าพเจ้า และชาวมลายูนับถือศาสนาอิสลามที่อยู่ภายใต้การปกครองของสยาม ขอเรียนให้ท่านตนกูได้ทราบว่า ข้าพเจ้าสุดที่จะอดทนต่อความเจ็บช้ำ จากการทารุณกรรม การกดขี่ รวมทั้งสิทธิเสรีภาพต่างๆ ก็ถูกจำกัดลิดรอนจากรัฐบาลสยาม และเจ้าหน้าที่”

“แท้จริงแล้วข้าพเจ้าได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งต่อรัฐบาลสยาม และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล โดยข้าพเจ้าได้แจ้งสิทธิอันพึงได้รับตามสิทธิมนุษยชน แต่ข้าพเจ้าไม่เคยได้รับคำตอบใดจากพวกเขา” 

“พร้อมด้วยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้าจึงขอมอบอำนาจทั้งหลายและสิทธิโดยชอบให้ท่านที่จะดำเนินการในทางที่สมควร โดยหวังว่าพวกเราจะได้รับผลตอบแทนที่ดีเสมอเหมือนกับประชากรอื่นๆ บนโลกนี้ที่จะได้รับสิทธิเสรีภาพ ความสัมพันธ์ที่ดี ได้รับการยอมรับในความเป็นชนชาติมลายู และศาสนาอิสลามที่บริสุทธิ์ (และกำลังจะแปดเปื้อน) ด้วยความคาดหวังที่ยิ่งใหญ่ที่ข้าพเจ้ามีความไว้วางใจต่อท่าน โดยการลงชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยขอมอบให้ท่านและเรียนเชิญท่านได้โปรดเป็นตัวแทนของพวกเราดังกล่าวมาแล้วข้างต้น” 

จดหมายฉบับนี้หะยีสุหลงได้มอบหมายให้พรรคพวกอีก 3 คน กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ชาวมลายูในปัตตานีร่วมกันลงนาม ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญที่นำมาสู่การจับตัวหะยีสุหลงและพวกรวม 5 คน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2491 และนำส่งอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช 

โดยทั้งหมดถูกยื่นฟ้องฐานความผิด 3 ข้อหาคือ 
1. ร่วมสมคบกันตระเตรียมการและคิดการที่จะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองภายในราชอาณาจักรใน 4 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล 
2. ร่วมกันตระเตรียมกระทำการเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป 
และข้อหาสุดท้าย 3. ร่วมสมคบกันตระเตรียมกระทำการเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก 

ทั้งที่เนื้อหาในจดหมายทั้งหมด ไม่มีแม้แต่ข้อความเดียวที่ขอให้ตนกูมูฮัยยิดดินเป็นตัวแทนชาวมลายูปัตตานีในการเรียกร้องเอกราชจากรัฐบาลไทย 

ส่วนเบื้องหลังและเนื้อแท้ของข้อกล่าวหาจะมาจากสาเหตุไหน หะยีสุหลงได้บันทึกเอาไว้ชัดเจน ติดตามในซีรีส์บทความ 69 ปีหะยีสุหลง ตอนต่อไป... 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์